ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อ.สทิงพระ จ.สงขลา ชาวสวนตาลโตนดปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บลูกตาล จากการใช้คนขึ้นไปเก็บลูกตาลเปลี่ยนมาใช้ไม้สอยแบบเหล็กแป๊บแทนคน เพื่อให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ในขณะนี้ ชาวสวนตาลโตนดในพื้นที่ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา หันมาใช้ไม้สอยกันเป็นส่วนใหญ่ในการเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำลูกตาลไปทำการเฉาะส่งขายให้แก่แม่ค้า
อ.สทิงพระ จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีต้นตาลโตนดปลูกมากที่สุดในประเทศไทย ในช่วงนี้เป็นฤดูกาลของตาลโหนด ที่ อ.สทิงพระ เริ่มเดือน ม.ค.-ก.ย. ของทุกปี ในเดือน เม.ย.จะเป็นช่วงมีผลผลิต และน้ำตาลออกมากที่สุด ทำให้เกษตรกรชาวสวนตาลเร่งเก็บผลผลิตออกขาย โดยชาวสวนตาลโตนดปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บลูกตาล จากเดิมจะใช้คนขึ้นไปเก็บลูกตาล ก็เปลี่ยนมาใช้ไม้สอยแบบเหล็กแป๊บแทนคนเพื่อให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น
ในขณะนี้ ชาวสวนตาลโตนดในพื้นที่ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา คือ อ.ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และสิงหนคร หันมาใช้ไม้สอยกันเป็นส่วนใหญ่ในการเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำลูกตาลไปทำการเฉาะส่งขายให้แก่แม่ค้า โดยไม้สอยแบบเหล็กแป๊บใช้แป๊บเหล็กขนาด 2 นิ้ว ความยาว 8 เมตร และ 7 เมตร ต่อกันให้มีความยาวประมาณ 15 เมตร และใช้มีดตะขอเหล็กเชื่อมต่อกับเหล็กแป๊บ ยาว 1 เมตร ใช้สวมในแป๊บ 2 นิ้ว เพื่อปรับความสูงของมีดตะขอให้พอดีกับความสูงของต้นตาลซึ่งจะมีนอตล็อกได้
นายพิฑูรย์ แซ่เจ่น อายุ 35 ปี เกษตรกรชาวสวนตาล ต.กระดังงา อ.สทิงพระ จ.สงขลา เปิดเผยว่า ไม้สอยลูกตาลจะสามารถสอยลูกตาลได้รวดเร็วกว่าใช้คนขึ้น ได้ปริมาณมากกว่า วันหนึ่งสอยได้หลายต้น ที่สำคัญมีความทนทานกว่าไม้ไผ่ ตอนนี้ชาวสวนตาลโตนดหันมาใช้ไม้สอยแบบเหล็กกันหมดแล้ว เมื่อเปรียบเทียนกับใช้คนขึ้นเก็บลูกตาล ใช้ไม้สอยจะเร็วกว่า หากใช้คนขึ้นก็เหนื่อย วันหนึ่งสามารถสอยได้ 20-30 ต้น ไม้สอยเหล็กแป๊บตกราคาอันละ 4,000 บาท ถึง 4,500 บาท