โดย...วัชระ เกตุชู ชาวบ้านท่าสะท้อน ครูอาสาโรงเรียนวัดท่าสะท้อน
กระทรวงศึกษาธิการบริหารจัดการศึกษาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าจะได้รับงบประมาณติดอันต้นๆ ของกระทรวงที่งบประมาณสูง เห็นได้จากผลการประเมินที่เห็นได้จากทุกสำนักการประเมินทั้งใน และนอกประเทศ และตัวชี้วัดอีกประการหนึ่งคือ การบริหารโรงเรียนจนมีโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นทุกปี นำไปสู่การยุบโรงเรียนไปแล้วในรอบแรก 3,000 กว่าโรงเรียน และทำท่าจะยุบอีก 7,000 กว่าโรงเร็วๆ นี้ อีกทั้งมีแนวโน้มว่าจะยุบอีก 7,000 กว่าโรงหลังจากนี้ รวมถึงมีแนวโน้มว่าโรงเรียนจะเล็กลงเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่าในอนาคตจะมีโรงเรียนถูกยุบอีก
ปรากฏการณ์นี้สะท้อนการบริหารการศึกษาของกระทรวงศึกษาที่ล้มเหลว และการบริหารที่ล้มเหลวนี้มาจากการบริหารบุคลากรที่ล้มเหลว การบริหารงบประมาณที่ล้มเหลว
ประเด็นแรก การบริหารบุคลากรล้มเหลวทั้งครู และผู้บริหารที่ก่อให้เกิดโรงเรียนขนาดเล็ก สำหรับครูนั้นทั้งไม่มีคุณภาพ ขาดจรรยาบรรณ ขาดสำนึกความเป็นครู ขาดองค์ความรู้ใหม่ ทั้งนี้ อาจมาจากการบริหารที่ส่งผลต่อขวัญ และกำลังใจของครู
สำหรับการผลิตผู้บริหารล้มเหลวคือ การสร้างผู้บริหารที่ไม่มีคุณภาพ ขาดจรรยาบรรณขาดจิตสำนึก และหลงอำนาจ และสิ่งเหล่านี้สามารถสะท้อนถึงคุณลักษณะ และศักยภาพของผู้บริหารระดับสูงด้วยเช่นกัน
ประเด็นต่อมา การบริหารงบประมาณที่ผิดพลาด การบริหารงบประมาณของ สพฐ.เป็นไปในลักษณะควักเอาที่ลุ่มไปพอกที่นูน มันจึงไม่มีวันเรียบเสมอกัน ก่อให้เกิดโรงเรียนที่ขาดก็ยังคงขาด และจะขาดมากขึ้นๆ และโรงเรียนที่เกินก็จะยังคงเกินต่อไป ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมทั้งคุณภาพ และปริมาณ ซึ่งความจริงเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ส่งผลเกิดโรงเรียนขนาดเล็ก
จากประสบการณ์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโรงเรียนวัดท่าสะท้อน ทำให้เห็นทางออกว่า สิ่งที่รัฐควรทำคือ ปลดปล่อยโรงเรียนให้เป็นนิติบุคคลอย่างแท้จริง และศึกษาทดลองรูปแบบใหม่ๆ เช่น
1.แก้ไขระบบการจ่ายงบประมาณ จากการจ่ายรายหัวตามจำนวนนักเรียนในโรงเรียน เปลี่ยนเป็นจ่ายรายหัวตามทะเบียนบ้านที่มีชื่ออยู่ในเขตบริการของโรงเรียนนั้นๆ
2.สร้างการบริหารโรงเรียนแบบคณะบุคคลที่มาจากหลากหลาย และกระบวนการผลิตผู้บริหารที่สร้างสำนึกต่อสังคม และจะต้องฝึกบริหารโรงเรียนขนาดเล็กอย่างน้อย 2 ปี
3.มีกระบวนการพัฒนาครูแบบใหม่ โดยให้งบประมาณในการพัฒนาครูโดยโรงเรียนเอง
ทั้งนี้ การศึกษาทดลองในแต่ละรูปแบบนั้นจะต้องทำในพื้นที่เล็กๆ เช่น กรณีศึกษา 1 อำเภอ พร้อมทั้งทำวิจัยไปพร้อมกัน เพราะหากสำเร็จจะได้นำไปใช้ได้พร้อม ทั้งมีข้อบกพร่องที่จะนำไปปรับปรุง หรือหากไม่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นเพราะเหตุใด มิใช่ว่าว่าใช้วิธียุบควบรวมแบบเดียวกันทั้งประเทศ