นครศรีธรรมราช - กรมชลประทาน พร้อมดันโครงการยักษ์บรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช หากมีแรงหนุนจากประชาชน ขณะที่ ส.ส.เขต 2 พร้อมผลักดันให้ตั้งงบประมาณปี 58 หลังประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่
นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเข้าร่วมประชุม โดยมี นายโสภณ ธรรมรักษา วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมโยธา ด้านควบคุมการก่อสร้าง และจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงความเป็นมาของโครงการ ตลอดจนผลได้ผลเสีย และขั้นตอนในการดำเนินโครงการ
นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การศึกษาแก้ไขปัญหาขอให้ครอบคลุมทั้งอุทกภัย และภัยแล้งควบคู่กันไป และจะโยนความรับผิดชอบให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดคงไม่ได้ แต่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการกัน เหมือนอย่างที่เคยแก้ไขปัญหาอุทกภัยเมื่อกลางปี 2554 และปัญหาภัยแล้ง และไฟป่าพรุควนเคร็งเมื่อปลายปี 2555 หากทุกฝ่ายช่วยกันการแก้ไขปัญหาก็จะลุล่วงไปได้ด้วยดี
ขณะที่ นายยรรยง โกศลกาญจน์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช เริ่มมีการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอุทกภัยที่เกิดจากน้ำปริมาณมากที่ไหลผ่านตัวเมืองนครศรีธรรมราช ไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่ในเขตชุมชน และเขตเศรษฐกิจของเมือง และเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการชลประทาน และเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในช่วงฤดูแล้ง
“สำหรับรูปแบบของโครงการมีแนวคิดที่จะผันน้ำส่วนเกินออกสู่ทะเลอ่าวไทยพร้อมกักเก็บน้ำ และป้องกันน้ำเค็มหนุนในช่วงฤดูแล้ง ด้วยการขุดคลองผันน้ำคอนกรีตความกว้างประมาณ 100-165 เมตร ความยาวรวม 17.90 กิโลเมตร พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำ เริ่มจากคลองท่าดีที่บ้านนพเตียน หมู่ที่ 1 ผ่านหมู่ที่ 3 ต.ไชยมนตรี อ.เมือง หมู่ที่ 3 และ 5 ต.นาสาร อ.พระพรหม เชื่อมกับคลองหยวด แล้วไปเชื่อมกับคลองหัวตรุด หมู่ที่ 1 ต.ท่าเรือ ผ่านหมู่ที่ 9 ต.ท่าเรือ อ.เมือง หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 8 ต.บางจาก ไปออกทะเลที่หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 5 ต.บางจาก อ.เมือง
นอกจากนี้ มีการปรับปรุงคลองหยวดความยาว 1.30 กิโลเมตร ปรับปรุงคลองวังวัด ความยาว 5.90 กิโลเมตร ปรับปรุงคลองหัวตรุด ความยาว 11.00 กิโลเมตร พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำ ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว 5 ตำบล คือ ไชยมนตรี ต.ท่าเรือ ต.บางจาก อ.เมือง ต.นาสาร ต.ช้างซ้าย อ.พระพรหม”
ส่วนผู้บริหารท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน และผู้แทนหอการค้าจังหวัดที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ การสนับสนุนแนวความคิดโครงการดังกล่าว แต่มีความเป็นห่วงในเรื่องของการเวนคืนที่ดิน การจ่ายผลอาสินให้แก่ประชาชน จึงต้องการให้คณะทำงานของกรมชลประทานลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ส่วนที่กังวลคือ ประชาชนบางส่วนมีที่ดินทำกินจำกัดไม่อยากสูญเสียที่ดินที่มีอยู่ซึ่งเป็นมรดกตกทอด พร้อมทั้งเป็นห่วงว่าโครงการดังกล่าวเป็นการย้ายน้ำจากเขตเมืองให้ไปท่วมขังในพื้นที่อื่นหรือไม่
ด้าน น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 2 กล่าวว่า พื้นที่โครงการส่วนใหญ่อยู่พื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 2 ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ แต่มีปัญหาเรื่องของการเวนคืนค่าที่ดิน จึงขอให้กรมชลประทานเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อไม่ให้มีการต่อต้าน อย่างไรก็ตาม ควรดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จก่อนเดือนธันวาคมนี้ เพื่อจะได้ตั้งงบประมาณให้ทันในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ซึ่งตนพร้อมผลักดันอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้กรมชลประทานจัดสรรงบประมาณเพื่อขุดลอกคูคลองเดิมสายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้นก่อน
นายโสภณ ธรรมรักษา วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมโยธา ด้านควบคุมการก่อสร้าง ประธานคณะทำงานโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนของโครงการอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเท่านั้น เป็นการปฐมนิเทศโครงการเพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้านและสมบูรณ์ ให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ยังไม่ได้ตั้งเรื่องของบประมาณแต่อย่างใด แต่หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ทางกรมชลประทานจะได้นำข้อมูลไปเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ส่วนที่ประชาชนมีความเป็นห่วงเรื่องการจ่ายค่าเวนคืน และผลอาสินนั้นสิ่งที่กรมชลประทานทำในอันดับแรกคือ การเจรจาซื้อขายที่ดิน โดยแยกเป็น 2 ส่วนคือ ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ และไม่มีเอกสารสิทธิ โดยมีคณะกรรมการระดับจังหวัด และอำเภอในการพิจารณาให้เกิดความเหมาะสม เป็นธรรมมากที่สุด ส่วนสุดท้ายจะใช้วิธีการเวนคืน ทั้งนี้ คณะทำงานจะได้ลงพื้นที่ประชุมกลุ่มย่อยกับประชาชนในอยู่ในโครงการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2556