เพลง “ฟ้าลั่น”
ฮา-เอ้อ-เหอ…
ฟ้าลั่นเหอ.........ลั่นมาคึกคึก
ลั่นตื้นลั่นลึก.........ลั่นฟ้าลั่นขน
ลั่นนักอยู่ไม่ได้.........เดือนอ้ายมาแล้วแม่หน้ามล
ลั่นฟ้าลั่นขน.........ลั่นคนทำนาหล้าเหอ…
“ลั่น” คือ ร้อง
“พุงลั่น” ก็คือ ท้องร้อง
“ฟ้าลั่น” ก็คือ ฟ้าร้อง
“คึกคึก” มีความหมายเป็น ๒ นัย คือ
นัยหนึ่ง บอกเสียงของฟ้าร้อง หรือเสียงลมเสียงฝน ว่าเป็นเสียงดังเช่นนั้น
อีกนัยหนึ่งหมายถึง มาก เช่น คนมากันคึกคึก ก็คือ คนมากันมาก
“ลั่นตื้น” ก็คือ ร้องอยู่ใกล้ๆ
“ลั่นลึก” ก็คือ ร้องอยู่ไกลๆ
“ลั่นฟ้า” ก็คือ ฟ้าร้องอย่างเดียวโดยไม่มีฝนตกลงมา
“ลั่นขน” ก็คือ ฟ้าร้องแล้วมีฝนตกตามมา
“ขน” ในเสียงของคนใต้ นอกจากจะหมายถึง ขนข้าวขนของ และเส้นขนที่ขึ้นตามผิวหนังแล้ว คนใต้มักจะออกเสียง “ฝน” เป็น “ขน” ด้วย
ฝนที่ตกตามฤดูในภาคใต้ มีอยู่ ๒ ช่วงใหญ่ๆ คือ “ขนพลัด” กับ “ขนออก”
“ขนพลัด” เป็นฝนที่ตั้งเค้าก่อนจะตกมาจากทิศตะวันตก “ขนพลัด” จะตกในช่วงเดือนห้าเดือนหก
คำว่า “พลัด” เข้าใจว่าน่าจะเพี้ยนมาจากชื่อลม “พัทธยา”
ซึ่งเป็นลมที่พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในต้นฤดูฝน
“ขนออก” เป็นฝนที่ตั้งเค้ามาจากทิศตะวันออก “ขนออก” จะตกช่วงเดือนสิบเอ็ดสิบสอง
คำว่า “ออก” ก็คือ ทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทิศทางที่ฝนตั้งเค้าก่อนจะตกลงมานั่นเอง
“แม่หน้ามล” หมายถึง ผู้หญิง
คำว่า “หน้ามล” จะเขียน “มล” หรือ “มน” จึงจะถูก
ถ้ามองกันเพียงรูปคำ “แม่หน้ามล” ก็คงจะหมายถึง ผู้หญิงที่มีใบหน้าเศร้าหมอง สกปรก เต็มไปด้วยสิวฝ้า เป็นด่างเป็นดวง ดังนั้น ถ้าจะให้หมดสิวฝ้า เป็นผู้หญิงที่หน้าสวยนวลผ่อง หน้ากลมดังดวงจันทร์ หรือวงหน้ารูปไข่ จะเขียนว่า “แม่หน้ามน” ก็คงได้ แต่ถ้าจะมองว่า “หน้ามล” นั้น เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “นฤมล” ซึ่งแปลว่า ผู้หญิง ก็จะคงเขียนว่า “แม่หน้ามล” อย่างเดิมได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับสิวฝ้าแต่อย่างใด
“หล้า” คำนี้มีความหมายตามภาษาใต้อยู่ ๒ นัย คือ นัยหนึ่ง หมายถึง เมื่อยล้า ส่วนอีกนัยหนึ่งนั้น หมายถึง ล่าช้า ผิดฤดูกาล
ส่วนในภาษาถิ่นเหนือ และถิ่นอีสาน ยังมีความหมายว่า ล่าช้า สาย สุดท้าย ทำนองเดียวกับภาษาถิ่นใต้ คำที่มักจะคุ้นหูจากถิ่นเหนือถิ่นอีสาน ก็คือ “อีหล้า” “ไอ้หล้า” และ “ลูกหล้า” ซึ่งคำที่ใช้เรียกลูกคนสุดท้องสุดท้าย
“ทำนาหล้า” ก็คือ ทำนาผิดฤดู หรือทำนาล่าช้าปลายฤดูแล้ว
ฤดูกาลทำนาในภาคใต้แต่เดิมนั้น จะล่าช้ากว่าภาคอื่นๆ ประมาณ ๒-๓ เดือน เนื่องจากฤดูฝนล่าช้ากว่า ถ้าเป็นนาดำ ช่วงเดือนเจ็ดเดือนแปดก็จะลงมือตกกล้า พอถึงเดือนสิบเอ็ดสิบสอง ฝนลงได้น้ำ ก็จะได้เวลาถอนกล้ามาดำนา แล้วไปเก็บเกี่ยวอีกทีในช่วงเดือนสามเดือนสี่โน้น
ดังนั้น ถ้าถึง “เดือนอ้ายมาแล้ว” ยังไม่ได้ลงมือก็เห็นทีจะ “หล้า” เสียแล้วล่ะ “แม่หน้ามล”
สมัยเด็กๆ เรามักจะล้อคนที่มาถึงล่าช้าทีหลังเพื่อนๆ มาเมื่อคนอื่นทำอะไร หรือกินอะไรไปมากแล้วว่า “มาหล้ากินลูกหว้าแก”
“แก” ก็คือ ไม่สุก เช่น กล้วยแก หมายถึง กล้วยที่ยังไม่สุก
(คัดจากหนังสือ “สนทนาภาษาใต้ในเพลงร้องเรือ” ของ บุญเสริม แก้วพรหม สำนักพิมพ์บ้านนูกะนุ่น จัดพิมพ์จำหน่าย ๒๕๕๑)