xs
xsm
sm
md
lg

คนใต้รุมสับ EHIA เซาเทิร์นซีบอร์ด แจก สะตอ (แหล) ว่อนเวที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ เปิดเวทีชำแหละ “กระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA” ยกประสบการณ์ตรงจากหลายพื้นที่ในภาคใต้ ร่วมชำแหละขบวนการ EHIA ที่ฉ้อฉล และหลอกลวงประชาชน ชี้ควรยกเลิก EIA และ EHIA ทุกโครงการทั่วประเทศ เพราะประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วม และถูกหลอกมาโดยตลอด

เวลา 13.30 น. วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่ลาน 18 ล้าน อ่าวปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ เปิดเวที ชำแหละกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA เมกะโปรเจกต์ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งประกอบด้วยหลายโครงการย่อยๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ หลังจากผ่านการศึกษา EIA แล้ว ท่ามกลางความคัดค้านของคนในพื้นที่มาโดยตลอด ล่าสุด รัฐบาลให้หยิบโครงการดังกล่าวขึ้นมาทบทวนอีกครั้ง โดยจะมีการศึกษา EHIA เพื่อเดินหน้าทำโครงการเมกะโปรเจกต์ เซาเทิร์นซีบอร์ด อีกครั้ง

โดยมีตัวแทนจากในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่น กรณีท่าเรืออุตสาหกรรมเชฟรอน ที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กรณีโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และท่าเรือน้ำลึกสวนกง แห่งที่ 2 จ.สงขลา กรณีเหมืองหินเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.ชุมพร กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ตรัง กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือฯขนส่ง จ.กระบี่ กรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา และเขื่อนทุ่งนุ้ย จ.สตูล และกรณีการขุดเจาะน้ำมันรอบเกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงมีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและนักพัฒนาเอกชน ร่วมเวทีเสวนาอีกด้วย เพื่อร่วมกันประกาศจุดยืนคนใต้

อ.ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง ยกแผนที่พื้นที่ภาคใต้ที่รัฐบาลทำขึ้นมา ซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่เหมาะจะทำเกษตรกรรม แต่กลับศึกษาว่าไม่กระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผ่าน EIA แล้ว จึงเป็นข้อสงสัยว่า EIA ผ่านได้อย่างไร พี่น้องคนใต้ต้องเป็นคนช่วยกันจับตาดู เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะออกความเห็นหากมีโครงการ หรือมีอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่

ตัวแทนจาก อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ที่ จ.นครศรีธรรมราช มี 21 โครงการที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน ที่ได้จัดทำอีไอเอไปแล้ว คือ ฐานสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันของเชฟรอน และบางโครงการอยู่ระหว่างการศึกษา เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เขื่อน และแหล่งขุดเจาะน้ำมัน

ฐานสนับสนุนขุดเจาะต้องใช้พื้นที่ 300 กว่าไร่ ที่ ต.กลาย อ.ท่าศาลา ส่งผลกระทบต่อชาวประมงอย่างแน่นอน ซึ่งพี่น้องประมงถูกกีดกันให้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งทางบริษัทมีการหลีกเลี่ยงที่จะพบปะกับคนในพื้นที่ ชาวบ้านจึงมีการทำหนังสือคัดค้านไปหลายครั้ง จนบริษัทเชฟรอนประกาศยกเลิกโครงการ แต่ในกระบวนการอีไอเอ ยังมีการดำเนินการต่อ แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่มีความจริงใจกับประชาชน ล่าสุด เชฟรอนยังยืนยันจะส่งอีไอเอเพื่อเป็นกรณีศึกษา ชาวท่าศาลาก็ยังยืนยันที่จะปกป้องแหล่งอาหารให้แก่ลูกหลานชาวท่าศาลาต่อไป

นายเอกชัย อิสระทะ ตัวแทนจาก จ.สงขลา กรณีเหมืองหินเขาคูหา กล่าวว่า การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประชาชนมีสิทธิที่จะจัดการกับสิ่งแวดล้อม และเรามีสิทธิที่จะอยู่อย่างสงบโดยเลือก และกำหนดได้ เขาคูหาปัญหาที่เกิดจากสัมปทานหิน 10 ปี มีบ้านเรือนแตกร้าวจากการระเบิดหิน 316 หลัง แต่ในอีไอเอบอกว่ามีอยู่แค่ 11 หลัง นี่คือสิ่งหลอกลวงที่รัฐบาลทำกับประชาชน บ้านที่มีผลกระทบด้านฝุ่นบอกว่ามี 13 หลัง แต่จริงๆ แล้วกระทบหมดทั้ง 5 หมู่บ้าน และบอกว่าเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแล้ว โดยใช้การบันทึกการประชุมหมู่บ้าน สวมรอยว่าเป็นการประชุมเรื่องเหมืองหิน ขบวนการทำเอกสารเป็นเท็จ คือสิ่งที่พบเจอในกระบวนการศึกษาอีไอเอ เพราะฉะนั้น อีไอเอ ทั้งประเทศไทยต้องเป็นการหลอกลวงข้อมูลเป็นเท็จทั้งสิ้น สมควรจะยกเลิกทั้งประเทศ

ตัวแทนจากเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปี 2552 บริษัทน้ำมันเข้ามาบอกว่าขอรับฟังความคิดเห็น บ.เชฟรอน บ.เพิร์ลออยล์ บ.นิวคาสตอล ประชาชนออกมาคัดค้านตลอดบอกว่าอย่างไรก็ทำไม่ได้เพราะจะทำให้กระทบการท่องเที่ยวและการประมง และบริษัทเหล่านั้นก็หายไป จนเวลาผ่านไประยะหนึ่ง กลับมารู้อีกที ทุกอย่างผ่าน อีไอเอ แล้ว จนสุดท้ายก็ได้ขุดสำรวจ แต่โชคดีว่าผลออกมาว่ายังไม่มีศักยภาพที่จะผลิต จนถึงตอนนี้คนในพื้นที่ยังไม่รู้ว่าผ่านไปกี่หลุมแล้ว

สุดท้ายมารู้เมื่อเร็วๆ นี้เองว่า ได้มีการอนุมัติไปแล้วเมื่อปี 53 แต่ยังทำอะไรไม่ได้เพราะประชาชนกว่า 1 หมื่นคนออกมาคัดค้าน ล่าสุด ยังมีของ ปตท.เข้ามาอีก 1 แปลงที่จะขุดเจาะ ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ปิดอ่าวเพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ชาวบ้านจึงยื่นหนังสือให้เป็นโมฆะ ตอนนี้ยังไว้ใจไม่ได้ จึงต้องยังจำโกหกของหน่วยงานรัฐ ที่เข้ามาหลอกลวงประชาชน ซึ่งโกหกกันทั้งกระบวนการ ข้อมูลและข้อสรุปที่บริษัทบันทึกมาไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งสิ้น หลักใหญ่เลยคือ ความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นกับพี่น้องคนไทยทุกคน ไม่เคารพสิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชนอีก แต่รัฐบาลไม่เคยนึกถึงตรงนี้ จึงอยากให้ประชาชนช่วยกันคิดช่วยกันดูในสิ่งที่เรามีสิทธิที่จะทำได้

ตัวแทนจาก อ.จะนะ จ.สงขลา กรณีโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ดำเนินการมาแล้ว 10 ปี กล่าวว่า อีไอเอที่ผ่านมาทั่วทุกจังหวัดมีปัญหาหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไร “อีไอเอเป็นพาหนะนำสู่ปัญหาฮารอม” ที่สร้างความแตกแยกในชุมชน สร้างโรงแยกก๊าซได้แล้วยังหุบดินวะกับไปอีก มุสลิมจะเข้าใจดี ดินวะกับอยู่ในโรงแยกก๊าซ 4 เส้น อีไอเอที่ทำให้เกิดโรงแยกก๊าซขึ้นมา ทำให้เกิดโรงไฟฟ้าขึ้นมาได้อีก 2 โรง สร้างเพื่อรองรับอุตสาหกรรม นิคมฯ ต้องเกิดขึ้นแน่นอน

ตัวแทนจาก จ.กระบี่ กล่าวว่า จ.กระบี่ กับ จ.ตรัง มาเป็นคู่ เพราะการขนส่งท่าเรือ เท่ากับ 4 สนามฟุตบอล บรรทุกถ่านหิน แต่ จ.ตรังยังไม่ได้ทำอีเอชไอเอ แต่ที่ จ.กระบี่ มีประชาชนรู้เรื่องน้อยมากว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านกินที่ จ.กระบี่ แสดงให้เห็นว่าได้แอบมีการทำการศึกษาอีเอชไอเอ โดยไม่ได้มีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ อีกประเด็นคือ พี่น้องชาวเลที่เกาะลันตา ตอนนี้มีเรือบรรทุกซีเมนต์ลำใหญ่มากมาจอดเพื่อถ่านลงเรืออีกลำ ผลปรากฏว่า กุ้ง หอย ปู ปลา บริเวณนั้นหายหมดแล้ว เพราะเดิมเคยเป็นแหล่งสัตว์น้ำอย่างดี แล้วถ้ามีเรือถ่านหินเข้ามาจอดบริเวณนี้อีก กระทบต่ออาชีพประมงเป็นจำนวนมาก หลายคนเริ่มขายเรือแล้ว เพราะประกอบอาชีพไม่ได้ วันนี้อีเอชไอเอ ที่ตรัง และกระบี่ยังไม่ผ่าน สผ.ไม่เคยลงพื้นที่เลย มีแต่บริษัทที่ปรึกษา ที่มาเอาข้อมูลเท็จส่งรายงานให้แก่ สผ. ทั้งนี้ ครั้งที่ 1 และ 2 ในการทำอีเอชไอเอ ได้ผ่านไปแล้ว รอครั้งที่ 3 รัฐมนตรีจะลงมาฟังจากพี่น้องประชนเองว่า ประชาชนต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่
นายปรีชา งะสมัณ ประชาชนจาก อ.ละงู จ.สตูล ผู้มีความเห็นต่าง
 
นายปรีชา งะสมัณ ประชาชนจาก อ.ละงู จ.สตูล ที่มีความเห็นต่างโดยมองอีกมุมว่า เห็นด้วยกับการสร้างท่าเรือ เพราะมีลูกหลานเรียนวิศวะ ถ้าไม่มีอุตสาหกรรม จบมาจะได้ทำงานอะไร และสตูลเป็นเมืองเกษตร และการที่มาร่วมรับฟัง สุดท้ายคือ นายปรีชา ก็ไม่รู้ว่า อีเอชไอเอ คืออะไร และจะสร้างท่าเรือในพื้นที่เท่าไหร่รท่องเที่ยว แต่เป็นเมืองมุสลิมทำการท่องเที่ยวไม่ได้ เพราะมองในมุมที่นักท่องเที่ยวเป็นฝรั่ง แต่เราไม่สามารถทำบาร์เหล้า บาร์เบียร์ได้ แล้วจะมีการท่องเที่ยวเพื่ออะไร พูดจบ ก็มีเสียงโห่ไล่จากประชาชน

 
หลังจากมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการศึกษาอีไอเอดังกล่าว พบว่าแท้จริงแล้ว ระบบอีไอเอประเทศไทย เป็นเพียงกระบวนการฉ้อฉล หลวกลวงเท่านั้น แทบไม่มีเลยที่ อีไอเอ แล้วไม่ผ่าน ทำผิดขั้นตอนก็ผ่าน เวทีล่มทุกครั้งก็ผ่าน ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงก็ผ่าน ชาวบ้านยกมือไม่เห็นด้วยท่วมท้นก็ผ่าน จึงสรุปได้ว่า อีไอเอประเทศไทย ผิดอย่างไร ก็ผ่าน และสิ่งที่สำคัญที่สุด กระบวนการอีไอเอได้ทำให้สิทธิในการร่วมกำหนดการพัฒนาของประชาชนหายไปตลอดกาล เราเห็นว่ากระบวนการอีไอเอ เป็นกระบวนการที่ อยู่ผิดที่ ผิดเวลา และฉ้อฉลอย่างตั้งใจ

การพัฒนาในพื้นที่ใดๆ ก็ตาม ต้องเริ่มจากการค้นหาศักยภาพของตน เปิดให้ประชาชนร่วมวางแผนพัฒนา ออกแบบโครงการ สอบถามความยินยอมจากชุมชน แล้วจึงค่อยศึกษาว่าโครงการนั้นๆ มีผลกระทบต่อชุมชนสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพอย่างไร
วสันต์ สิทธเขต ศิลปินเพื่อสังคม
 
เครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้จึงขอประกาศว่า

1.รัฐ หรือเอกชนใดๆ จะต้องยุติการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพในทุกโครงการ
2.รัฐ ต้องทบทวน และแก้ไขข้อผิดพลาดของกระบวนการจัดทำอีไอเอ หรือ อีเอชไอเอ รวมทั้งจัดให้อยู่ถูกที่ ถูกเวลา ตามที่ควรจะเป็นก่อน
3.หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เราจะถือว่ารัฐไม่รับฟังเสียงของประชาชน และเราจะไม่ยอมรับกระบวนการศึกษาใดๆ ที่จะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ในเครือข่ายโดยเด็ดขาด
4.เราเห็นว่า การอนุมัติ อนุญาตโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการไปก่อนแล้วโดยใช้ “กระบวนการอีไอเอประเทศไทย ผิดก็ผ่าน” ถือว่า บุคคล หน่วยงานที่อนุมัติ อนุญาตนั้นๆ อาจจะมีความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงประชาชน และใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ จึงให้ประชาชนร่วมกันติดตามตรวจสอบ บุคคล หน่วยงานนั้นๆ อย่างใกล้ชิด

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น