ปัตตานี - นักวิชาการปัตตานี ร่วมกับกลุ่มเพื่อนอันวาร์ จัดเวทีถกเรื่องกระบวนการยุติธรรมไทย หลัง “มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ หรือ อันวาร์” ผู้สื่อข่าวสื่อทางเลือกถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 12 ปี ในคดีความมั่นคง
วันนี้ (21 พ.ค.) หลังจากที่ นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ หรือ “อันวาร์” ผู้สื่อข่าวสื่อทางเลือก WATANI ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 12 ปี เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยถูกแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ซัดทอดว่าเป็นสมาชิกกู้ชาติปัตตานี (BRN) และหลังจากนั้นเพียงแค่ 20 วัน มีประชาชนทุกภาคส่วนเดินทางไปเยี่ยมที่เรือนจำปัตตานีนับพันคน เพราะทุกคนเชื่อว่า นายมูฮาหมัดอัณวัร ไม่ได้กระทำผิด
ขณะเดียวกัน วันนี้ที่ร้านหนังสือบูคู ต.สะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ได้มีนักวิชาการ นักกฎหมาย นักข่าวสื่อทางเลือก ร่วมกับกลุ่มเพื่อนอันวาร์ จัดเวทีถกเรื่องกระบวนการยุติธรรมไทยกับการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์มหาวิทยาลัยสงคลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมมูลนิธิ นายซาอารี เจ๊ะหลง ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว WATANI นางรอมือล๊ะ แซเยะ ภรรยาของมูฮาหมัดอัณวัร และนางนวลน้อย ธรรมเสถียร เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีกลุ่มของเพื่อนอันวาร์ ตัวแทนของภาคประชาสังคม และคณะทำงานของสื่อทางเลือก ประมาณ 100 คน เข้าร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ทั้งนี้ ได้มีการถอดบทเรียนของกระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนของการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคงว่าจะสามารถตอบรับกับกระบวนสร้างสันติภาพในพื้นที่ได้หรือไม่อย่างไร และในเวทียังได้มีการอ่านสารของ นายมูฮาหมัดอัณวัร ให้ผู้ร่วมงานรับฟังอีกด้วย
“ฉันไม่ยอมรับความผิด
ฉันผิดที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพชาวปัตตานี
ฉันผิดด้วยการต่อสู้กับกฎหมายอยุติธรรม
ฉันยังผิดที่ต่อสู้เพื่อพลเมืองถูกกดขี่
ฉันไม่เคยคิดจะวางระเบิด เผาเมือง ตัดคอตำรวจ
แต่ฉันไม่หวาดเกรงที่จะหยิบปากกาต่อสู้
12 ปี ผลลัพธ์บวกคูณผลตอบแทนในกรงขัง
20 วัน ฉันสัมผัสถึงมือ กำลังใจจากเพื่อนนับพัน
เธออย่าชูฉันให้สูงและดึงให้ต่ำ
เธออย่าเอ่ยถึงฉันนัก ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างๆ หนักกว่าฉันนัก
เดินกลางป่าสมบูรณ์บูโด หาคำขอบคุณเพื่อนอันวาร์
ตีมอกาเซะ ขอบคุณเพื่อนอันวาร์ร์ ดุอาอฺพรจากพวกแก อิสรภาพ เสรีภาพ จงประสบ ณ ปัตตานีในไม่ช้า”
นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นคดีที่เกิดมาตั้งแต่ปี 2548 ประเด็นเหมือนการก่อการร้ายทั่วไป หากสถานการณ์ในอดีตและปัจจุบันต่างกัน แต่ศาลยังยึดคำตัดสินตามคำสอบสวนมากกว่าคำให้การในการขึ้นศาล
“ผมมองว่าคดีของความมั่นคงเป็นเรื่องของความขัดแย้ง การทำคดีเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง เราอยู่กับสภาพความไม่แน่นอนกับมุมมองของศาล นับตั้งแต่ทำคดีมา คดีนี้เป็นคดีที่มีความรู้สึกของคนที่ร่วมรู้สึกได้อย่างชัดเจน และชัดมากในพื้นที่นี้ อัยการสูงสุดก็ไม่ให้สัมภาษณ์ในคดีนี้ ใน พ.ร.บ. ม.21 อย่างกรณีที่อัยการเห็นว่าคดีไหนที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็สั่งไม่ฟ้องได้ตั้งแต่ต้น อยากให้เป็นนโยบายของกระบวนการยุติธรรม และใช้หลักรัฐศาสตร์ เรื่องนี้ใช้ พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญามาใหม่ได้ โดยคนที่ร้องเป็นตัวจำเลย หรือมารดาก็ได้ หากจับได้ว่าพยานเบิกความเท็จก็จะมายันกับคดีได้”
ทนายอนุกูล ยังกล่าวอีกว่า ดุลยพินิจในการพิจารณาเป็นเรื่องอิสระของอัยการ เรื่องของศาลฎีกาถือเป็นบรรทัดฐาน แต่แม้คดีจะถึงที่สุด หากคดีของอันวาร์ร์จะเป็นคดีที่อาจไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน ผลสะท้อนมีทั้งบวก และลบที่พี่น้องไทยพุทธ มุสลิม และสื่อมวลชนให้ความสนใจ คดีนี้จากการทำงานที่ผ่านมาของอันวาร์ร์ ทำให้คนทำงานภาคประชาสังคมมีความรู้สึกว่าต้องเผชิญกับการถูกคุกคามจากหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งหากทำกิจกรรมกันอย่างเปิดเผยในพื้นที่เป็นสิ่งที่รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุน
ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) กล่าวว่า พลังของคนหนุ่มสาวทำให้การเคลื่อนไหวจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ขยับไปมาก สิ่งที่ทำอยู่เป็นการสร้างพื้นที่กลางที่ปลอดภัยให้แก่ทุกกลุ่มที่ต้องการหาทางออกอย่างเท่าเทียมกัน ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาท่ามกลางกระแสความรุนแรงมีพื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ราวกับดอกเห็ด
“คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาทำงาน แก้ปัญหาร่วมกัน คนตัวเล็กตัวน้อยมีบทบาทมากขึ้น และต้องให้การคุ้มครองป้องกันโดยเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองด้วย การเปิดพื้นที่เป็นความจริงที่ได้รับการยอมรับ พลังของคนรุ่นใหม่เป็นผลพวงจากการเปิดพื้นที่แห่งนี้ ในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นมีพลังในการขับเคลื่อน เมื่อเปิดพื้นมาระดับหนึ่ง ทุกคนต้องปกป้องพื้นที่นี้ให้สามารถใช้ได้ต่อไปโดยไม่ใช้ความรุนแรง ยืนยันว่าความเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยการเมือง”
ผศ.ศรีสมภพ กล่าวต่อถึงข้อกล่าวหาที่ทำให้อันวาร์ไร้อิสรภาพว่า ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะลงโทษตามกฎหมาย การเรียกร้องความยุติธรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการสันติภาพ ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งที่ปลอดภัยให้ยั่งยืนมากที่สุด พร้อมบอกว่า เรื่องนี้กำลังอยู่ในการดำเนินการพิจารณาของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“เมื่อมีคนทำผิดตามกฎหมายก็ต้องดำเนินการ ตำรวจสั่งฟ้อง อัยการยื่นฟ้องต่อศาล แต่ ม.21 บอกว่า แม้จะมีหลักฐานว่าผิดจริงที่จะฟ้อง แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง และไม่ผิดกฎหมายได้ แม้ฎีกาสูงสุดแล้วก็ทำได้ หากผ่านเงื่อนไขของกฎมายนี้ เป็นอำนาจที่กฎหมายอยู่ได้ โดยมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะแก้ปัญหานี้ ซึ่งในพื้นที่นี้มีอัยการพิเศษดูแลเรื่องนี้ และสามารถทำได้โดยเร็ว โดยขณะนี้ได้มีการส่งเรื่องหารือไปยัง ศอ.บต. และหน่วยงานเกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อพิจารณากันต่อไป”