โดย...อ.นิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา
ติดตามข่าวนายกฯ เดินทางไปมาเลเซีย ข้อมูลว่า นายกฯ ไทยพบนายกฯ มาเลย์ นาจิบ ราซะก์ และเลขาธิการสภาความมั่นคงไทย พบ นายฮาซัน ตอยิบ แกนนำพูโล และอยู่ในกลุ่ม BRN โคออร์ดิเนต
การไปทำข้อตกลงกับผู้แทนผู้นำขบวนการพูโล โดยไม่ชัดเจนว่า ใครคือประธานมีอำนาจระหว่าง นายกัสตูรี มะห์โกตา / นายนูร อับดุลเราะห์มาน (Nur Abdurrahman) แห่ง “สภาผู้นำอาวุโสพูโล” หรือดีเอสพีพี / นายลุกมัน บินลิมา / นายฮาซัน ตอยิบ / ...? และ
องค์กรใดมีอำนาจสูงระหว่าง BRN (ที่มีมากกว่าหนึ่งกลุ่มคือ BRN คองเกรส / BRN โคออร์ดิเนต / BRN อูลามา), PULO, GMIP, BNPP และ BERSATU
บุคคลสำคัญของขบวนการ ทั้งในอดีตเสียชีวิตไปแล้ว มีบารมี มีอำนาจหรือไม่เพียงใด และที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันมีอำนาจบทบาทเพียงใด ได้แก่ นายตนกู บีรา (วีรา) โกตานีลา หรือกาบีร์ อับดุล เราะฮ์มาน หรือ อดุลย์ ณ วังคราม, นายหะยียูโซะ ปากีสถาน, หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ, นายฮารง มูเล็ง หรือ ดร.ฮารง อเมริกา, หะยีฮาดี บินรอซาลี, นายลุกมาน บินลีมา ที่มีฐานเคลื่อนไหวในสวีเดน แยกเป็นพูโลเก่า พูโลใหม่ ต่อมา เป็นพูโลผสม มี นายกัสตูรี มะห์โกตา ในสวีเดนเป็นโฆษก และกลุ่มผู้สนับสนุนองค์กรต่างๆ คือ กลุ่มนักศึกษาในประเทศมาเลเซีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศอาหรับประเทศต่างๆ
ดังกล่าวข้างต้นนั้น มีข้อคิด และได้สานสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง?
ข่าวกรองทางทหารได้เผยแพร่เป็นที่ทราบกันทั่วไป ระบุว่า ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เกิดจากปฏิบัติการของขบวนการ PULO, BRN คองเกรส / BRNโคออร์ดิเนต / BRN อูลามา, GMIP และ BERSATU ที่มีเป้าหมายเพื่อการสถาปนา “รัฐอิสลามแห่งปาตานี” ขึ้นให้ได้ภายในปี พ.ศ.2551
และมีข่าวต่อมาทันทีว่า PULO หนุนข้อตกลงสร้างสันติภาพ แถลงการณ์หลังบีอาร์เอ็นฯ เซ็นข้อตกลงเปิดทาง “Peace talk” คาดหวังจะเข้าร่วมพบปะรัฐไทย เจรจายุติความรุนแรง เป็นแถลงการณ์เผยแพร่ในเว็บไซด์ WWW.puloinfo.net ใช้ 3 ภาษาคือ อังกฤษ มลายู ไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เวลา 15.00 น.
เนื้อหาในแถลงข่าวดังกล่าว กล่าวแสดงความยินดีต่อการเซ็นสัญญาข้อตกลงระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับตัวแทนบีอาร์เอ็นฯ
ปฏิกิริยาของ PULO ในครั้งนี้ เป็นการแสดงความยินดีของ PULO และแสดงจุดยืนที่จะเข้าทีมเจรจากับรัฐไทย เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
“เราจะตอบสนองด้วยการแต่งตั้งผู้แทนที่ถูกต้องเช่นกัน ต่อการมีส่วนร่วมในการเจรจาด้วยความจริงใจ เพื่อสันติภาพ”
เป็นข้อความที่ระบุในแถลงการณ์ แสดงจุดยืนหลังจากที่บีอาร์เอ็นฯ ได้เซ็นสัญญาข้อตกลงไปแล้ว
มีเหตุการณ์รุนแรงตามมา หลังการเจรจา และลงนามความร่วมมือระดับนายกฯ หลายข้อ หลายประการ และลงนามระดับเลขาธิการสำนักฯ
เหตุการณ์คาร์บอมบ์ และจักรยานยนต์บอมบ์ที่นราธิวาส บาดเจ็บล้มตายทั้งชาวบ้านและ จนท.ฉก.33 ที่มารักษาความปลอดภัย ยิง ผญบ.เสียชีวิตที่ปัตตานี จักรยานยนต์บอมบ์ที่ยะลา อาสาสมัครทหารพรานเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 6 คน ชาวบ้านบาดเจ็บ 6 คน
เหตุการณ์นี้ยังไม่มีการประกาศชัดว่า ต่อต้านการการเจรจาและลงนาม อีกทั้งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า “...เท่าที่เช็กแล้ว ก็เป็นปัญหาในพื้นที่ปกติ”
สำหรับชาวบ้านในพื้นที่เรียกร้องให้รัฐบาล หรือหน่วยงานความมั่นคง เปิดเผยรายละเอียด หรือข้อมูลเกี่ยวกับตัวแทนกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่เจรจาและจะเจรจาด้วย โดยเฉพาะ นายฮัสซัน ตอยิบ หรือนายอาแซ เจ๊ะหลง ที่อ้างว่าเป็นรองเลขาธิการ และหัวหน้าสภาการเมืองของกลุ่มบีอาร์เอ็นฯ เนื่องจากคนที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ไม่มีใครรู้จัก หรือทราบรายละเอียดที่มาที่ไป และให้มีการเปิดเผยว่า รัฐบาลไทยจะได้อะไร มากน้อยแค่ไหน ชาวบ้านได้อะไร เสียอะไร มากน้อยแค่ไหน ต้องทำใจอีกในระยะเวลาเท่าไร จึงสงบสันติแท้จริง
คนในพื้นที่วิเคราะห์ได้ว่า กลุ่มที่สร้างเงื่อนไขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่
กลุ่มที่ก่อการรุนแรงเพื่อการประกาศรัฐปัตตานี หรือเอกราชปัตตานี หรือเรียกชื่ออย่างไรก็ได้ที่หมายถึงคนในปัตตานีบริหารจัดการภายในจังหวัด โดยส่วนหนึ่งใช้กฎชารีอะห์ (กฎหมายอิสลาม) กับมวลมุสลิม เท่าที่ทราบมีหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มใหญ่ และกลุ่มย่อย
กลุ่มที่ก่อการรุนแรงเพื่อการเรียกร้องความเป็นธรรมที่ยังไม่ได้เท่าเทียมกับผู้อื่น คนตายก็ตายไป บรรดาญาติได้รับเงินที่บางรายไปขัดแย้งในการแบ่งเงิน คนเจ็บป่วยยังเจ็บยังอยู่ ญาติคนเหล่านี้ขอความเป็นธรรม คนที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษคือ ผู้กระทบขั้นพิการตั้งแต่ระดับน้อย จนถึงระดับมาก และมากที่สุด ที่เขาคิดตลอดเวลาว่าน่าจะตายดีกว่าอยู่ แต่ตายไม่ได้เพราะศาสนากำหนด ญาติมิตรคนกลุ่มนี้พร้อมที่จะไปผนวกกับคนกลุ่มแรก
กลุ่มที่ก่อการแทรกแซง ได้แก่ ผู้ค้าสินค้าหนีภาษี / น้ำมันเถื่อน / อาวุธเถื่อน ผู้ค้าสิ่งเสพติดและเสพติด ผู้เป็นนักการเมืองทุกระดับ ตั้งแต่ท้องถิ่น ผู้ทุจริตคอร์รัปชัน การรับเหมางาน ผู้ขัดแย้งส่วนตัวประโยชน์ในธุรกิจ และกลุ่มที่สำคัญมากคือ ผู้ฉวยโอกาสแสวงประโยชน์จากเหตุการณ์
ใคร? จะทำอย่างไร? กับกลุ่มต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นได้บ้าง? เพื่อสันติสุขแท้จริงในจังหวัดชายแดนภาคใต้!
ใคร่ขอเสนอบททดสอบในการดำเนินการ ควรลำดับจากการพูดคุยระบายทุกข์ สู่การเจรจา สู่ข้อตกลง และสู่การลงนาม โดยกำหนดระยะเวลาประเมินไม่น้อยกว่า 3 เดือน เหตุการณ์ในพื้นที่ต้องผ่อนคลายเบาบางสู่การยุติโดยสิ้นเชิง