ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ ลงพื้นที่สำรวจ และให้ความรู้ พร้อมแนะนำแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องโรคพืชให้แก่เกษตรกร ใน 6 อำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช
รศ.ดร.วาริน อินทนา หัวหน้าหน่วยวิจัยไม้ผลเขตร้อน สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เปิดเผยว่า เนื่องจากในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช เกษตรกรมีการปลูกไม้ยางพารา ไม้ผล และพืชเศรษฐกิจกันจำนวนมาก แต่เกษตรกรยังพบปัญหาการระบาดของเชื้อราโรคพืชต่างๆ จนทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก และเพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ทางทีมงานหน่วยวิจัยไม้ผลเขตร้อนจึงได้ร่วมมือกับคลินิกเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ ลงพื้นที่สำรวจ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโรคพืชให้แก่เกษตรกร
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ใน 6 อำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ อ.ท่าศาลา อ.นบพิตำ อ.ลานสกา อ.ปากพนัง อ.ทุ่งสง และ อ.หัวไทร พบว่า โรคพืชที่พบในพื้นที่ต่างๆ แตกต่างกันไป โดยในพื้นที่ที่มีการปลูกยางพารากันมาก เช่น อ.ท่าศาลา อ.นบพิตำ อ.ลานสกา และ อ.ทุ่งสง จะพบปัญหาโรครากขาว (white root disease) ในต้นยางพารา ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Rigidoporus microporus มีผลทำให้ต้นยางพารามีอาการใบเหลืองซีด หากโรครุนแรงใบจะร่วง กิ่งแห้งตาย และอาจส่งผลให้ต้นยางยืนต้นตายได้
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขด้วยวิธีการฉีดสารเคมีในสวนยางพาราจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากเชื้อโรคดังกล่าวอาศัยอยู่ในดิน แต่วิธีการใช้เชื้อจุลินทรีย์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.) ฉีดพ่นบนต้นยางพารา และในดิน ทำให้เกิดกลไกการต่อสู้กับเชื้อราโรคพืชที่อยู่ในดินจะได้ผลดีกว่า ถึงแม้จะได้ผลช้า แต่ถือเป็นวิธีการที่ยั่งยืน
ในส่วนของไม้ผล และพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ เช่น ทุเรียน มังคุด มะนาว และส้มโอ จะพบโรครากเน่าโคนเน่า (root and stem rot) ที่เกิดจากเชื้อรา Phytophthora spp. ซึ่งเชื้อราชนิดนี้ถือว่าอันตรายอย่างมากต่อกลุ่มไม้ผล และไม้ยืนต้น เพราะสามารถทำให้ต้นพืชที่โตแล้วยืนต้นตาย นอกจากนี้ ยังพบปัญหาโรคกุ้งแห้งในพริกชี้ฟ้า ส่งผลให้ผลของพริกเป็นแผล มีสีดำ และร่วง สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อำเภอหัวไทรอย่างมากเช่นกัน
รศ.ดร.วาริน กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากการลงพื้นที่สำรวจโรคพืชแล้ว ยังมีการให้ความรู้ในหัวข้อการผลิตพืชต้นทุนต่ำ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค การฟื้นฟูต้นพืชหลังภาวะน้ำท่วมขัง การเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่สะดวก และประหยัดเพื่อควบคุมโรคพืช ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรรวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน โดยหลังจากนี้อีกประมาณ 2 เดือนจะมีการติดตามผลว่า เกษตรกรนำความรู้ไปใช้จริงหรือไม่ และได้ผลอย่างไร
ทั้งนี้ หากเกษตรกรท่านใดประสบปัญหาด้านโรคพืช หรือการปลูกพืช สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยวิจัยไม้ผลเขตร้อน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หมายเลขโทรศัพท์ 0-7567-3523 ในวัน และเวลาราชการ