xs
xsm
sm
md
lg

จากนักรบสายรุ้ง Rainbow Warrior..สู่เอสเพอรันซา Esperanza เรือแห่งความหวัง / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง  นะแส
 
เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ (Rainbow Warrior) ซึ่งได้รับฉายาว่านักรบสายรุ้ง เป็นชื่อของเรือธงที่ใช้ในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มกรีนพีซ ใช้เดินทางไปทั่วโลก เพื่อรณรงค์ต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการล่าปลาวาฬ โลมา แมวน้ำ การทิ้งกากนิวเคลียร์ ฯลฯ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ผ่านประสบการณ์การถูกลอบวางระเบิด ถูกจับกุมตรวจยึด กระแทกด้วยเรือรัฐบาล หรือจู่โจมโดยตำรวจของหลายรัฐบาลในยุโรป แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นที่รักครองใจผู้คนนับล้านมามากกว่า 52 ปี กับภารกิจทางทะเล ตอนนี้ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ได้รับการปลดระวาง และกลายเป็นตำนานนักสู้ทางทะเล กลุ่มกรีนพีซได้ส่งมอบ “เรนโบว์ วอร์ริเออร์ 2” เรือรบเพื่อสิ่งแวดล้อมให้แก่องค์กรพัฒนาเอกชนในบังกลาเทศ เปลี่ยนบทบาทเป็นโรงพยาบาลเดินทะเล อีกลำก็บริจาคให้แก่องค์กรพัฒนาเอกชนใน ศรีลังกา เพื่อทำพิพิธภัณฑ์ กรีนพีซได้เรือลำใหม่ที่ชื่อว่า เรือ Esperanza ซึ่งมาจากภาษาสเปนแปลว่า “ความหวัง” จะเดินทางมายังประเทศไทยในเดือนมิถุนายนนี้
 
กว่า 2 ทศวรรษที่กลุ่มกรีนพีซใช้เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ปฏิบัติการรณรงค์ท้าทายปัญหา เผชิญหน้ากับอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม หยุดการขนส่งไม้ซุงผิดกฎหมายที่ตัดจากป่าโบราณของโลก ขัดขวางการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และรณรงค์ยุติการจับปลาเกินขนาด การล่าวาฬ สงคราม ภาวะโลกร้อน และอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมในมหาสมุทรทุกแห่งของโลก เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายครั้งด้วยกัน
 
การมาเยือนประเทศไทยครั้งแรกในปี 2543 เป็นการรณรงค์ “เอเชียปลอดมลพิษ (Toxic Fee Asia Tour) เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ยังสนับสนุนปฏิบัติการรณรงค์กับชุมชนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมต่างๆ ในการยุติถ่านหิน นิวเคลียร์ และผลักดันให้เกิดการปฏิวัติพลังงาน (Energy Revolution Tour ในปี 2548 และ Quit Coal Tour ในปี 2551) รวมถึงการเปิดโปงการทำลายป่าเขตร้อน และร่วมรณรงค์ในการเจรจาโลกร้อนที่บาหลี อินโดนีเซีย ในปี 2551 เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เมื่อ 3 ปีที่แล้วคือ ในปี 2553 กลุ่มกรีนพีซได้จัดการรณรงค์ภายใต้ชื่อ “ปกป้องสิ่งแวดล้อมกับเรนโบว์ วอร์ริเออร์” ซึ่งได้ส่งผลทำให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในระดับที่น่าพอใจ บทบาทของกลุ่มกรีนพีซต่อการรณรงค์เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมของประเทศเรา และของ โลกจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และควรได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคม เพราะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นภัยคุกคามที่สำคัญของมนุษยชาติ
 
ในระหว่างวันที่ 15-30 มิถุนายน พ.ศ.2556 นี้ กลุ่มกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปกป้องทะเลไทยจากภัยคุกคามต่างๆ และความเร่งด่วนในการผลักดันให้ร่วมกันหาทางออกเพื่อก้าวข้ามพ้นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับทะเลอันเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของสังคมไทย โดยจะจัดกิจกรรมผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในโอกาสการมาเยือนของเรือธงกรีนพีซที่ชื่อ เอสเพอรันซา (Esperanza) เพื่อร่วมรณรงค์ปกป้องทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย โดยร่วมมือกับภาคีด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สมาคมรักษ์ทะเลไทย สงขลาฟอรั่ม เทศบาลนครสงขลา วิทยาลัยวันศุกร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะ ชุมชนประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เครือข่าย “พลังพลเมืองเยาวชนสงขลา” (The Young Citizen Network) โดยจัดเป็นโครงการณรงค์ภายใต้ชื่อ “ฟื้นชีวิตทะเลไทย กับเรือเอสเพอรันซา”
       
       
ก่อนที่เรือเอสเพอรันซาจะเข้ามาทำกิจกรรมดังกล่าวในเมืองไทย อยากให้สังคมไทยได้รับรู้เรื่องราวของเรือเอสเพอรันซาเป็นเบื้องต้น เรือเอสเพอรันซาเริ่มแล่นใน พ.ศ.2545 เป็นเรือลำล่าสุด และใหญ่ที่สุดในกองเรือของกรีนพีซ โดยเข้ามาแทนเรือกรีนพีซที่เลิกใช้ไปแล้ว เอสเพอรันซา เป็นเรือที่ผู้มาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของกรีนพีซเป็นผู้ตั้งชื่อให้ เรือลำนี้ เป็นเรือลำที่ 4 ซึ่งเดิมทีอยู่ในกองเรือดับเพลิงที่รัฐบาลรัสเซียสั่งซื้อในระหว่าง พ.ศ.2526 ถึง 2530 จากพื้นที่ก่อสร้างในเมือง Gdansk ประเทศโปแลนด์ มีความสามารถในการแล่นผ่านทะเลน้ำแข็งที่หนา และความเร็วสูง เอสเพอรันซา เป็นเรือ 1 ใน 14 ลำที่ได้รับใบอนุญาตเดินเรือจากรัฐบาลรัฐเซีย และใช้งานโดยกองทัพเรือรัสเซีย เป็นเรือดับเพลิงในเมือง Murmansk เรือลำนี้จอดอยู่เป็นเวลาหลายปี เนื่องจากขาดเงินทุน จากนั้นจึงถูกขาย 2-3 ครั้ง และในที่สุด ก็ทำหน้าที่เป็นเรือขนส่งสินค้าในนอร์เวย์
 
กรีนพีซได้ใช้เวลาหลายเดือนในการแปลงเรือลำนี้ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยได้รับการกำจัดเยื่อหินทนไฟออกทั้งหมด เปลี่ยนระบบน้ำมันพิเศษให้ เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการรั่วไหลของน้ำมัน ปรับปรุงแรงขับเคลื่อนไฟฟ้าดีเซลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างระบบทำความร้อนจากของเสีย ทำน้ำสกปรกใต้ท้องเรือให้บริสุทธิ์ ทำให้เรือลำนี้มีประสิทธิภาพกว่าที่กฎหมายในปัจจุบันกำหนด สีทาตัวเรือปราศจากสารไตรบิวทิลทิน ใช้สารทำความเย็น และเครื่องปรับอากาศที่ทำจากแอมโมเนีย แทนการใช้สารฟรีออน ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน และทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เป็นเรือสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่มีระบบขับเคลื่อนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปรุงอุปกรณ์ดำเนินการของกรีนพีซ โดยเพิ่มลานจอดเฮลิคอปเตอร์ รวมถึงเครนพิเศษสำหรับยกเรือเพื่อใช้ปล่อยเรือสูบลมลงน้ำมีห้องนอน : 33 ห้อง เรือเล็ก : เรือท้องแข็งใหญ่ 2 ลำ เรือสูบลม 4 ลำ ที่จอดเฮลิคอปเตอร์
 
การเดินทางมาประเทศไทยของเรือเอสเพอรันซาในครั้งนี้ เราตั้งความหวังเอาไว้ว่า จะสร้างความตื่นตัวให้สังคมไทย โดยการสื่อสาร และรณรงค์สาธารณะให้เห็นถึงคุณค่า และความสำคัญของทะเล ประเด็นปัญหาคุกคาม แนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องผ่านการมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วน และความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการปกป้องอนุรักษ์ และกู้วิกฤตทะเลไทย จะทำงานร่วมกับชุมชนริมชายฝั่งทะเล และชุมชนประมงพื้นบ้านในการบอกเล่าถึงปัญหาภัยคุกคามต่อทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อวิถีชีวิต และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐและสังคม จะเปิดโปงวิธีทำประมงแบบทำลายล้างที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล วิถีชีวิตของชุมชนริมชายฝั่งทะเล และประชาชนคนไทย จะผลักดันเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับปรุง “กฎหมายเกี่ยวกับการประมง และการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤตทะเลไทยอย่างยั่งยืน รอพบกับนักรบแห่งความหวัง Esperanza ได้กลางเดือนหน้านี้ครับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น