นราธิวาส - ครูและผู้ปกครองโรงเรียนบ้านตอหลัง อ.ตากใบ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์โรงเรียนที่จะถูกยุบ ยืนกรานไม่เห็นด้วยกับนโยบายการยุบรวมโรงเรียน เพราะมั่นใจว่าเด็กได้รับความรู้เต็มที่ ระบุโรงเรียนเป็นศูนย์รวมใจหนึ่งเดียวของชุมชน การยุบโรงเรียนเสี่ยงต่อการบิดเบือนของผู้ไม่หวังดีเพื่อแย่งชิงมวลชนจากรัฐ
นางอัญญาณี รองสวัสดิ์ ครูโรงเรียนบ้านตอหลัง รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตอหลัง ต.ไพรวัลย์ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แสดงความคิดเห็นจากกรณีที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน ไปเรียนในโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่กว่า ว่า โรงเรียนบ้านตอหลังเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่อยู่ในหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากมีนักเรียนอยู่เพียง 38 คน แต่ตนเองไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เนื่องจากสำหรับประชาชนในหมู่บ้านแห่งนี้ โรงเรียนบ้านตอหลังคือส่วนราชการเดียวของที่นี่ ที่ดินที่ก่อสร้างโรงเรียนก็เป็นของคนในพื้นที่ ทุกกิจกรรมทุกคนจะมารวมตัวกันทำกันภายในรั้วโรงเรียน ทั้งการรดน้ำดำหัวในเทศกาลสงกรานต์ การจัดประชุมของหมู่บ้าน หรือแม้แต่เมื่อมีการจัดการเลือกตั้งก็ใช้สถานที่แห่งนี้ในการดำเนินการจนเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านไปแล้ว
ส่วนตนเองก็เป็นเด็กที่นี่ เรียนและเติบโตมากับโรงเรียนบ้านตอหลัง และสุดท้าย ก็เลือกกลับมาสอนหนังสือที่โรงเรียนแห่งนี้ เพื่อที่จะส่งต่อความรู้ให้แก่บุตรหลานของประชาชนในพื้นที่ต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมีการยุบโรงเรียนก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับตนเอง เนื่องจากสามารถย้ายไปสอนในโรงเรียนที่อยู่ใกล้กันได้ อีกทั้งเป็นการดีที่ไม่ต้องมาแบกภาระรับผิดชอบการบริหารโรงเรียนในฐานะรักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
ดังนั้น การแสดงในความไม่เห็นด้วยจึงไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่มองถึงความรู้สึกของคนส่วนรวมในชุมชน เพราะหากมองว่าจำนวนครู จำนวนงบประมาณน้อย รวมทั้งมีข้อจำกัดหลายด้านที่จะส่งผลต่อคุณภาพทางการศึกษาของเด็ก ตนเองก็ขอยืนยันว่าครูที่สอนอยู่ที่นี่ทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจเต็มที่กับการให้ความรู้แก่นักเรียนเพื่อให้มีความรู้ทัดเทียมกับนักเรียนในโรงเรียนใหญ่ๆ โดยระยะเวลาที่ครูทำการเรียนการสอนในโรงเรียนแห่งนี้ น้อยที่สุดคือ 9 ปี ส่วนตนเองสอนนานที่สุด คือ 19 ปี จึงเป็นความผูกพันระหว่างครู โรงเรียน นักเรียน และชุมชน ที่ไม่อยากให้จางหายไปเพียงเพราะเหตุผลจากการมีนักเรียนไม่ถึง 60 คน
ด้านนางแย้ม พงจุล ประธานกลุ่มปักจักรบ้านตอหลัง ในฐานะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านตอหลัง ก็กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ยอมรับนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กไปรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ เพราะจะกระทบอย่างมากต่อเด็กนักเรียนที่ยากจน ซึ่งอาจไม่สะดวกในการเดินทาง โดยถึงแม้ว่าทางกระทรวงศึกษาธิการอ้างว่าจะมีรถรับส่ง แต่ในชีวิตประจำวันบางครั้งอาจจะเงื่อนไข หรืออุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถไปกลับโรงเรียนได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด
อีกทั้งการอ้างว่า การย้ายไปเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่จะทำให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีกว่าก็ไม่มีอะไรชี้วัดได้ว่า เด็กทุกคนที่ไปเรียนที่อื่นจะเรียนเก่งทั้งหมด โรงเรียนอื่นมีคอมพิวเตอร์ มีอุปกรณ์การเรียนการสอนพร้อม โรงเรียนบ้านตอหลังก็มี อะไรที่ขาดเหลือประชาชนในพื้นที่ก็ช่วยกันจัดหามาให้ สำหรับโรงเรียนบ้านตอหลัง ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ทำการเรียนการสอนมากว่า 60 ปี ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพให้แก่พื้นที่มาแล้วเป็นจำนวนมาก รวมทั้งบุตรของตน จำนวน 2 คน ที่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ ก็สามารถบรรจุเข้ารับราชการแล้วทั้ง 2 คน
ดังนั้น เด็กจะเก่งหรือดีหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ตัวนักเรียนว่ามีความขยัน หรือตั้งใจเรียนมากน้อยเพียงใด รวมถึงการได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ปกครอง การผลักให้เด็กออกห่างไปจากหมู่บ้านจึงไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือสมควรให้การสนับสนุน และไม่อยากให้รังแกประชาชนในพื้นที่หมู่บ้านเล็กๆ โดยการยุบศูนย์รวมใจของชุมชนออกไป เพราะสำหรับบางพื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกบิดเบือนจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี ก็อาจส่งผลต่อมวลชนของรัฐได้
นางอัญญาณี รองสวัสดิ์ ครูโรงเรียนบ้านตอหลัง รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตอหลัง ต.ไพรวัลย์ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แสดงความคิดเห็นจากกรณีที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน ไปเรียนในโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่กว่า ว่า โรงเรียนบ้านตอหลังเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่อยู่ในหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากมีนักเรียนอยู่เพียง 38 คน แต่ตนเองไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เนื่องจากสำหรับประชาชนในหมู่บ้านแห่งนี้ โรงเรียนบ้านตอหลังคือส่วนราชการเดียวของที่นี่ ที่ดินที่ก่อสร้างโรงเรียนก็เป็นของคนในพื้นที่ ทุกกิจกรรมทุกคนจะมารวมตัวกันทำกันภายในรั้วโรงเรียน ทั้งการรดน้ำดำหัวในเทศกาลสงกรานต์ การจัดประชุมของหมู่บ้าน หรือแม้แต่เมื่อมีการจัดการเลือกตั้งก็ใช้สถานที่แห่งนี้ในการดำเนินการจนเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านไปแล้ว
ส่วนตนเองก็เป็นเด็กที่นี่ เรียนและเติบโตมากับโรงเรียนบ้านตอหลัง และสุดท้าย ก็เลือกกลับมาสอนหนังสือที่โรงเรียนแห่งนี้ เพื่อที่จะส่งต่อความรู้ให้แก่บุตรหลานของประชาชนในพื้นที่ต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมีการยุบโรงเรียนก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับตนเอง เนื่องจากสามารถย้ายไปสอนในโรงเรียนที่อยู่ใกล้กันได้ อีกทั้งเป็นการดีที่ไม่ต้องมาแบกภาระรับผิดชอบการบริหารโรงเรียนในฐานะรักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
ดังนั้น การแสดงในความไม่เห็นด้วยจึงไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่มองถึงความรู้สึกของคนส่วนรวมในชุมชน เพราะหากมองว่าจำนวนครู จำนวนงบประมาณน้อย รวมทั้งมีข้อจำกัดหลายด้านที่จะส่งผลต่อคุณภาพทางการศึกษาของเด็ก ตนเองก็ขอยืนยันว่าครูที่สอนอยู่ที่นี่ทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจเต็มที่กับการให้ความรู้แก่นักเรียนเพื่อให้มีความรู้ทัดเทียมกับนักเรียนในโรงเรียนใหญ่ๆ โดยระยะเวลาที่ครูทำการเรียนการสอนในโรงเรียนแห่งนี้ น้อยที่สุดคือ 9 ปี ส่วนตนเองสอนนานที่สุด คือ 19 ปี จึงเป็นความผูกพันระหว่างครู โรงเรียน นักเรียน และชุมชน ที่ไม่อยากให้จางหายไปเพียงเพราะเหตุผลจากการมีนักเรียนไม่ถึง 60 คน
ด้านนางแย้ม พงจุล ประธานกลุ่มปักจักรบ้านตอหลัง ในฐานะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านตอหลัง ก็กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ยอมรับนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กไปรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ เพราะจะกระทบอย่างมากต่อเด็กนักเรียนที่ยากจน ซึ่งอาจไม่สะดวกในการเดินทาง โดยถึงแม้ว่าทางกระทรวงศึกษาธิการอ้างว่าจะมีรถรับส่ง แต่ในชีวิตประจำวันบางครั้งอาจจะเงื่อนไข หรืออุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถไปกลับโรงเรียนได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด
อีกทั้งการอ้างว่า การย้ายไปเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่จะทำให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีกว่าก็ไม่มีอะไรชี้วัดได้ว่า เด็กทุกคนที่ไปเรียนที่อื่นจะเรียนเก่งทั้งหมด โรงเรียนอื่นมีคอมพิวเตอร์ มีอุปกรณ์การเรียนการสอนพร้อม โรงเรียนบ้านตอหลังก็มี อะไรที่ขาดเหลือประชาชนในพื้นที่ก็ช่วยกันจัดหามาให้ สำหรับโรงเรียนบ้านตอหลัง ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ทำการเรียนการสอนมากว่า 60 ปี ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพให้แก่พื้นที่มาแล้วเป็นจำนวนมาก รวมทั้งบุตรของตน จำนวน 2 คน ที่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ ก็สามารถบรรจุเข้ารับราชการแล้วทั้ง 2 คน
ดังนั้น เด็กจะเก่งหรือดีหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ตัวนักเรียนว่ามีความขยัน หรือตั้งใจเรียนมากน้อยเพียงใด รวมถึงการได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ปกครอง การผลักให้เด็กออกห่างไปจากหมู่บ้านจึงไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือสมควรให้การสนับสนุน และไม่อยากให้รังแกประชาชนในพื้นที่หมู่บ้านเล็กๆ โดยการยุบศูนย์รวมใจของชุมชนออกไป เพราะสำหรับบางพื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกบิดเบือนจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี ก็อาจส่งผลต่อมวลชนของรัฐได้