xs
xsm
sm
md
lg

เพลงร้องเรือ..สัมผัสรักในสายเลือด / บุญเสริม แก้วพรหม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“เพลงร้องเรือ” ก็คือ “เพลงกล่อมเด็กภาคใต้” ซึ่งเป็นบทเพลงที่ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ หรือผู้เป็นพี่เลี้ยงน้องใช้ร้องขับกล่อมให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน และหลับไปในที่สุด

“เพลงกล่อมเด็ก” เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยการจดจำ และร้องต่อด้วยปากต่อปาก ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพลงกล่อมเด็กมีปรากฏแพร่หลายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ในภาคเหนือเรียกว่า “เพลงอื่อลูก” ในภาคอีสานเรียกว่า “เพลงนอนสาเด้อ” เป็นต้น สำหรับในภาคใต้นั้น จะเรียกเพลงกล่อมเด็กว่า “เพลงร้องเรือ” บ้าง หรือ “เพลงชาน้อง” บ้าง หรือ “เพลงน้องนอน” บ้าง

ทำไมจึงเรียกว่า “เพลงร้องเรือ”


ท่านผู้รู้อธิบายที่มาว่า เนื่องจากในท้องถิ่นภาคใต้นั้น ชาวบ้านมักนิยมใช้ผ้าผืนยาวๆ ซึ่งอาจจะเป็นผ้าขาวม้า หรือผ้านุ่ง มาผูกหัวท้ายโยงระหว่างเสา หรือคร่าวเป็นเปล สำหรับให้เด็กนอน รูปร่างของผ้าที่ผูกเป็นเปลให้เด็กนอนนี้หัวแหลมท้ายแหลม ลักษณะคล้ายเรือ เวลาไกวเปลก็ดูเหมือนเรือเคลื่อนที่โต้คลื่นไปมา จึงเรียกเพลงที่ร้องกล่อมเด็กขณะที่ไกวเปลอยู่ว่า “เพลงร้องเรือ”

ทำไมจึงเรียกว่า “เพลงชาน้อง” 

“ชา” ในภาษาใต้ ก็คือ “ช้า” ในภาษากลาง ซึ่งหมายถึง การขับ, กล่อม


นอกจากพ่อ-แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย จะต้องเลี้ยงดูลูกหลานแ ละเอาใส่เปลกล่อมให้หลับแล้ว เมื่อพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่อยู่บ้าน หรือออกไปทำงาน ภาระในการเลี้ยงดูน้องเล็กๆ จึงอยู่ที่พี่ อาจจะเป็นพี่ชาย หรือพี่สาวก็ได้ เมื่อพี่ชาย หรือพี่สาวขับกล่อมให้น้องนอนด้วยเพลงกล่อมเด็ก จึงเรียกว่า “เพลงชาน้อง” อีกคำหนึ่ง

และที่เรียกว่า “เพลงน้องนอน” ก็ตรงตามลักษณะการใช้ว่า ใช้เพื่อกล่อมให้น้องนอนหลับนั่นเอง

ร้อง “เพลงร้องเรือ” เพื่ออะไร


จุดประสงค์หลักในการร้องเพลงร้องเรือ ก็เพื่อกล่อมให้เด็กหลับสบาย มีความรู้สึกอบอุ่นทั้งกายและใจ ส่วนจุดประสงค์รองในการร้องเพลงร้องเรือนั้น เพื่อใช้อบรมสั่งสอน หรือเตือนสติผู้ฟังให้ความรู้ ความเพลิดเพลินแก่ผู้ฟัง รวมทั้งเล่าระบายความรู้สึกนึกคิดของผู้ร้องเองด้วย

“เพลงร้องเรือ” มีลักษณะอย่างไร 

ฉันทลักษณ์เฉพาะของเพลงร้องเรือนั้น จะขึ้นต้นเพลงด้วยสร้อยคำว่า “ฮา..เอ้อ..เหอ..” และลงท้ายจบเพลงด้วยคำว่า “เหอ..” การขึ้นต้น และลงท้ายดังกล่าวจะเอื้อนเสียงหรือลากเสียงยาวกว่าปกติ

เพลงร้องเรือเพลงหนึ่งๆ จะมีตั้งแต่ ๔ วรรค จนถึง ๑๒ วรรค แต่โดยทั่วไปจะมี ๘ วรรค จำนวนคำในแต่ละวรรคมีไม่แน่นอน อาจจะมีตั้งแต่ ๔ คำ จนถึง ๑๐ คำ 

จุดเด่นของเพลงร้องเรือที่มี ๘ วรรค ส่วนใหญ่นั้นพบว่า ความในวรรคที่ ๔ จะนำไปร้องซ้ำอีกครั้งในวรรคที่ ๗

-- ดังตัวอย่าง -
 
ฮา..เอ้อ..เหอ..เมืองคอน เหอ
แต่ก่อนเขาเล่ามา
พระศรีธรรมโศกราชมีวาสนา
ก่อพระธาตุยอดทองคำ
มีมหาชนมาบูชา
ผู้คนมานับถืออุปถัมภ์
ก่อพระธาตุยอดทองคำ
เช้าค่ำคนมาไหว้..เหอ..

เนื้อหาของ “เพลงร้องเรือ” เป็นอย่างไร

เพลงร้องเรือมีเนื้อหากล่าวถึงเรื่องต่างๆ อย่างหลากหลาย แต่ที่พบโดยทั่วไป มีเนื้อหา ดังนี้

๑.พรรณนาความรัก ความห่วงใยที่พ่อแม่มีต่อลูก หรือปู่ย่าตายายมีต่อหลาน หรือพี่มีต่อน้อง
๒. เนื้อหาที่ขู่ให้เด็กกลัวเกรง หรือปลอบขวัญให้เด็กหายกลัว 
๓. เนื้อหาที่สะท้อนสภาพของสังคม ทั้งด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และค่านิยมความเชื่อต่างๆ
๔. เนื้อหาที่กล่าวถึงการศึกษา ศาสนา ศีลธรรม ประเพณีวัฒนธรรม
๕. เนื้อหาที่บอกเล่าถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๖. เนื้อหาที่เชื่อมโยงเอาวรรณคดี หรือนิทานพื้นบ้านมาบอกเล่า
๗. เนื้อหาที่เล่าระบายอารมณ์และความรู้สึกรัก ชอบ เกลียดชัง ผิดหวัง โศกเศร้า และ ตลกขบขัน เป็นต้น

“เพลงร้องเรือ” มีคุณค่าอย่างไร

นอกจาก “เพลงร้องเรือ” จะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยแล้ว ยังเป็นบทเพลงที่มีคุณค่าแก่ผู้ฟัง ทั้งทางด้านการสร้างอารมณ์ และความรู้สึกที่ดี ทำให้ผู้ฟังได้รู้จักและเข้าใจสภาพสังคม หรือวิถีชีวิตในแง่มุมต่างๆ ได้ดี ทำให้เกิดสติปัญญา ความรอบรู้อย่างกว้างขวาง ช่วยสร้างเสริมคุณธรรม เช่น ความกตัญญูกตเวที ความรัก ความเมตตา ความมีระเบียบวินัย เคารพกติกาของสังคม รักความเป็นธรรม รู้จักละเว้นกรรมชั่วประพฤติแต่กรรมดี เป็นต้น รวมทั้งมีคุณค่าด้านความไพเราะงดงามของภาษา และส่งเสริมการพัฒนาทักษะทางภาษาแก่ผู้ฟังและผู้ร้องอย่างดี ควรค่าแก่การร่วมกันสืบทอดและอนุรักษ์ไว้สืบไป

เมื่อ “เพลงร้องเรือ” หรือ “เพลงชาน้อง” หรือ “เพลงน้องนอน” เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่ร้องสืบต่อกันมาในท้องถิ่นภาคใต้ จึงเป็นการขับร้องด้วยสำเนียงใต้และท่วงทำนองของภาคใต้โดยเฉพาะ ส่วนภาษานั้นมีทั้งคำที่ใช้ร่วมกันทั้งคนภาคใต้ ภาคกลาง และคำที่ใช้เฉพาะในภาษาถิ่นใต้ เป็นต้น

 
--------------------
(คัดจากส่วนนำในหนังสือ “สนทนาภาษาใต้ในเพลงร้องเรือ” ของ บุญเสริม แก้วพรหม สำนักพิมพ์บ้านนูกะนุ่นจัดพิมพ์ ๒๕๕๑)
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น