xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้าน-นักเรียนสุราษฎร์ฯ เดือดร้อนหนัก ถนนชำรุดเสียหายสัญจรลำบาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุราษฎร์ธานี - ชาวบ้าน-นักเรียนในพื้นที่บ้านคลองหินแพง จ.สุราษฎร์ธานี เดือดร้อนหนัก ถนนพังเสียหายจากเหตุน้ำป่ากัดเซาะ รถยนต์ไม่สามารถผ่านได้ ต้องใช้รถจักรยานยนต์ขนพืชผลทางเกษตรออกสู่ตลาดแต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบากส่งผลเดือดร้อนอย่างหนัก

นางจุฑาภรณ์ ช่วยจิต นายทวีป ศรีโชติ 2 สมาชิกเทศบาลตำบลบ้านส้อง และ นายสมจิตร หนูสีดา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 พร้อมด้วยชาวบ้านจำนวนหนึ่งพาผู้สื่อข่าวเข้าดูสภาพถนนเข้าบ้านคลองหินแพง หมู่ที่ 2 ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีระยะทางยาวประมาณ 2 กิโลเมตร แต่สภาพเสียหายหนักจากการถูกน้ำกัดเซาะเป็นร่องลึก รถยนต์ไม่สามารถวิ่งผ่านได้ การสัญจรเป็นไปอย่างอยากลำบาก ต้องใช้รถจักรยานยนต์เพียงอย่างเดียวแต่ก็ความเสี่ยงสูง

นางจุฑาภรณ์ กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่กว่า 160 ครัวเรือน ต้องอาศัยถนนเส้นดังกล่าวสัญจรนำพืชผลทางด้านการเกษตรออกไปจำหน่าย แต่ถนนชำรุดเสียหายมากว่า 3 ปี ทางเทศบาลตำบลจะนำเครื่องจักรกลหนักเข้าทำการซ่อมแซมกลับสู่สภาพเดิม แต่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ได้มีคำสั่งห้ามดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ โดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานฯ ซึ่งความจริงแล้วชาวบ้านได้อาศัยทำกินมากว่า 50 ปี อุทยานฯ ได้มาประกาศเขตทับที่ทำกินของชาวบ้านเมื่อปี 2534 ที่ผ่านมา

และก่อนหน้านี้ ถนนเส้นดังกล่าวก็มีการปรับปรุงซ่อมแซมตลอดมาหลายครั้ง แต่มาปัจจุบันกลับไม่ให้มีการปรับปรุง ทำให้ประชาชน และนักเรียนในพื้นที่เดินทางลำบาก หากวันไหนมีฝนตกหนักก็ต้องขาดเรียนได้รับความเดือดร้อนหนัก โดยเฉพาะการขนส่งพืชผลทางด้านการเกษตรออกสู่ตลาดวันละกว่า 20 ตัน จึงขอเรียกร้องให้ทางอุทยานฯ อนุญาตให้มีการปรับปรุงเส้นทางดังกล่าว หากเพิกเฉยพวกตนพร้อมชาวบ้านจะเดินทางเข้าขอความเมตตาจากผู้ว่าราชการจังหวัดหาทางช่วยเหลือต่อไป

ขณะที่นายสมจิตร หนูสีดา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 กล่าวว่า ถนนสายคลองหินแพง ครอบคลุมพื้นที่หมู่ 2 และหมู่ 10 ของ ต.บ้านส้อง มีความยาวประมาณ 7 กิโลเมตร ถนนคลองหินแพงตอนล่าง มีระยะทาง 2 กิโลเมตร พื้นผิวถนนลาดยาง ถนนคลองหินแพงตอนบน มีระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร พื้นผิวถนนเป็นคอนกรีตแล้วประมาณ 1,500 เมตร อีก 3,500 เมตร พื้นถนนเป็นพื้นผิวดิน

ถนนสายคลองหินแพงเส้นทางนี้ชาวบ้านเริ่มใช้สัญจรมาตั้งแต่ พ.ศ.2500 เพื่อใช้บุกเบิกในการจับจองพื้นที่เข้าทำกิน ต่อมา เกิดปัญหาเป็นพื้นที่สีแดงผู้ที่เข้าร่วมพัฒนาชาติไทยได้ใช้เส้นทางนี้ในการลำเลียงเสบียง และการเดินทางจนสิ้นสุด พ.ศ.2527 ผู้นำชุมชนและชาวบ้านได้ร่วมมือกันทำการขุดแต่งให้เดินสะดวกขึ้นเพื่อนำพืชผลผลิตออกสู่ตลาด พ.ศ.2532 มีการนำเครื่องมือหนัก เช่น รถแบ็กโฮ เข้ามาใช้ในพื้นที่ทำให้ได้รับความสะดวกในระยะหนึ่ง

พ.ศ.2549 ทางเทศบาลตำบลบ้านส้อง ได้เข้ามาทำการขุดให้ถนนมีความกว้างมากขึ้น และเมื่อ พ.ศ.2552 ทางเทศบาลตำบลบ้านส้อง และชาวบ้านได้ทำการปรับปรุงให้อีกครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งในการปรับปรุงจะมีระยะเวลาที่ห่างกันหลายปีถนนจึงชำรุดมาก ในระหว่างแต่ละปีชาวบ้านจะเรี่ยไรเงินซื้อปูนซีเมนต์มาราดตามจุดที่โดนน้ำกัดเซาะบ่อยครั้งทำให้เกิดความสิ้นเปลืองมาก

แต่จากการการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2534 เป็นการประกาศที่ไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนที่อยู่อาศัยมาก่อน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 โดยมีเอกสารอ้างอิง ประวัติหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการทับซ้อนบนที่ดินทำกินของราษฎร รวมถึงการสัญจรของชาวบ้าน

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น