ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - โครงการชลประทานสงขลา ออกรณรงค์ให้ความรู้ในการทำน้ำหยดจากวัสดุเหลือใช้แก่ประชาชนและเกษตรกร หวังช่วยประหยัดน้ำ สะดวกในการให้ปุ๋ยน้ำ โดยเฉพาะไม้กระถางที่อยู่ในอาคาร เผยต้นทุนเพียงชิ้นละ 8 บาท
โครงการชลประทานสงขลา สำนักชลประทานที่ 16 ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกให้ความรู้ และสาธิตการทำน้ำหยดจากวัสดุเหลือใช้แก่ประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลา โดยได้รับความสนใจจากประชาชน และเกษตรกรเป็นจำนวนมาก มาทำน้ำหยดจากวัสดุเหลือใช้ด้วยตนเอง และนำไปถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้าน และเกษตรกรในแต่ละพื้นที่
สำหรับการทำระบบน้ำหยดจากวัสดุเหลือใช้ วัสดุที่ใช้ในการทำระบบน้ำหยด ประกอบด้วย ขวดน้ำพลาสติก หรือขวดน้ำอัดลม สายออกซิเจนที่ใช้สำหรับตู้ปลา หลอดลูกโป่ง ลวดสี่ทางออกซิเจน (ที่ใช้สำหรับตู้ปลา) โฟมเหลือใช้ ทำเป็นทุ่น มีด ปืนกาว และกาวแท่ง
ขั้นตอนในการทำ เริ่มจากตัดหลอดลูกโป่งความยาวประมาณ 5 ซม. นำลวดมาตัดให้เป็นรูป ป.ปลา และรูปเส้นตรง ม้วนที่ปลายให้เป็นรูปห่วงเล็กๆ ยาวประมาณ 20 ซม. เจาะขวดน้ำด้านข้างให้เป็นช่องเพื่อนำโฟมซึ่งใช้เป็นทุ่นใส่ลงไปในขวด และเป็นช่องสำหรับใส่น้ำ ใส่โฟมที่ใช้เป็นทุ่นลงไปในขวดน้ำ นำลวดยาวประมาณ 20 ซม.มาดัดปลายด้านหนึ่งเป็นห่วงเล็กๆ อีกด้านหนึ่งทำให้แหลมเพื่อเสียบเป็นแกนบังคับ
หลังจากนั้น นำลวดที่ดัดเป็นรูป ป.ปลา ด้านสั้นใส่ลงไปตรงรูที่ฝาขวด แล้วเสียบเข้ากับโฟมเพื่อเป็นทุ่น ด้านยาวไว้สำหรับสวมสี่ทางเพื่อให้น้ำหยด นำสี่ทางเสียบเข้ากับลวดด้านที่อยู่นอกขวด และเสียบสายออกซิเจนเพื่อเป็นตัวควบคุมปริมารการหยดของน้ำ นำปืนกาวยิงที่รอยเจาะรู สำหรับสอดสายยางตรงก้นขวดเพื่อป้องกันน้ำรั่ว นำปืนกาวมายิงที่สี่ทางปิดรูอีกข้าง เพื่อบังคับน้ำให้ไหลด้านเดียว จากนั้นนำขวดที่ทำเสร็จแล้วไปแขวนกับต้นไม้ได้ตามต้องการ สำหรับราคาค่าวัสดุทำระบบน้ำหยดจากวัสดุเหลือใช้ ชิ้นละประมาณ 8 บาท
นายจำนงค์ เพชรจำรัส เจ้าหน้าที่โครงการชลประทานสงขลา กล่าวว่า ประโยชน์จากการทำระบบน้ำหยดจากวัสดุเหลือใช้ ช่วยในการประหยัดน้ำ สะดวกในการให้ปุ๋ยน้ำ เหมาะสำหรับใช้กับไม้กระถางที่อยู่ในอาคาร ไม้กิ่งตอน ไม้สวยงามประเภทกล้วยไม้ กุหลาบที่ต้องการน้ำระยะยาว