xs
xsm
sm
md
lg

มั่นใจปริมาณน้ำใน จ.ตราด เพียงพอต่อภาคเกษตร และการอุปโภคบริโภค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชลประทานตราด มั่นใจน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง ป้อนให้เกษตรกร และประชาชนเพื่ออุปโภคบริโภคเพียงพอ ขณะที่เกษตรจังหวัดเผย ความแปรปรวนของอากาศอาจทำผลผลิตออกสู่ตลาดล่าช้า

วันนี้ (26 ม.ค.) นายธเนศ ปลื้มคิด ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตราด เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำเขาระกำ อ่างเก็บน้ำบ้านมะนาว อ่างเก็บน้ำด่านชุมพล อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง อ่างเก็บน้ำวังปลาหมอ และอ่างเก็บน้ำคลองโสน ว่าปัจจุบัน กักเก็บน้ำรวม 118.514 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 84.73 ของความจุรวม 139.88 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าสามารถรับมือกับปัญหาภัยแล้งได้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ชลประทานตราดได้ทยอยระบายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และภาคการเกษตร รวมทั้งรักษาระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลักดันน้ำเค็มไม่ให้เข้ามาสู่พื้นที่เกษตรกรรม

“แม้จะทยอยระบายน้ำออกอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าเมื่อสิ้นฤดูแล้งประมาณปลายเดือนเมษายน ยังจะมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ จากนั้นจะเริ่มกักเก็บน้ำในฤดูฝน หรือประมาณเดือนพฤษภาคม”

นายธเนศ กล่าวว่า จากการที่ จ.ตราด เป็นพื้นที่ลาดชัน บางพื้นที่ไม่มีลำคลอง หรือไม่มีระบบชลประทาน ดังนั้น ทางโครงการจึงมีแผนผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำน้ำคลองโสน โดยใช้ระบบท่อส่งน้ำเติมให้แก่อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กด้านล่าง พร้อมต่อระบบท่อจ่ายน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม

ขณะที่นายมานะ บุญระมี เกษตรจังหวัดตราด กล่าวว่า จากการสำรวจสวนผลไม้ พบว่าาผลผลิตบางส่วนอาจออกสู่ตลาดช้าไปบ้าง เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมที่ผ่านมา หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อการแตกใบอ่อน โดยเฉพาะเงาะ มังคุด และทุเรียน ดังนั้น เกษตรกรจึงควรบำรุงใบจนแก่เพื่อให้ต้นสร้างอาหาร ก่อนที่จะสร้างตาดอกอีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญเกษตรกรควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้น เนื่องจากการสำรวจร้านจำหน่ายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรกร พบว่า ชาวสวนผลไม้ใช้สารเคมีชนิดผงกำจัดแมลงไปแล้วกว่า 2 ตัน และใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดน้ำไปแล้วกว่า 70,000 ลิตร

“หากเกษตรกรใช้สารเคมีจำนวนมาก นอกจากจะสิ้นเปลืองแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร หรือผู้บริโภค และควรหันมาทำสวนผลไม้อินทรีย์ที่ใช้สารตามธรรมชาติป้องกันแมลงศัตรูพืช โดยเกษตรกรสามารถขอข้อมูลได้ที่สำนักเกษตรอำเภอทุกแห่ง”
กำลังโหลดความคิดเห็น