xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ภาค 4 แจงเหตุจำคุก 12 ปี “มูฮาหมัดอัณวัร” นักข่าวอิสระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - กอ.รมน.ภาค 4 ชี้แจงกรณีศาลพิพากษาจำคุก 12 ปี “มูฮาหมัดอัณวัร” ผู้สื่อข่าวอิสระ ในคดีความมั่นคง ว่า เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม หลังมีกระแสปฏิเสธคำพิพากษาในพื้นที่

เวลา 13.00 น. วันนี้ (6 พ.ค.) ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า จากกรณีเหตุการณ์คนร้ายได้ร่วมกันก่อเหตุฆ่าตัดคอ ด.ต.สัมพันธ์ อ้นยะลา สังกัดสถานีตำรวจภูธรยะรัง จังหวัดปัตตานี

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว จำนวน 11 คน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิพากษา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 ให้จำคุกคนละ 12 ปี จำนวน 9 คน คือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คือ นายมะกอรี ดาโอ๊ะ, นายอัรฟาน บินอาแว, นายมูฮำหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ, จำเลยที่ 5 นายหามะ สือแม และจำเลยที่ 11 นายอับดุลเลาะ กาโบะ ในความผิดก่อความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร

“แต่ในขณะที่ทำความผิด จำเลยที่ 2 นายอัรฟาน บินอาแว จำเลยที่ 10 นายซูไฮมี ดาเล็ง และจำเลยคนที่ 11 นายอับดุลเลาะ กาโบะ ขณะกระทำความผิดอายุไม่ถึง 20 ให้ลดมาตราส่วนโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 8 ปี และให้ยกฟ้อง จำนวน 2 คน คือ จำเลยที่ 4 นายอิคเรส เต๊ะ และจำเลยที่ 6 นายมะรอเซะ ดาแม ซึ่งต่อมา จำเลยทั้ง 9 คน ขออุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีคำสั่งพิพากษา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 52 ให้ยกฟ้องเพิ่มเติม จำนวน 2 คน คือ จำเลยที่ 2 นายอัรฟาน บินอาแว และจำเลยที่ 3 นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ส่วนจำเลยที่เหลือ 7 คน ได้ยื่นฎีกาขัดค้าน ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งพิพากษายื่นตามศาลชั้นต้น คือ ยกฟ้องจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 จำคุก 12 ปี จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 7 จำเลยที่ 8 จำเลยที่ 9 จำคุก 8 ปี จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 10 และจำเลยที่ 11 เมื่อวันที่ 1 พ.ค.56” โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าว

พ.อ.ปราโมทย์ ยังกล่าวอีกว่า จากคำพิพากษาดังกล่าวได้มีการสร้างกระแสในเชิงปฏิเสธ และไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวาง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจ ดังนี้ คณะผู้พิพากษาของประเทศไทยปฏิบัติหน้าที่ในพระนามขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นองค์ศาสนูปถัมภก คือ ให้การอุปถัมภ์ในทุกศาสนาไม่แบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติต่อทั้งศาสนาพุทธ, อิสลาม, คริสต์ หรือศาสนาอื่นๆ ดังนั้น การอ้างอิงถึงความไม่ยุติธรรมจากเรื่องศาสนาจึงไม่มีเหตุผลอันควรสำหรับกระบวนการยุติธรรมของศาลไทย อีกทั้งผลการพิจารณาของศาลไทยมิได้มีผลความเชื่อถือเฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงสามารถนำไปประกอบเป็นหลักฐานในการพิพากษาคดีระดับสากลได้

“กระบวนการศาลยุติธรรมของไทย มีขั้นตอนที่ได้ให้ความเสมอภาคระหว่างจำเลย และผู้กล่าวหา ตลอดทั้งยึดถือในหลักสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรมอยู่ในตัว จึงได้มีขั้นตอนที่ใช้ความละเอียดอ่อนในการพิพากษาคดีถึง 3 ขั้น คือ ศาลชั้นต้น, ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มิได้ตัดสินโดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ อีกทั้งศาลแต่ละระดับจะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาคดีที่แยกจากกัน และไม่มีการแทรกแซงซึ่งกันและกัน

โดยจำเลยทุกคดีจะมีสิทธิในการร้องขอความยุติธรรมได้รวม 3 ชั้น และสิ้นสุดที่ศาลฎีกา จึงเห็นได้ว่า ศาลของประเทศไทยได้ยึดหลักสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรมในการให้โอกาสต่อทั้งจำเลย และฝ่ายผู้ฟ้อง คือ อัยการ นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ถูกตั้งข้อกล่าวหาร่วมกับพวกอีก 11 คน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 48 จากพฤติกรรมร่วมกันซ่องสุมผู้คนทำการฝึกเพื่อต่อต้าน ทำร้ายเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาจากหลักฐาน และพยานบุคคลแล้วพิพากษาให้ลงโทษจำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ เป็นเวลา 12 ปี

หลังจากนั้น นายมูฮาหมัดอัณวัร และเครือญาติมีความเห็นว่า ศาลชั้นต้นมิได้ให้ความยุติธรรมเพียงพอ จึงได้ดำเนินการร้องขอความยุติธรรมผ่านศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้อง ต่อมา ฝ่ายอัยการซึ่งเป็นทนายความของรัฐเห็นว่า รูปคดีของนายมูฮาหมัดอัณวัร ยังมีข้อสงสัยในพฤติกรรมอันมีผลต่อความมั่นคงสันติสุขของประชาชน ชุมชน และประเทศ จึงได้เสนอเรื่องให้พิจารณาในระดับสูงสุดคือ ศาลชั้นฎีกา ด้วยพยานหลักฐานที่ครบถ้วน และมีความชัดเจนมิอาจโต้แย้งได้ ศาลฎีกาจึงได้พิพากษายืนตามศาลขั้นต้นคือ จำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ เป็นเวลา 12 ปี นับว่าเพียงพอต่อการให้ความยุติธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย แล้ว

“ในอดีตก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ศาลของประเทศไทยได้เคยพิพากษายกฟ้องคดีความที่มีทั้งชาวไทยพุทธ และมุสลิมตกเป็นผู้ต้องหาจำนวนหลายราย ดังนั้น การที่จำเลยผู้หนึ่งผู้ใดจะถูกพิพากษาอย่างไรจะขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน และดุลพินิจของผู้พิพากษาที่มิได้มุ่งแต่จะใช้บทลงโทษเฉพาะต่อประชาชนแต่เพียงประการเดียว แต่ยังต้องคำนึงถึงหลักการอื่นๆ ที่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล” พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ จำเลยที่ตกเป็นผู้ต้องหา และศาลสั่งตัดสินจำคุก เป็นผู้สื่อข่าวอิสระ ประจำพื้นที่ปัตตานี เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง ทำให้หลายฝ่ายที่รู้จักยังเกิดข้อกังขา และไม่เห็นด้วยตามกระบวนการยุติธรรม โดยมีการสื่อสาร และแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์กันอย่างต่อเนื่องถึงกรณีดังกล่าว

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น