xs
xsm
sm
md
lg

กม.เหล้า 5 ปี ไม่ครอบคลุมขายน้ำเมารอบสถานศึกษา-ร้านค้ารู้ทันเลี่ยงกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสวนา 5 ปี กม.เหล้า “หมอสมาน” ชี้กฎหมายดีแต่ไม่บังคับใช้ก็ไร้ค่า จี้ คกก.เหล้าระดับจังหวัดเข้มบังคับใช้กฎหมาย ย้ำ สสจ.ปูพรมตรวจโลโก้เหล้า เมื่อพบแจ้งความได้เลย ด้านนักวิชาการเผยจุดอ่อน กม.เหล้า ไม่ครอบคลุมการขายเหล้ารอบสถานศึกษาและการอนุญาตขาย อึ้ง! ร้านค้าปลีกเริ่มรู้ทัน แถมมีบริษัทน้ำเมาให้ท้ายช่วยหลีกเลี่ยงกฎหมาย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (14 ก.พ.) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการเสวนา “ 5 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ในงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 7 ว่า เดิมทีการออก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นต้องการที่จะควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับขั้นการผลิต นำเข้า และการขาย แต่กระทรวงการคลังขอเป็นผู้ดำเนินการดูแลเอง ทำให้สุดท้ายการออกกฎหมายฉบับดังกล่าวสามารถควบคุมได้เพียงแค่การโฆษณา และการจัดระเบียบการขาย ทั้งในแง่ของเวลาและสถานที่เป็นหลักเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือไม่ว่าจะออกกฎหมายมาดีอย่างไร แต่หากไม่มีการบังคับใช้ก็ไม่มีความหมาย ดังนั้น จึงอยากให้ คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานนั้น ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจัง

นพ.สมาน กล่าวอีกว่า ส่วนกรณี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ได้ทำหนังสือเวียนแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ที่มีการแสดงสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.เป็นต้นไปนั้น หากร้านใดมีความผิดคือพบสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนป้ายหรือสินค้าชนิดใดก็ตาม ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเข้าข่ายการโฆษณา สามารถแจ้งความดำเนินคดีทันที แต่หากไม่แน่ใจสามารถรวบรวมหลักฐานส่งมายัง สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะดำเนินการแจ้งความให้ ทั้งนี้หากสสจ.ใดไม่ทราบขั้นตอน หรือรายละเอียดในการแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ตนได้แนบแบบฟอร์มการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ทำผิดกรณีดังกล่าว พร้อมทั้งระบุฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แจ้งไปยัง สสจ.พร้อมกับหนังสือของ ปลัดสธ.ด้วยแล้ว

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มี 2 เรื่องคือ 1.ไม่มีการควบคุมการขายเหล้ารอบสถานศึกษา มีแต่ภายในสถานศึกษาเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันยังมีร้านเหล้าจำนวนมากเปิดอยู่รอบสถานศึกษา และ 2.ไม่มีการควบคุมการอนุญาตขายเหล้า ซึ่งเรื่องนี้อยู่ใน พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 แต่กฎหมายดังกล่าวยังมีจุดอ่อน คือโทษของผู้ขายเหล้าโดยไม่มีใบอนุญาตมีโทษปรับเพียง 500 บาท เท่านั้น ทำให้เมื่อตรวจจับร้านค้าที่ทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซ้ำซากจนถอนใบอนุญาตแล้ว ร้านค้าก็ยังเดินหน้าขายเหล้าต่อไป เพราะโทษเบาคือปรับเพียง 500 บาท ดังนั้น จึงควรปรับแก้โทษจากการขายเหล้าโดยไม่มีใบอนุญาต ใน พ.ร.บ.สุรา ให้มีโทษที่รุนแรงขึ้น คือถึงขั้นติดคุกหรือเพิ่มโทษปรับให้มากขึ้น

ด้าน นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า จากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาจนครบ 5 ปีแล้วนั้น ไม่คิดว่าจะเกิดผลมากขนาดนี้ ซึ่งจากการดำเนินงานมาตลอด 5 ปีนั้น ทำให้ได้รับบทเรียน 5 เรื่องด้วยกัน คือ 1.องค์กรรณรงค์งดเหล้ามีประสบการณ์การเฝ้าระวังมากขึ้น แต่มีหลายแห่งยังเฝ้าระวังไม่เข้มแข็ง 2.ภาครัฐ ทั้งฝ่ายนโยบายรับทราบและฝ่ายปฏิบัติหลายแห่ง ไม่เห็นประโยชน์ของการแก้ปัญหาเหล้าหรือบางแห่งยังได้ประโยชน์จากบริษัทเหล้าอยู่ 3.จำนวนประชาชนรู้เกี่ยวกับปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น แต่ยังขาดการตระหนักและทำตาม 4.ร้านค้าปลีกรู้จักกฎหมายเหล้ามากขึ้น และมีบริษัทเหล้าให้ท้าย ทำให้หลีกเลี่ยงกฎหมายได้ และ 5.บริษัทเหล้าขนาดใหญ่ทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำ CSR การเป็นสปอนเซอร์ การโฆษณา ลดแลกแจกแถม โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายและการบังคับใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น