ปัตตานี - คณะกรรมการอำนวยการเสริมสร้างความยุติธรรม ประชุมเสวนาระดมความคิดเห็นต่อการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ระบุหัวใจหลักคือ “การยอมรับฟังความเห็นต่างที่ไม่ใช่ความรุนแรง” ชี้ความรุนแรงจะยุติได้ด้วยเจรจาเท่านั้น แต่คงต้องใช้เวลา เพราะจะต้องสร้างความเชื่อมั่น และไว้วางใจระหว่างกัน
วันนี้ (7 มี.ค.) พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เดินทางไปร่วมประชุมเสวนาคณะกรรมการอำนวยการเสริมสร้างความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมีคณะกรรมการอำนวยการเสริมสร้างความยุติธรรม หัวหน้าส่วนราชการ และผู้บังคับหน่วยในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 100 คน
คณะกรรมการอำนวยการเสริมสร้างความยุติธรรม เป็นการรวมกลุ่มของแกนนำทางความคิด ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากสังคมอย่างกว้างขวางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในการระดมแนวความคิดเพื่อแสวงหาทางออกจากปัญหาความขัดแย้งมาโดยตลอด และข้อเสนอแนะหลายๆ อย่างได้ถูกนำมากำหนดเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบาย สานใจ สู่สันติ ซึ่งมีหัวใจสำคัญที่เป็นแก่นแท้ คือ “การยอมรับฟังความเห็นต่างที่ไม่ใช่ความรุนแรง” ทำให้เสริมสร้างความเข้าใจกับผู้ที่มีความเห็นต่าง ประกาศยุติการต่อสู่ด้วยความรุนแรง และอำนวยความสะดวกให้คนกลับบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ
การจัดเสวนาในครั้งนี้ ได้ปรึกษาหารือระดมความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะในประเด็นแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันภายใต้มิติความหลากหลาย ภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้ ในการนี้ คณะกรรมการเสริมสร้างความยุติธรรมเห็นด้วยกับการลงนามในประกาศเจตจำนงร่วมกันระหว่าง เลขาธิการ สมช. กับผู้แทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น ว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่รัฐแสดงออกถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา แต่คงต้องใช้เวลา เพราะจะต้องเชื่อมั่น และไว้วางใจระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับองค์กรนำ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องพูดคุยกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งควรพูดคุยกับระดับปฏิบัติการในพื้นที่ควบคู่กันไปด้วย โดยคณะกรรมการอำนวยการเสริมสร้างความยุติธรรมมีความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาความรุนแรงจะยุติได้ด้วยเจรจาเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะว่าทุกคนไม่อยากหนี อยากกลับบ้าน รัฐจึงต้องมีความตั้งใจจริง และจริงใจอย่างบริสุทธิ์ใจในการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ด้วยการสร้างอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีศักดิ์ศรี ในฐานะพลเมืองไทย
ด้านผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต้องมาจากความเข้าใจ โดยมีเป้าหมายเพื่อความสงบสุขมาใช้ชี้วัดได้ปกติภายใต้รัฐธรรมนูญ และพร้อมสนับสนุนการต่อสู้ในแนวทางสันติ เพื่อนำสันติสุขคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป