xs
xsm
sm
md
lg

กรณีศึกษาคดีความมั่นคงที่ชายแดนใต้..คำพิพากษาฎีกาจำคุก 12 ปี “มูฮาหมัดอัณวัร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ
 
โดย...อับดุลเลาะ เบ็ญญากาจ

ตลอดระยะเวลาที่นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา นางรอมือละห์ แซเยะ ผู้ประสานงานกลุ่มเยาวชนอาสา จ.นราธิวาส ในฐานะภรรยาของนายมูฮาหมัดอัณวัรก็ได้เดินทางพร้อมญาติเข้ามาเยี่ยมตลอดทุกวันที่เรือนจำกลางปัตตานี เพราะน่าจะเป็นสิ่งเดียวที่สามารถสื่อสารกันได้อย่างใกล้ชิดที่สุด ถึงแม้อาจจะสัมผัสถึงตัวไม่ได้ แต่ยังมองเห็นกันได้จากความใสของกระจกที่ทางเรือนจำใช้เป็นเครื่องกั้นระหว่างผู้ต้องหากับผู้เข้าเยี่ยม นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถทำให้ทั้งสองพยายามปรับสภาพจิตใจกับการสิ้นอิสราภาพอันเป็นบุคคลเป็นที่รัก

นายมูฮาหมัดอัณวัรแต่งงานกับนางรอมมือละห์มาได้ 2 ปี และยังไม่ทันมีลูก โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองได้วางแผนอนาคตไว้ว่า จะกลับมาตั้งต้นชีวิตใหม่อีกครั้งที่บ้านเกิด หรือบ้านแม่ เพื่อถือโอกาสดูแลพ่อแม่ที่กำลังเข้าวัยชรา แล้วยังมีโรคหัวใจ ความดันไม่ปกติ จึงได้เปิดร้านขายชากาแฟบริเวณหน้าบ้านแม่ที่เป็นร้านค้าของชำ

ทั้งสองคนทั้งชงชากาแฟและเสิร์ฟด้วยตัวเอง และความที่ใส่ใจกับสังคมจึงจัดแคมเปญเรียกลูกค้าด้วยกลยุทธ์การตลาดหักค่าน้ำชากาแฟถ้วยละบาทไว้เป็นกองทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้า หรือถ้าลูกค้าแสดงบัตรนักเรียนก็จะลดทันที 1 บาท สร้างความแปลกใหม่ให้กับคนในพื้นที่ มีลูกค้าเข้ามาเข้าไปใช้บริการร้านเล็กๆ ของเขาจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กนักเรียน

เหตุผลที่นายมูฮาหมัดอัณวัรถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางปัตตานีในคือ เขาต้องคดีฆ่าตัดคอ ด.ต.สัมพันธ์ อ้นยะลา ตำรวจ สภ.ยะรัง จ.ปัตตานี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2548 เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมาได้ 7คน และทั้ง 7 คนนี้ให้การซัดทอดไปยังเขาและเพื่อนๆ ว่าคือผู้ชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานี หรือขบวนการบี BRN ตั้งแต่เมื่อปี 2546 มีการฝึกความแข็งแกร่งของร่างกาย ฝึกจิตใจให้กล้าหาญ รวมทั้งฝึกยุทธวิธีการสู้รบและการใช้อาวุธด้วย

ศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษจำคุกนายมูฮาหมัดอัณวัร 12 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง และศาลฎีกาพิพากษาลงโทษให้จำคุก 12 ปีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทำให้เจ้าตัวต้องอายัดตัวทันที และถูกนำเข้าเรือนจำท่ามกลางความผิดหวังของญาติที่เข้าร่วมรับฟังคำพิพากษา โดยเฉพาะแม่ของเขาที่กำลังเข้าวัยชราและมีทั้งโรคหัวใจและความดันไม่ปกติ ซึ่งยากต่อการทำใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ส่วนบรรยากาศที่เรือนจำกลางปัตตานีที่ตั้งอยู่ ม.8 ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี นางรอมือละห์พร้อมบรรดาญาติๆ ได้เดินทางเข้ามาเยี่ยมทุกวัน เพราะอดสงสารสามีไม่ได้ที่ต้องกลายตกเป็นผู้ต้องหา โดยเชื่อว่าเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ แค่ถูกใส่ความเท่านั้น

แม่ของเขาเคยให้ข้อมูลว่า ช่วงที่มีการควบคุมตัวลูกชายได้เคยถูกต่อรองจากเจ้าหน้าที่ให้ยอมรับผิด และจะกันเป็นพยาน แล้วจะถูกปล่อยให้มีอิสราภาพ แต่เขาปฏิเสธมาโดยตลอด เพราะมั่นใจว่าตัวเองไม่ได้กระทำผิดใดๆ สุดท้ายก็ต้องถูกดำเนินคดีสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลในที่สุด

ตลอดระยะเวลาการดำเนินคดีที่ยาวนานหลายปี เขาหวังอยู่ตลอดว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม โดยไม่เคยคิดหนีไปจากพื้นที่ จนได้แต่งงานเพื่อสร้างครอบครัวหลังศาลอุทธรณ์ได้ยกคำฟ้องว่าไม่ผิด และกมหน้าทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด ด้วยที่เรียนจบด้านนิเทศศาสตร์จาก ม.ราชภัฎยะลา จึงถนัดในเรื่องงานเขียน และได้เขียนบทความที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ที่เกิดขึ้นยาวนานไปลงในสื่อทางเลือกอย่าง BUNGA RAYA ต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็น WA TANI เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้สังคมทั่วไปรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลักหลายมิติ ภายใต้กรอบอำนาจของรัฐธรรมนูญไทย เพื่อให้คนในสังคมไทยสามารถรับรู้ ช่วยกันสะท้อนถึงปัญหาที่แท้จริง

ทั้งนี้ก็เพื่อให้สังคมร่วมกันหาทางออกที่ถูกต้อง เนื่องจากปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสลับซับซ้อน การสะท้อนปัญหาหรือข้อเท็จจริงอาจถูกใจหรือไม่ถูกใจใคร หรือคนในหน่วยงานรัฐและหน่วยงานอื่นๆ เพราะเปิดให้มีการเสนอความคิดเห็นผ่านสื่อเว็บไซต์ด้วย โดยไม่ได้ทำงานตามลำพัง แต่มีทีมงานและชื่อ WA TANI ไม่ใช่ชื่อเรียกของนายมูฮาหมัดอัณวัรแต่อย่างใด แต่เป็นชื่อขององค์กรที่ร่วมกันตั้งขึ้นมาของนักศึกษาที่เรียนจบด้านนี้โดยเฉพาะ

ภรรยาของเขาได้บอกเล่าถึงความรู้สึกหลังจากสามีต้องถูกจำคุกนานถึง 12 ปีว่า แบวาได้รับหนังสือประมาณช่วงห้าโมงเย็นของวันที่ 30 เม.ย.ว่าต้องไปฟังคำพิพากษา ทำให้ครอบครัวมีเวลาน้อยมากที่จะทำใจ แต่ในหนังสือแจ้งของศาลกลับประทับวันที่ส่งว่าส่งให้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.แล้ว จึงมีคำถามว่าทำไมหนังสือถึงล่าช้าเกือบเดือน ไปตกหล่นอยู่ตรงไหนหรือเกิดอะไรขึ้น
“ดิฉันกับครอบครัวเดินทางไปรับฟังคำพิพากษาร่วมกัน และคิดเสมอว่าเมื่อเราไม่ได้ทำผิด ศาลคงต้องให้ความเป็นธรรมให้กับแบวา ซึ่งวันนั้นเรายื่นฟังการอ่านคำพิพากษานานเป็นชั่วโมง ทุกคนก็พยายามฟังจนจบ แต่ก็ไม่เข้าใจ จนกระทั่งผู้พิพากษาได้ตอบย้ำอีกครั้งว่า ต้องถูกลงโทษนะ ก่อนที่จะลุกออกจากบัลลังก์ จึงทำให้ทุกคน โดยเฉพาะคนในครอบครัวเราตกใจ แล้วพูดเสียงเดียวกันว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ แต่เมื่อเป็นคำพิพากษาของศาลสติยุติธรรม เราทุกคนก็ต้องยอมรับตามคำพิพากษา ถึงแม้ยากต่อการทำใจได้ก็ตาม”
นางรอมือล๊ะยังสะท้อนอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ยาวนานของการต่อสู้คดี แบวาเหนื่อยมาก เพราะก่อนหน้านี้เคยต้องพิพากษาของศาลชั้นต้นมาแล้ว 12 ปี และถูกจำคุกในเรือนจำกลางปัตตานีมาแล้ว 1 ปีกับอีก 2 เดือน ก่อนถูกปล่อยตัวหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อปี 2553 จากนั้นเราก็ได้แต่งงานกันหวังจะสร้างครอบครัวและจะไม่หนีไปไหน เพราะเราเชื่อมาตลอดกับกระบวนการยุติธรรม
“ก่อนที่แบวาจะถูกตัดสินลงโทษประมาณสามเดือนที่เราเริ่มต้นเปิดร้านขายน้ำชากาแฟ เพื่อตั้งใจจะปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านติดที่อยู่ติดกับโรงพัก สภ.ยะรัง โดยมีแนวคิดว่าทุกแก้วเราจะหัก 1 บาทช่วยเด็กกำพร้า เนื่องจากในพื้นที่มีเด็กกำพร้าอยู่เป็นจำนวนมาก จึงอยากยื่นมือช่วยพวกเขา ซึ่งไม่คิดเลยว่าความฝันของเรามันชั่งสั้นเหลือเกิน”
ด้านนายอนุกุล อาแวปูเต๊ะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมภาคใต้มูลนิธิ กล่าวถึงการต่อสู้คดีว่า เจ้าหน้าที่เริ่มที่จะนำแนวร่วมที่เคยตกเป็นต้องหาตามหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แลกกับการให้อิสราภาพ เพื่อให้มีน้ำหนักในการให้การในชั้นศาล เนื่องจากคนที่เคยตกเป็นสมาชิกของกลุ่มแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ หรือที่เริ่มรู้จักในนามกระบวนการกู้ชาติปัตตานี อาจทำให้ศาลเชื่อกับการให้การมากขึ้น
“สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งใหม่ที่เริ่มเข้าในกระบวนการยุติธรรมในระหว่างการสืบพยาน และสุ่มเสี่ยงต่อผู้บริสุทธิ์ที่จะตกเป็นผู้ต้องหาและจำคุกในที่สุด เช่นกรณีนายมูฮาหมัดอัณวัรที่ต้องมีความผิดเพราะถูกแนวร่วมที่เจ้าหน้าที่กันเป็นพยานแลกกับอิสราภาพซัดทอดว่า เคยร่วมกระบวนการ แต่ไม่ใช่ร่วมก่อเหตุ เหมือนกับว่าแค่ความคิดต่างกับรัฐ แม้ไม่ปรากฏการกระทำผิด ก็ถือว่าผิดด้วย” นายอนุกุลกล่าว
ส่วนนายตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่ อ.ยะรังในขณะนั้นระบุว่า ความจริงนายมูฮาหมัอัณวัรไม่ต่างกับการเป็นญาติหรือครอบครัวของตำรวจ สภ.ยะรัง เพราะบ้านของเขาอยู่ติดกับโรงพัก สภ.ยะรัง เปิดร้านขายข้าวแกง ทำซุปวัวได้อร่อยมาก ซึ่งตำรวจทุกระดับฝากท้องให้กับบ้านหลังนี้ จึงไม่เชื่อว่าน้องเขาจะกระทำผิดหรือตกเป็นผู้ต้องหา แต่เนื่องจากช่วงเกิดเหตุการณ์ในขณะนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ชุดกองปราบจากส่วนกลางลงมาทำคดี จึงอาจจะจับตัวแล้วเข้าเซฟเฮาส์ เพราะขณะนั้นเรายังไม่ศูนย์ซักถามของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่
“ในชั้นอุทธรณ์ตำรวจ สภ.ยะรังได้ช่วยเป็นพยานยื่นยันว่า น้องเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่คิดว่าในชั้นฎีกาจะถูกจำถึง 12 ปี”
จากคำพิพากษาของศาลฎีกาในครั้งนี้ ทำให้ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในเรือนจำของ 3 จังหวัดภาคใต้ ได้มีการเคลื่อนไหว เพราะเริ่มไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของไทย จึงมีการยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยอมรับข้อเสนอของกลุ่ม BRN บางข้อที่มีผลกระทบต่อผู้บริสุทธิ์ที่ต้องถูกดำเนินคดีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยอาศัยกระบวนการซัดทอดของแนวร่วมที่เจ้าหน้าที่นำเป็นพยานศาลเพื่อให้น่าเชื่อถือ ก่อนที่ทุกอย่างมันจะสายเกินแก้ และจะยิ่งทำให้อุณหภูมิในพื้นที่ร้อนระอุขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ มีหนังสือเปิดผนึกที่ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกันลงนามผ่านขั้นตอนตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ของไทยเพื่อส่งผ่าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้วด้วย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น