xs
xsm
sm
md
lg

ม.เกษตรกระบี่จับมือ กฟผ. ปลูกพันธุ์หญ้าทะเลเพื่ออนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยพะยูน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระบี่ - ม.เกษตรศาสตร์กระบี่ ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และชาวชุมชนตำบลเกาะศรีบอยา ร่วมปลูกพันธุ์หญ้าทะเล ที่หาดบ้านเกาะปู ต.เกาะศรีบอยา จ.กระบี่ เพื่อเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน สัตว์ทะเลหายาก

วันนี้ (27 เม.ย.) ที่บริเวณหาดกลางทะเล ห่างจาก ม.2 ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ นายมนัส แสงเดช วิทยากรระดับ 11 ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์โครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายปิยะวัฒน์ พรหมรักษา หัวหน้าฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ พร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่บ้านเกาะปู นำต้นกล้าหญ้าทะเลที่เพาะพันธุ์แล้วกว่า 13,000 ต้น ไปปลูกในบริเวณดังกล่าวในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ เพื่อเพิ่มปริมาณหญ้าทะเล โดยมีชาวบ้านในพื้นที่ และเยาวชนเข้าร่วมกว่า 100 คน

นายปิยะวัฒน์ พรหมรักษา หัวหน้าฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ กล่าวว่า แหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ จ.กระบี่ เป็นแหล่งหญ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งที่เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด โดยเฉพาะพะยูน สัตว์สงวนที่เลี้ยงลูกด้วยนมที่กำลังจะสูญพันธุ์ และหอยชักตีน ซึ่งเป็นอาหารทะเลที่ขึ้นชื่อของจังหวัดกระบี่ ทางศูนย์วิทยาศาสตร์บริการ ม.เกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ จึงได้ร่วมกับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และชาวบ้านในพื้นที่ ต.เกาะศรีบอยา ได้จัดทำโครงการวิจัยปลูกหญ้าทะเลขึ้น

เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาศัย และสัตว์น้ำวัยอ่อนหลากหลายชนิด และให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล สิ่งสำคัญคือ ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัย ซึ่งถือเป็นแห่งแรกที่มีการปลูกหญ้าทะเลเพื่อให้เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด สำหรับโครงการวิจัยนี้ได้ใช้วิธีการ 2 แบบในการฟื้นฟูหญ้าทะเล โดยแบบแรกคือ การแยกกอ และแบบที่ 2 คือ การนำเมล็ดของหญ้าทะเลมาเพาะเลี้ยงแล้วนำไปปลูก

ซึ่งมีหญ้าทะเลที่ดำเนินการปลูกในครั้งนี้ จำนวน 3 ชนิด คือ หญ้าใบมะกรูด หญ้าชะเงาเต่า และหญ้าคาทะเล โดยมีการปลูกโดยใช้เมล็ด จำนวน 13,346 ต้น และแยกกอจำนวน 13,597 ต้น ซึ่งหลังจากเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ก็จะเป็นการศึกษาถึงการเติบโตของหญ้าทะเลดังกล่าว

ด้าน นายมนัส แสงเดช วิทยากรระดับ 11 ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์โครงการ กฟผ. กล่าวว่า การไฟฟ้าฯ ได้มองเห็นความสำคัญของหญ้าทะเล จึงได้ส่งเสริมโดยจัดทำเป็นโครงการ ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ เพื่อให้ชาวบ้าน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องได้มีจิตสำนึก และเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน และความสำคัญของหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด และหลังจากปลูกเสร็จแล้วจำนวนรวมกว่า 5 แปลง ก็จะเป็นการเฝ้าติดตามถึงการเติบโต ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเข้าร่วมในโครงการนี้ก็จะมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหลือจากการวิจัยไว้ดำเนินการในอนาคตด้วย

 
 



กำลังโหลดความคิดเห็น