xs
xsm
sm
md
lg

ภาครัฐ-เอกชนรวมพลังปลูกหญ้าทะเล อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพิ่มอาหารให้พะยูน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระบี่ - กฟผ.จับมือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ ผู้นำชุมชนบ้านเกาะปู และสื่อมวลชน ร่วมปลูกหญ้าทะเลเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพิ่มที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลหายากโดยเฉพาะพะยูน ณ ชายหาดบ้านเกาะปู จ.กระบี่

นายไกรโชค ผลชีวิน ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ (ชพฟช.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. กระบี่ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้ากระบี่ (อฟภ.) ฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ (อปต.) โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน (หก-ศก.) กองเหมืองกระบี่ (กม-ช.) สื่อมวลชนส่วนกลาง และสื่อมวลชนจังหวัดกระบี่ นายปิยะวัฒน์ พรหมรักษา หัวหน้าฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ นายสุริยะ บุษบงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เกาะศรีบอยา นายสำราญ ระเด่น กำนันตำบลเกาะศรีบอยา เยาวชน และประชาชนในพื้นที่กว่า 100 คน ร่วมกันปลูกหญ้าทะเล ณ บริเวณหาดบ้านเกาะปู ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่

ตามโครงการศึกษาวิจัยการปลูกหญ้าทะเล ของ กฟผ. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศวิทยาอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนหลายชนิด รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารของพันธุ์สัตว์น้ำหายากหลายชนิด เช่น พะยูน และเต่าทะเล

นายไกรโชค ผลชีวิน ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ (ชพฟช.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การปลูกหญ้าทะเลในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ฟื้นฟูหญ้าทะเลตามโครงการศึกษาวิจัยการปลูกหญ้าทะเล ของ กฟผ. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศวิทยา

เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนหลายชนิด รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารของพันธุ์สัตว์น้ำหายากหลายชนิด เช่น พะยูน เต่าทะเล ซึ่งโครงการวิจัยดังกล่าว กฟผ. ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ เป็นผู้ดำเนินการ โดยเริ่มดำเนินการโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 ถึงเดือนสิงหาคม 2556 โดยใช้วิธีการฟื้นฟูหญ้าทะเล 2 แบบ คือ แบบแยกกอ และแบบเพาะเม็ด โดยกำหนดให้มีการปลูกหญ้าทะเลท้องถิ่น จำนวน 3 ชนิด คือ หญ้าใบมะกรูด หญ้าชะเงาเต่า และหญ้าคาทะเล โดยปลูกรวม 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 26 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา ครั้งที่ 2 วันที่ 10 พฤษภาคม 2556 และครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2556 ในพื้นที่บริเวณหาดบ้านเกาะปู ต.เกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่

ซึ่งการปลูกครั้งที่ 1 นี้ กฟผ.ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานของ กฟผ.ในพื้นที่ภาคใต้ และชุมชนในพื้นที่ และสื่อมวลชนทุกสาขา โครงการนี้นอกจากจะเป็นการฟื้นฟู และอนุรักษ์แหล่งอาหารของสัตว์ทะเลแล้ว ยังเป็นโครงการสำคัญในการสร้างการรับรู้อย่างมีส่วนร่วม โดยการนำผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในพื้นที่ ทั้งผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.ชุมชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน มาทำกิจกรรมร่วมกัน และร่วมกันเรียนรู้เชิงประจักษ์เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง กฟผ. และชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

นายปิยะวัฒน์ พรหมรักษา หัวหน้าฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จเชื่อมั่นว่าหญ้าทะเลที่ กฟผ. ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันปลูกจะเจริญเติบโตจนเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำขนาดใหญ่ต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน และมั่นใจว่า หลังจากการปลูกหญ้าทะเลทั้ง 3 ครั้ง หญ้าทะเลทั้งหมดจะเติบโต และเพิ่มจำนวนมากขึ้นต่อไป โดยชุมชนจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร และเพิ่มจำนวนสัตว์มากขึ้นในอนาคต

 
 




กำลังโหลดความคิดเห็น