xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเตรียมพร้อมยกระดับยางพาราไทยสู่ศูนย์กลางอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เริ่มแล้วการจัดประชุมวิชาการวันยางพาราอาเซียน มีตัวแทนจาก 10 ประเทศอาเซียน และกลุ่มผู้ซื้อยางรายใหญ่ของโลกร่วมกำหนดทิศทาง และการเติบโตของอุตสาหกรรมยางทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมยกระดับยางพาราไทยก้าวสู่ศูนย์กลางยางพาราในกลุ่ม AEC

วันนี้ (10 เม.ย.) ที่โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ต อาร์คาเดีย รีสอร์ทแอนด์สปา ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จัดงานประชุมวิชาการยางพาราระดับอาเซียนในวันยางพาราอาเซียน (ASEAN RUBBR DAY 2013) ขึ้นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายน 2556 โดยชูประเด็น “ทิศทางและการเติบโตของอุตสาหกรรมยาง” โดยมีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน มี ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และตัวแทนจาก 10 ประเทศอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย เข้าร่วม พร้อมตัวแทนจากกลุ่มผู้ซื้อยางรายใหญ่ของโลกอีก 3 ประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เข้าร่วม

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ทุกๆ วันที่ 10 เม.ย.ของทุกปี มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นวันยางพาราแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและเชิดชูเกียรติพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งยางพาราไทย” และในปีนี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดให้มีวาระพิเศษ และประกาศให้เป็น “บิดาแห่งยางพาราแห่งอาเซียน” หรือ ASEAN RUBBR DAY ขึ้นอีกด้วย พร้อมทั้งจัดให้มีงานประชุมยางนานาชาติ หรืออาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus 2013 Rubber Conference and Exhibition) ขึ้น เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงมีความมุ่งมั่นที่จะให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลก ซึ่งไทยมีวัตถุดิบมากที่สุดในโลก พร้อมจะสนองความต้องการในตลาดโลกได้เป็นอย่างดี อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยยังเป็นผู้นำในด้านการผลิต และส่งออกยางในรูปวัตถุดิบมากที่สุดในตลาดโลก ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

โดยปัจจุบัน ไทยมีผลผลิตยางเฉลี่ยปีละ 3.1-3.6 ล้านตัน ซึ่งเป็นการส่งออกถึง 2.7-3.0 ล้านตันหรือประมาณ 83-88% มีการใช้ในประเทศเพียง 12-14% และส่วนที่เหลือเก็บสต๊อก 7-9% ทั้งนี้ จากตัวเลขการใช้ในประเทศจะเห็นว่า หากภาครัฐมีนโยบายอย่างจริงจังในการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศทั้งในส่วนของการทำถนน และสนับสนุนผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราที่หลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก คาดว่าจะมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพราคายางพาราที่ยั่งยืน อันจะเกิดประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรชาวสวนยาง 1 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 6 ล้านคน

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในหลายประเทศส่งผลให้ราคายางลดลง ประกอบกับไทยกำลังจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ดังนั้น เพื่อเป็นการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางยางพาราโลกอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา และไม้ยางพารา โดยในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแผนที่จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ยางควบคู่กับการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมยางพาราไทยอย่างจริงจัง อีกทั้งยังได้มีการเสนอให้หน่วยงานของภาครัฐ ได้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพารามากขึ้น พร้อมทั้งเตรียมผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ผลิตยางในอาเซียน เพื่อร่วมกันศึกษาผลกระทบ การปรับตัว และการใช้ประโยชน์จากนโยบายการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลอดจนกำหนดแนวทางการเร่งรัดให้ไทยเป็นศูนย์กลางเรื่องยางระหว่างประเทศของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคา และทิศทางของตลาดยางในอนาคตต่อไป ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านยาง การเพิ่มผลผลิต สนับสนุนด้านการตลาด เพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ส่งเสริมการใช้ยางในประเทศมากขึ้น ลดการส่งออกวัตถุดิบยางไปยังตลาดต่างประเทศ และเพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทยให้มากขึ้น

ตามยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ.2552-2556 ซึ่งได้มีการกำหนดกลยุทธ์หลักในการดำเนินการ 8 กลยุทธ์ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพยางที่เป็นวัตถุดิบ, การพัฒนาระบบตลาดยางในประเทศและต่างประเทศ, การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมแปรรูปยาง ผลิตภัณฑ์และไม้ยางพารา, การปรับปรุงระบบบริหารจัดการภาครัฐ, ผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน, การสนับสนุนการวิจัย, เสริมรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง และการพัฒนาบุคลากร โดยเป้าหมายที่คาดว่าจะได้รับหลังจากสิ้นสุดแผนในปี 2556 แล้ว คือ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพาราภายในประเทศต่อหน่วยพื้นที่ไปอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศขึ้นอีกร้อยละ 46 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติมากขึ้น สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยาง จาก 178,935 ล้านบาท ในปี 2551 เป็น 230,000 ล้านบาท ในปี 2556 และที่สำคัญ เกษตรกรจะมีรายได้จากการทำสวนยางไม่น้อยกว่าปีละ 15,000 บาทต่อไร่ พร้อมทั้งเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยางจะมีสวัสดิการสังคมที่ดีด้วย

ในปีนี้ 2556 นี้ คาดว่าราคายางจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลสืบเนื่องจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล ประกอบกับเศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้ยางธรรมชาติ แทนการใช้ยางสงเคราะห์มีมากขึ้นด้วย ประกอบกับภาครัฐได้มีนโยบายในการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ และเพิ่มมูลค่ายางพารา การส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพารา การศึกษาวิจัย ตลอดจนการเจรจาร่วมลงทุนกับต่างประเทศ เช่น ประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในการพัฒนา Rubby City เพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศที่สามารถกำหนดราคายางพาราในภูมิภาค และที่สำคัญในเวทีการประชุมยางพาราอาเซียนครั้งนี้ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรก คาดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติ และสมาชิกในกลุ่มอาเซียนในการเตรียมความพร้อมให้วงการยางพาราเข้มแข็งอย่างยั่งยืนเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนต่อไปในเร็วๆ นี้” นายยุทธพงศ์ กล่าวในที่สุด

 
 






กำลังโหลดความคิดเห็น