xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหารากเหง้ากระบวนการมีส่วนร่วมที่ต้องปฏิรูป ปฏิวัติ? เสียงและถ้อยคำประกาศขบถ “EIA-EHIA ไทย” จากภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...ปรัชญเกียรติ  ว่าโร๊ะ 
 
กระบวนการมีส่วนร่วมที่ต้องปฏิรูป ปฏิวัติ ปัญหารากเหง้านานา บิดเบือนข้อมูลจริง ขโมยชื่อชาวบ้าน จัดเวทีนอกสถานที่ตั้งโครงการ ชักจูงผู้นำสนับสนุน ปิดกลุ่มต้าน มวลชนสัมพันธ์และสังคมสงเคราะห์  ไม่ตรวจสอบข้อมูล ธงผิดยังไงก็ต้องผ่าน เสียงและถ้อยคำประกาศขบถ EIA-EHIA ไทยจากภาคใต้
 
วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2556  ณ ลานสาธารณะจุดชมทิวทัศน์บ้านปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ผู้คนจากจังหวัดสตูล สงขลา ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร ประมาณ 300 คน ร่วมรับฟังการเสวนา “บทเรียนจากการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) ในภาคใต้” ที่จัดโดยเครือข่ายประชาชนภาคใต้
 

 
คนใต้ประกาศขบถ EIA-EHIA ไทย
 
“พวกเราทั้งหลายได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เราพบว่าแท้จริงแล้วระบบ EIA ประเทศไทย เป็นเพียงกระบวนการฉ้อฉล หลอกลวงเท่านั้น แทบไม่มีที่ไหนทำ EIA แล้วไม่ผ่าน ทำผิดขั้นตอนก็ผ่าน เวทีล่มทุกครั้งก็ผ่าน คนพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมก็ผ่าน ไม่เคยรับรู้เลยก็ผ่าน ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงก็ผ่าน ชาวบ้านยกมือไม่เห็นด้วยท่วมท้นก็ผ่าน..
 
..เราสรุปได้ว่า EIA ประเทศไทย ผิดอย่างไรก็ผ่าน และสิ่งที่สำคัญที่สุด กระบวนการ EIA ได้ทำให้สิทธิในการร่วมกำหนดการพัฒนาของประชาชนหายไปตลอดกาล เราต่างรู้ว่า การพัฒนาใดๆ ก็ตามต้องค้นหาศักยภาพของตน เปิดให้ประชาชนร่วมวางแผนการพัฒนา ออกแบบโครงการ สอบถามความยินยอมจากชุมชน แล้วจึงค่อยศึกษาว่าโครงการนั้นๆ มีผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพอย่างไร?”
 
นายสถิรพงศ์ สุรินทร์วรางกูร ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี อ่านนำคำประกาศของเครือข่ายประชาชนภาคใต้ ในเวลาบ่ายสามโมงครึ่ง
 
แถวยาวข้างหลังของนายสถิรพงศ์ คือ ตัวแทนเครือข่ายพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ที่ร่วมแสดงเจตนารมณ์เชิงปฏิเสธกระบวนการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของประเทศไทย
 

 
สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐของเครือข่ายประชาชนภาคใต้ คือ 1.รัฐ หรือเอกชนใดๆ จะต้องยุติการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในทุกโครงการ 2.รัฐต้องทบทวนและแก้ไขข้อผิดพลาดของกระบวนการจัดทำ EIA-EHIA รวมทั้งจัดให้อยู่ถูกที่ถูกเวลา ตามที่ควรจะเป็น 3.หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ถือว่ารัฐไม่รับฟังเสียงของประชาชน และไม่ยอมรับกระบวนการศึกษาใดๆ ที่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่เครือข่ายประชาชนภาคใต้โดยเด็ดขาด
 
4.กระบวนการอนุมัติ อนุญาตโครงการต่างๆ การทำ EIA ของประเทศไทยผิดก็ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดังนั้น จึงถือว่าบุคคล หน่วยงานอนุมัติ อนุญาตอาจมีฐานความผิดร่วมกันหลอกลวงประชาชน และใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ จึงให้ประชาชนร่วมกันติดตามตรวจสอบ บุคคล หน่วยงานอย่างใกล้ชิด
 

 
ต้นเหตุของการประกาศขบถ
 
จินดา จิตตะนัง
 
นางจินดา จิตตะนัง ผู้ประสานงานสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา  ตัวแทนพื้นที่ปัญหากรณีท่าเรือเชฟรอน ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าให้ฟังถึงการเข้ามาของโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานในอ่าวไทย ของบริษัทเชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (ท่าเรือเชฟรอน) ในปี 2549 เพื่อทำ EHIA ครั้งหนึ่งจัดที่องค์การบริหารส่วนตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา สิ่งที่พบคือ มีการจัดเตรียมที่นั่งระบุหมายเลข มีชื่อ นามสกุล กำกับเก้าอี้ไว้ หลังเวทีเสร็จมีการจ่ายเงินให้คนละ 500 บาท ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการไม่มีสิทธิร่วมในเวที หลังจากนั้น เวทีรับฟังทำ EHIA ท่าเรือเชฟรอน ถูกจัดนอกพื้นที่ก่อสร้างที่อำเภอขนอม และอำเภออื่นๆ
 
“ใน EHIA ท่าเรือเชฟรอน ระบุว่า อ่าวท่าศาลามีเรือแค่ 9 ลำ อ่าวท่าศาลาเป็นทะเลร้าง ต่อมา ชาวบ้านลุกขึ้นมาศึกษาผลกระทบสุขภาพชุมชน (CHIA) ขึ้น พบว่ามีเรือ 2 พันกว่าลำ ขัดกับการที่ชาวประมงพื้นบ้านจับทรัพยากรสัตว์น้ำได้จำนวนมาก ทั้งการศึกษา EHIA นั้น กำหนดรัศมีจากที่ตั้งโครงการเพียง 5 กิโลเมตร โดยไม่คำนึงถึงว่าหากมีผลกระทบต่อทะเล เป็นผลกระทบสาธารณะ”
 
นางจินดา ติงข้อมูลใน EHIA ท่าเรือเชฟรอน ที่ขัดแย้งกับกระบวนการศึกษา CHIA ของชุมชน และตำหนิกระบวนการให้ความรู้แก่ชาวบ้านเกี่ยวกับท่าเรือเชฟรอนน้อยมาก เน้นแต่การสงเคราะห์ผ่านองค์กร กลุ่ม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มัสยิด ซึ่งเป็นวิธีการทำมวลชนสัมพันธ์โครงการของเชฟรอน
 
“มีคนบริการรับสูบส้วมตามบ้านเรือนของชาวบ้านโดยขอสำเนาบัตรประชาชนด้วย” นางจินดา ถ่ายทอดกระบวนการที่เหลือเชื่อที่คนท่าศาลาได้ประสบ 
 
เอกชัย อิสระทะ
 
นายเอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา บอกถึงข้อมูลใน EIA เขาคูหา ที่ขโมยรายชื่อการประชุมโครงการผักสวนครัวรั้วกินได้ ของหมู่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลเขาคูหาใต้ และนำรายชื่อการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคูหาใต้ ในปี 2549 แนบไปใน EIA ส่งไปยัง สผ. พิจารณา และใช้ EIA ฉบับนั้น และขอใบอนุญาตทำเหมืองหินจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาเมื่อปี 2550
 
“ใน EIA เขาคูหา ระบุว่า มีบ้าน 11 หลัง ที่ได้รับผลกระทบแตกร้าวจากเหมืองหิน ต่อมาอำเภอรัตภูมิ รับเรื่องร้องเรียนผลกระทบพบว่าบ้านเรือนแตกร้าวถึง 326 หลัง ส่วนบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านฝุ่นจากการทำเหมืองหินใน EIA ระบุเพียง 13 หลัง แต่ในความเป็นจริงฝุ่นส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน 5 หมู่บ้าน ในตำบลเขาคูหาใต้”
 
เป็นข้อมูลที่นายเอกชัย จับเท็จได้จาก EIA เขาคูหา และกำลังอยู่ในกระบวนการร้องตรวจสอบของ สผ. จากการที่เครือข่ายฯ ได้ทำหนังสือถึง สผ.ให้ยกเลิก EIA เขาคูหา 
 
จันทิมา  ชัยบุตรดี
 
นางจันทิมา ชัยบุตรดี หนึ่งในแกนนำชาวบ้าน อดีตเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ-โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันได้วิวัฒนาการเป็นเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา ที่กำลังคัดค้านท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 สะท้อนถึงข้อมูลใน EIA โรงแยก-ท่อก๊าซที่ระบุว่า ทะเลสะกอมเป็นทะเลร้าง มีปลาแค่ 2 ชนิด ทว่า จากการศึกษา CHIA ชุมชน พบว่ามีโลมา และสัตว์น้ำนานาชนิดจำนวนมาก
 
“ตอนแรกบอกเราว่าไม่มีโครงการอะไรต่อเนื่องจากโครงการท่อก๊าซ แต่ต่อมาเกิดโรงแยกก๊าซ โรงไฟฟ้า 2 โรง ตอนนี้จะสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 แล้วสร้างทางรถไฟเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกปากบาราอีก และคาดว่านิคมอุตสาหกรรมจะตามมา” นางจันทิมาเท้าความหลังที่เจอ และกังวลสิ่งที่จะเผชิญในอนาคต
 
นางจันทิมา บอกถึงสิ่งที่เป็นบาดแผลฝังใจคนจะนะเป็นอย่างมาก คือ ถนน 4 สายในโรงแยกก๊าซเป็นที่ดินวากัฟ (ที่ดินที่ชาวบ้านอุทิศเพื่อพระเจ้าให้เป็นสมบัติสาธารณะ) ถูกฮุบเข้าไปในโรงแยกก๊าซ จึงไม่น่าแปลกที่ชาวบ้านจากจะนะใส่เสื้อสีขาว สกรีนข้างหลังด้วยสีแดงว่า ‘EIA เป็นพาหะสู่สิ่งฮารอม’ (สิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลาม)
 
“เราได้ละหมาดฮายัตให้พระเจ้าลงโทษกับคนรับรองว่าที่ดินตรงนั้นสามารถสร้างโรงแยกก้าซได้ และลงโทษผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างโรงแยกก๊าซได้ทุกคน ดู อาศิส พิทักษ์คุมพลจุฬาราชมนตรีซิ เดินไม่ได้แล้ว” นางจันทิมาบอกเล่าถึงความเจ็บปวดฝังใจ และคิดว่าพระเจ้ากำลังลงโทษผู้ที่ยกที่ดินวากัฟให้สร้างโรงแยกก๊าซได้
 
ศุภวรรณ ชนะสงคราม
 
น.ส.ศุภวรรณ ชนะสงคราม ประธานกรรมการกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ หนึ่งในอดีตแกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย เห็นว่า EIA เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมเพื่อดำเนินโครงการ โดยยกกรณีศึกษา คือ EIA โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่แก้ไขถึง 4 ครั้ง จึงผ่าน ส่วน EIA โครงการโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย มีการแก้ไขถึง 6 ครั้ง กว่าจะผ่าน
 
“หม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ในขณะนั้น มองว่าถ้าแก้แล้วผ่านก็ไม่สามารถตอบโจทย์ความเป็นจริงได้  หม่อมหลวงวัลย์วิภา จึงไม่ให้ EIA ผ่าน ทว่า เมื่อ EIA ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก คชก. แต่ สผ.แจ้งไปยังบริษัท ทรานส์ไทยมาเลเซีย จำกัด ว่า EIA ผ่านแล้ว โดยนายวสันต์ พานิช ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้ว่า สผ.ผิดในฐานเป็นความผิดการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ”
 
น.ส.ศุภวรรณ บอกถึงปัญหาของ EIA โครงการท่อก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่คาราคาซังมาถึงปัจจุบัน ทั้งที่โครงการถูกสร้างขึ้นกว่า 10 ปีแล้ว
 
ศักดิ์กมล แสงดารา
 
นายศักดิ์กมล แสงดารา เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของมูลนิธิอันดามัน จากกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง และกระบี่ ถ่ายทอดจากประสบการณ์ถึงการลงพื้นที่ตรังและกระบี่ โดยพบว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังอยู่ในกระบวนการทำ EHIA ขณะที่ท่าเรือขนส่งถ่านหินกำลังทำ EHA ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินตรังนั้น ยังไม่รู้แน่ชัดว่าได้เข้าสู่กระบวนการทำ IEE แล้วหรือไม่
 
“การที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง และกระบี่นั้นมีความเชื่อมโยงกันคือ เส้นทางเดินเรือบรรทุกถ่านหินจากอินโดนีเซีย ผ่านเกาะลันตา เกาะปอ จังหวัดกระบี่ ไปสู่ท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง”
 
นายศักดิ์กมล เชื่อมโยงให้เห็นภาพระหว่างโรงไฟฟ้าตรัง โรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง และเส้นทางเดินเรือที่สัมพันธ์กัน พร้อมบอกถึงกระบวนการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เน้นนำส่วนราชการ นักธุรกิจ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ไปดูโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ทั้งคนกระบี่หลายส่วนที่ไม่รู้ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีหลายคนมากที่ไม่รู้ว่าเรือบรรทุกถ่านหินจะผ่าน และจอดหน้าเกาะต่างๆ ที่เขาอาศัย
 
นายศักดิ์กมล สะท้อนบทเรียนหนึ่งที่ชาวอูรักลาโว้ยประสบในปัจจุบันคือ เรือขนาดใหญ่บรรทุกซีเมนต์ ถ่ายลำเลียงลงเรือเล็กที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ชาวอุรักลาโว้ยบอกนายศักดิ์กมล ว่า เป็นสาเหตุทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำหายไปมาก ทำให้อุรักลาโว้ยต่างพากันขายเรือประมงไปทำงานรับจ้างบนฝั่ง
 
“เวทีสุดท้ายในการรับฟังทำ EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และ  EIA ท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน จะถูกจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2556 โดยจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะมาร่วมเวทีด้วย สำหรับ 2 เวทีที่ผ่านมา มีการเชิญแต่ผู้นำซึ่งอยู่นอกพื้นที่สถานที่ก่อสร้าง และนอกเส้นทางเดินเรือร่วม” นายศักดิ์กมล บอกถึงสถานการณ์ล่าสุดของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
 
พิสุทธิ์ แดงตี
 
นายพิสุทธิ์ แดงตี แกนนำชาวบ้านในการคัดค้านอ่างเก็บน้ำคลองช้าง (เขื่อนทุ่งนุ้ย) ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เล่าถึงแรกเริ่มเดิมทีที่กรมชลประทานอ้างว่าเขื่อนทุ่งนุ้ยเป็นโครงการในพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมา ชาวบ้านได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักพระราชวัง โดยได้คำตอบมาว่าไม่ได้เป็นโครงการในพระราชดำริ
 
โดยก่อนหน้านั้น นายไซนาฮัมซ๊ะ แสงนวล ผู้ใหญ่บ้านทุ่งนุ้ย และประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งนุ้ย ได้ทำหนังสือถึงสำนักพระราชวังขอพระราชทานเขื่อนทุ่งนุ้ย โดยมีลายมือชื่อของชาวบ้านแนบไปด้วย ต่อมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ตรวจสอบพบว่า รายชื่อที่แนบขอพระราชทานเขื่อนนั้นเป็นการปลอมลายมือชื่อเกือบทั้งหมด
 
“5 เวทีที่กรมชลประทานจัดเวที ชาวบ้านยึด และล้มเวทีทั้งหมด ล่าสุด เวทีนำเสนอร่าง EIA เขื่อนทุ่งนุ้ยที่ชาวบ้านยึดเวที และนายพิศาล ทองเลิศ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ให้ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานจังหวัดสตูลชะลอ EIA ไว้ก่อน แต่ปรากฏว่า EIA กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของ สผ.” นายพิสุทธิ์ บอกเล่าถึงกระบวนการต่อสู้ของคนทุ่งนุ้ย
 
อานนท์ วาทยานนท์
 
นายอานนท์ วาทยานนท์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี  กรณีขุดเจาะน้ำมันริมเกาะสมุย พะงัน เต่า แสดงความเห็นสรุปถึงปัญหาของกระบวนการทำ EIA ขุดเจาะน้ำมันมีปัญหาคือ
 
1.บริษัทเจ้าของโครงการมีความสัมพันธ์พิเศษกับบริษัทรับทำ EIA 2.การจัดเวทีรับฟังทำ EIA มักเชิญหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ และผู้นำท้องถิ่น โดยไม่เคยเชิญผู้มีอาจมีผลกระทบจากเกาะสมุย 3.การจัดเวทีรับฟังทำ EIA ไปจัดในตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช ระยอง ทั้งๆ ที่พื้นที่ขุดเจาะอยู่ริมเกาะสมุย 4.เวทีรับฟังทำ EIA ที่จัดที่เกาะสมุยนั้น ใน EIA ไม่ได้มีบันทึกข้อมูลตามที่ชาวบ้านสะท้อนปัญหา ความกังวล รวมถึงกระบวนการคัดค้านล้มเวทีก็ไม่ได้ระบุไว้
 

 
สตูลลั่นฟ้อง ‘กรมเจ้าท่า-บริษัท-สผ.’
 
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
 
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล บอกว่า เครือข่ายฯ เตรียมยื่นฟ้องกรมเจ้าท่า และบริษัทรับทำ EIA ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่นำข้อมูลผิดๆ บิดเบือนข้อเท็จจริง ส่งให้ สผ.พิจารณา
 
“ทั้งเรายังฟ้อง สผ. ในฐานะเป็นผู้เห็บชอบผ่าน EIA ท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลความจริงแต่อย่างใด”
 
นายวิโชคศักดิ์ ลั่นคำพูดในการบันทึกเทปรายการเวทีสาธารณะของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในเวลา 4 โมงเย็นกว่าๆ
 

 
ปัญหารากเหง้าของกระบวนการมีส่วนร่วม
 
สัญชัย สูติพันธ์วิหาร (ที่มาภาพเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
 
ดร.สัญชัย สูติพันธ์วิหาร อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  หนึ่งในคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) สรุปถึงปัญหารากเหง้าของกระบวนการมีส่วนร่วมทำ EIA ของประเทศไทยว่า เป็นแค่เป็นกระบวนการเพื่ออนุมัติโครงการ โดยมีธงคำตอบอยู่แล้วว่าต้องทำให้ผ่าน
 
ดร.สัญชัย เห็นปัญหาด้านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประเทศไทย คือ ชาวบ้านไม่ยอมรับ EIA โครงการนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้ง การคัดค้านโครงการทั้งในหลายพื้นที่ที่อนุมัติโครงการหนึ่งแล้ว ตามมาด้วยโครงการที่ 2, 3, 4, 5
 
ดร.สัญชัย คิดว่า ควรพิจารณาตั้งแต่ทิศทางการพัฒนาในระดับภาพรวมของพื้นที่ว่ามีศักยภาพด้านไหน อย่างไร ก่อนตัดสินใจเดินหน้าโครงการ ยกตัวอย่างเช่น ตัวเลขมูลค่าการจับสัตว์น้ำทะเลของจังหวัดสตูล มากถึง 2 ล้านล้านบาท ดังนั้น ทางเลือกต้องมีมากกว่าทางเลือกเดียว เลือกไปพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การประมง ดีกว่าการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมหรือไม่ อย่างไร มากกว่าเรื่องท่าเรือปากบารา ควรมีการศึกษาศักยภาพพื้นที่ก่อน แล้ววางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่
 
“ก่อนทำ EIA ต้องบอกคนในพื้นที่ก่อนว่าจะมีโรงงานตามมามากน้อยเพียงใด ถ้าโครงการเข้ามาแบบไม่สิ้นสุด ถ้ามีโรงงานมากจนน้ำไม่พออาจต้องสร้างเขื่อนหรือไม่ ถ้ากระแสไฟฟ้าไม่พอต้องสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาหรือเปล่า”
 
ดร.สัญชัย อยากให้รัฐ หรือเอกชนเจ้าของโครงการแบข้อมูลทั้งหมดให้คนในพื้นที่รับรู้ และร่วมกันพิจารณาก่อนลงมือทำ EIA และย้ำว่าต้องศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ก่อนการทำ EIAโครงการ เพื่อศึกษาศักยภาพของพื้นที่ว่าเหมาะเรื่องใด เรื่องใดไม่เหมาะไม่ควรนำเข้ามาสู่พื้นที่              
 
“ปัญหาปัจจุบันเกิดจากการนำแผนมาปฏิบัติ สมมติว่า อุทยานแห่งหนึ่งมีแหล่งต้นน้ำ ถ้าต้องสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่อีกมุมหนึ่งอุทยานเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันน้ำท่วม  ถ้าเก็บป่าไว้ทำให้น้ำไม่ท่วมพื้นที่ด้านล่าง ทางเลือกอื่นมากกว่าสร้างเขื่อนมีหรือไม่ นโยบายของรัฐบอกว่าจะเป็นครัวโลก แต่จะสร้างท่าเรือ มันเป็นนโยบายที่ขัดแย้งกันเอง นโยบายหนึ่งต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นโยบายหนึ่งต้องการพัฒนา ซึ่งสวนทางกัน และนำไปสู่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน” ดร.สัญชัย บอกถึงความขัดแย้งในตัวนโยบายรัฐเองที่สวนทางกัน
 

 
วิวัฒนาการปฏิรูป EIA-EHIA ไทย 
 
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
 
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคม  อดีตโฆษกคณะกรรมการแก้ปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง รัฐธรรมนูญปี 2550  บอกถึงกระบวนการ  EIA ที่มีปัญหาอย่างมาก ที่ผ่านมาทำได้เพียงการแก้ไขแบบอุดรอยรั่ว ปะผุกระบวนการเท่านั้น ดังนั้น ต้องปฏิรูปกระบวนการ  EIA  ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของประเทศไทย
 
“หน่วยงานภาครัฐรู้สึกอึดอัด สผ.ก็รู้ปัญหา พยายามปฏิรูปเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ เพราะฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากกระบวนการทำ EIA ในปัจจุบันต่อต้านอย่างมาก”
 
ดร.บัณฑูร บอกถึงความรู้สึกของฝ่ายที่พยายามปรับเปลี่ยน และเล่าถึงวิวัฒนาการตั้งแต่ปี 2550 สภาร่างรัฐธรรมนูญเห็นปัญหาจึงผลักดันมาตรา 67 ออกมา  จากนั้นปี 2552 สามารถผลักดันให้มีการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ได้ ต่อมาปี 2553 มีการตั้งกรรมการ 4 ฝ่าย เพิ่มเรื่องทำบัญชีรายชื่อโครงการ 11 ประเภทขึ้น ล่าสุด ปี 2555 มีการผลักดันเข้าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เรื่องการรื้อโครงสร้าง และระบบ EIA ซึ่งมี สผ. กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้ามาร่วม แต่ยังไม่ปรากฏผลลัพธ์
 

 
โจทย์ใหญ่ปฏิวัติ EIA-EHIA ไทย
 
“หากปฏิรูป หรือปฏิวัติกระบวนการทำ EIA โครงการหนึ่งอาจใช้เวลาแค่เพียง 2 ปี ซึ่งตอบโจทย์ต่อการพัฒนาของประเทศโดยรวม สามารถลดความขัดแย้ง ลดความทุกข์ของคนในพื้นที่จากการถูกแย่งชิงทรัพยากร สามารถทำให้ชาวบ้านยอมรับ การพัฒนาก็สามารถพัฒนาไปได้”
 
ดร.บัณฑูร มองเห็นผลดีต่อการพัฒนาของประเทศไทยหากมีการปฏิรูป หรือปฏิวัติกระบวนการทำ EIA ขณะเดียวกัน ก็สร้างการพัฒนาที่เป็นธรรมขึ้น พัฒนาแบบยั่งยืนเป็นมิตรต่อชาวบ้าน ลดความขัดแย้งกับชุมชนที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากัน เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตได้ อาจไม่ได้เติบโตแบบพุ่งพรวด แต่ค่อยเป็นค่อยไปควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งชุมชนก็ยังอยู่ได้
 
ดร.บัณฑูร ยกกรณีท่าเรือเชฟรอนที่มีปัญหาคือ เจ้าของโครงการประกาศยุติโครงการ แต่ สผ.ยังส่ง EHIA ให้กรมเจ้าท่า ดร.บัณฑูร เห็นสมควรว่าต้องกำหนดกติกาใหม่ว่าถ้าเจ้าของโครงการประกาศยุติโครงการต่อสาธารณะ ส่งผลผูกพันให้ EHIA ต้องยุติไปโดยอนุมัติ ไม่ต้องยื่นหนังสือบอก สผ.ว่ายุติโครงการ ทำให้ สผ.ยุติกระบวนการพิจารณา EIA ไปเลย
 
“ปัจจุบันนี้ สผ.บอกว่าจำเป็นต้องส่ง EHIA ให้กรมเจ้าท่า เพราะเจ้าของโครงการไม่ได้ทำหนังสือขอยกเลิก EHIA จึงต้องดำเนินการต่อตามกฎหมาย ถ้าวันหนึ่งเจ้าของโครงการฟ้อง สผ.ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ สผ.จึงจำเป็นต้องดำเนินตามกระบวนการต่อจนกว่าเจ้าของโครงการจะทำหนังสือแจ้งขอยกเลิก EHIA”
 

 
ดร.บัณฑูร เข้าใจ สผ.ที่ต้องทำตามกระบวนการ แล้วอธิบายเชื่อมโยงหากบริษัทเชฟรอน กรณี EHIA ที่ผ่านความเห็นชอบแล้วจาก สผ. แต่ไม่เดินหน้าโครงการ เกิดจากต่อต้าน แล้วค่อยรอจังหวะเดินหน้าโครงการในอีก 10 ปี ที่กระแสการต้านอ่อนลง โดยเอา EHIA ฉบับเก่ามาขออนุญาตก่อสร้าง เพราะ EIA EHIA ของไทย ไม่ได้กำหนดวันเวลาหมดอายุการใช้งานแต่อย่างใด แม้สภาพแวดล้อม สภาพสังคมเปลี่ยนไปแค่ไหน
 
“ข้อเสนอให้กำหนดอายุ EIA แค่ 3 ปี จากปัจจุบันที่ไม่ได้กำหนดอายุของ EIA เจ้าของโครงการสามารถนำมาปัดฝุ่นเดินหน้าก่อสร้างเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้น ภายใน 3 ปีไม่ก่อสร้างโครงการ ถ้าตัดสินใจเดินหน้าโครงการอีกต้องทำ EIA ใหม่ โดยข้อมูลจะต้องเป็นปัจจุบันไม่ใช่เอาข้อมูลเก่ามาพิจารณาสร้าง”
 
ดร.บัณฑูร แนะทางออกของปัญหาการนำ EIA เก่ามาปัดฝุ่นสร้างโครงการ ดร.บัณฑูร อธิบายถึงปัญหาในกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำ EIA ต้องมีเปิดกว้างให้ชุมชนเข้ามาร่วมศึกษา EIA หรือเจ้าของโครงการอาจทุ่มงบประมาณจำนวนหนึ่งให้ชาวบ้านศึกษาในรูปแบบของ EIA ชุมชน
 
ดร.บัณฑูร ให้ความสำคัญกับการกำหนดผลลัพธ์ของเวทีจัดทำ EIA คือ ต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอต่อเนื้อหาโครงการ โดยไม่กำหนดว่ากี่คน กี่ชั่วโมง แต่กำหนดคุณภาพของการจัดเวที EIA เน้นว่าเนื้อหาของการแสดงความคิดเห็นนำไปสู่กระบวนการพิจารณาตัดสินใจแค่ไหน มีการทำรายงานสรุปผลการรับฟังการจัดเวที EIA  และรายงานสรุปผลการรับฟังการจัดเวที EIA  นำไปสู่การสรุปตัดสินใจ ถ้าชาวบ้านไม่เห็นด้วย บริษัทจะเอาเหตุผลอะไรหักล้างการไม่เห็นด้วยของชาวบ้าน
 
 
ในส่วนกระบวนการบิดเบือนข้อมูลของ EIA นั้น มีฐานความผิดแค่ให้ข้อมูลเท็จกับทางราชการ ซึ่งเป็นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา เท่านั้น ดร.บัณฑูร บอกว่า ต้องไปเพิ่มโทษในกฎหมายสิ่งแวดล้อม ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมเข้มงวดมากยิ่งขึ้น
 
สำหรับบริษัททำ EIA ที่เอาข้อมูลมือ 2 จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)  สำนักงานท่องเที่ยวจังหวัด ประมงจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัด โรงพยาบลตำบล โรงพยาบาลอำเภอ ฯลฯ ในแง่วิชาการแล้วไม่อาจยอมรับได้ที่บริษัทไม่ได้ศึกษาเก็บข้อมูลอะไรใหม่เลย เอาข้อมูลมือ 2 ล้วนๆ ไม่ได้ลงทุนทำอะไร แค่เอาข้อมูลเก่ามาเย็บเล่ม แน่นอนว่าไม่ควรผ่านการเห็นชอบ
 
“ต้องมีมาตรการ กติกาข้อบังคับในคณะกรรมการชำนาญการสิ่งแวดล้อม (คชก.) ให้ คชก.มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งอาจต้องปรับปรุงองค์ประกอบ คชก. ด้วย โดยให้มีตัวแทนของนักวิชาการที่ชาวบ้านในชุมชนไว้วางใจ เป็นหนึ่งใน คชก.” ดร.บัณฑูร เสนอทางออกในการบิดเบือนข้อมูล และเอาข้อมูลมือ 2 มาเย็บเล่ม EIA
 
ส่วนปัญหาในเชิงโครงสร้างในกรณีการแก้ EIA ท่อก๊าซถึง 4 ครั้ง โรงแยกก๊าซแก้ถึง 6ครั้งนั้น ดร.บัณฑูร บอกว่าหากแก้ EIA ซ้ำซากเพื่อให้ผ่านความเห็นชอบจา กสผ.นั้น ต้องกำหนดให้ คชก.มีอำนาจตัดสินใจว่าถ้า EIA ไม่ผ่าน ไม่สามารถแก้ปัญหาในทางปฏิบัติได้จริง สามารถนำไปสู่กระบวนการยุติโครงการโดยอัตโนมัติ
 
“โครงการที่ชุมชนบอกว่าเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ต่อมาไปกำหนดมาตรการลดผลกระทบ ทว่า ไม่สามารถลดผลกระทบได้จริงตามที่สังคมเห็น สังคมมีข้อเสนอให้ยุติโครงการ สามารถยุติโครงการได้เช่นกัน” ดร.บัณฑูร เสนอแนวทางในการรื้อโครงสร้าง
 
กรณี “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” นั้น ดร.บัณฑูร เห็นควรให้มีการศึกษาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ก่อนว่าศักยภาพ และแนวทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่กี่ทิศทาง แต่ละทางเลือกมีศักยภาพอย่างไร มีต้นทุนและข้อจำกัดอย่างไร การยอมรับของชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างไร แล้วนำเอาแต่ละทางเลือกมาเปรียบเทียบกัน
 
ส่วนคนจะเลือกการพัฒนาทิศทางไหนนั้น ดร.บัณฑูร เห็นว่า อาจกระจายอำนาจการตัดสินใจอยู่กับพื้นที่ หรือให้กรรมการส่วนกลางตัดสินใจ แต่เปิดพื้นที่ให้มีตัวแทนจากชุมชนจำนวนหนึ่งเข้าไปร่วมตัดสินใจด้วย ซึ่งต้องดูว่ารัฐส่วนกลางจะยอมรับแค่ไหน อย่างไร
 
ปัญหาเชิงโครงสร้างอีกปัญหาหนึ่งของสงขลา และสตูล แต่ภาพฉายชัดที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด คือ การทำ EIA รายโครงการแบบแยกส่วน โดยไม่ศึกษาปัญหาผลกระทบมลพิษสะสมจากหลายๆ โรงงานอุตสาหกรรม แต่ศึกษาเฉพาะโครงการหนึ่งว่า มีการปล่อยสารเคมีไม่เกินมาตรฐานกฎหมาย แต่ไม่คำนึงถึงโรงงานอื่นที่ปล่อยสารเคมีไม่เกินค่ามาตรฐานกฎหมาย หลายๆ โรงงานรวมกันต่างก็ไม่เกินค่ามาตรฐาน
 
“สรุปแล้วให้มองภาพไปที่มาบตาพุด ทางแก้ไขคือ ต้องดูศึกษาผลกระทบในภาพรวมของพื้นที่” ดร.บัณฑูร ชี้ทางออกของปัญหาทำ EIA แบบแยกส่วนโครงการ
 
‘เจ้าของโครงการจัดจ้างบริษัทรับจัดทำ EIA เอง’ เป็นโจทย์ใหญ่โจทย์หนึ่งของปัญหาความไม่เป็นอิสระของบริษัทรับจัดทำ EIA ดร.บัณฑูร เห็นปัญหาของบริษัทรับจัดทำ EIA ที่ต้องศึกษาให้ผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ได้เงินงวดสุดท้าย เงินงวดสุดท้ายซึ่งบ้างก็ 20% บ้างก็ 30% ของเงินจัดจ้าง ซึ่งเป็นการศึกษาที่ถูกบังคับให้ผ่าน
 
ดร.บัณฑูร เสนอให้มีการตั้งเป็นระบบกองทุนกลาง ที่อยู่ในอำนาจของ สผ. หรือตั้งเป็นองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่คัดเลือกศักยภาพที่เหมาะสมของพื้นที่กับโครงการที่จะก่อสร้าง แล้วค่อยจัดจ้างบริษัทรับทำ EIA โดยห้ามรัฐ และเอกชนก้าวก่าย เป็นการขจัดความคลางแคลงใจในความไม่เป็นอิสระ สำหรับองค์กรนี้ตั้งขึ้นจัดจ้างทำ EIA ไม่ว่าผลการศึกษาจะผ่าน หรือไม่ผ่าน บริษัทรับจัดทำ EIA จะได้เงินงวดสุดท้าย
 
“ต้องนำการศึกษา EIA ใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ไปบูรณาการให้สอดรับกับกฎหมายอื่นๆ ด้วย คือถ้า EIA ไม่ผ่าน เจ้าของโครงการจะถมดิน จะสร้างอาคารไม่ได้ ต้องยุติทั้งหมดไว้” ดร.บัณฑูร บอกถึงแนวทางทางกฎหมาย ซึ่ง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ขัดแย้งกับกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายผังเมือง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ร.บ.ก่อสร้าง”
 
ดร.บัณฑูร สะท้อนภาพย้อนแย้งในทุกวันนี้ถึงแม้ว่า EIA ไม่ผ่าน แต่กฎหมายยังให้อำนาจ อปท. กรมโรงงาน ฯลฯ ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร หรือถมดินไปได้ก่อน ซึ่งเป็นแรงกดดันในกระบวนการ EIA ที่ว่าเจ้าของโครงการมักอ้างว่าได้ลงทุนไปเยอะแล้ว ถ้า EIA ไม่ผ่านก็ส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อกิจการ
 
ปัญหาโครงการที่หลบเลี่ยงการทำ EIA นั้น ดร.บัณฑูร เห็นว่าต้องปรับใหม่ โดยกำหนดการทบทวนระบบบัญชีโครงการที่ต้องทำ EIA ทุกๆ 3 ปี เช่น กำหนดว่าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 10 เมกะวัตต์ ต้องทำ EIA แต่เจ้าของโครงการสร้างแค่ 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งเปิดช่องให้นำโครงการหลบเลี่ยงการทำ EIA มาอยู่ในระบบบัญชีโครงการที่ต้องทำ EIA โดยกำหนดให้โครงการ 5 เมกะวัตต์ ต้องทำ EIA เจ้าของโครงการจะลดมาเหลือ 4.9 จะไม่คุ้มทุน
 
ดร.บัณฑูร เสนอให้กำหนดระบบบัญชีโครงการที่ต้องทำ EIA แบบปลายเปิด ปัจจุบันกำหนดว่าต้องทำ EIA  แค่ 30 ประเภทโครงการ โดยเปิดช่องหากประชาชนจำนวนหนึ่งมาร้องขอให้มีการพิจารณาจัดทำ EIA นอกเหนือจาก 30 ประเภทโครงการ
 
“สผ.จะต้องมีระบบรองรับ โดยมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนเพื่อพิจารณา หรือกำหนดให้องค์กรอื่นๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์กรสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ พิจารณาเสนอประเภทโครงการที่ต้องทำ EIA เพิ่มเติม”  
 
ดร.บัณฑูร ย้ำว่าต้องรื้อโครงสร้างกระบวนการทำ EIA EHIA ของไทย ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องพยายามอย่างหนัก
 
 
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง 
- ขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น