xs
xsm
sm
md
lg

อำมาตย์ “เต้น” ทำลายของกลางละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ภูเก็ต ตร.ดูแลเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - อำมาตย์ “เต้น” เปิดงานทำลายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ภูเก็ต ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในเครื่องแบบ นอกเครื่องแบบ ดูแลความปลอดภัยกว่า 200 นาย ลั่นการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นประชาชนทุกคนเป็นผู้เสียหายเพราะไม่มีการเสียภาษีตามกฎหมาย คุยมั่นใจผลการดำเนินงานด้านการปราบปราม ทำ EU ปลดแอกไทยจากประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูง

 
เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (28 ก.พ.) ที่โรงงานเตาเผาขยะเทศบาลนครภูเก็ต นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้ว โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตัวแทนจากสมาชิกสหภาพยุโรป ผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และนาตาลี เกลโบวา อดีตนางงามจักรวาล เข้าร่วม ท่ามกลางการดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ทั้งในเครื่องแบบ นอกเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน รวมกว่า 200 นาย

โดยของกลางที่นำมาทำลายในครั้งนี้ เป็นของกลางที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 8 ตำรวจภูธรภาค 9 สำนักงานศุลกากรภาค 4 จับกุมดำเนินคดีจนถึงที่สุดแล้ว รวมมูลค่าประมาณ 216 ล้านบาท จำนวน 94,120 ชิ้น ซึ่งประกอบด้วย สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ละเมิดเครื่องหมายการค้า เช่น แผ่นซีดีเพลง แผ่นดีวีดีภาพยนตร์ นาฬิกาปลอมยี่ห้อต่างๆ เสื้อผ้า เสื้อกีฬา กระเป๋าสตางค์ เครื่องหนัง และรองเท้า เป็นต้น

 
นายณัฐวุฒิ กล่าวในระหว่างพิธีทำลายของกลางในครั้งนี้ว่า สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้เป็นของผิดกฎหมาย และจะต้องนำมาทำลาย ซึ่งการทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้วถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการปราบปรามที่จะต้องดำเนินการกันอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมันให้แก่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาว่าสินค้าเหล่านี้จะไม่กลับไปหมุนเวียนในท้องตลาดอีก โดยขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องของการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างมาก มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว ภายใต้โครงสร้างจะประกอบด้วย 25 หน่วยงาน

โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มการตรวจสอบจับกุมปราบปราม มีตำรวจและดีเอสไอเป็นแม่งาน, กลุ่มงานการบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย มีอัยการเป็นแม่งาน, กลุ่มการประชาสัมพันธ์และรณรงค์สร้างจิตสำนึก มีกรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับภาคเอกชน เป็นแม่งาน ซึ่งในเรื่องของการประชาสัมพันธ์และรณรงค์นั้นได้หารือร่วมกับ รมว.ไอซีที ในผลิตการ์ตูนที่มีสาระให้ความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และบรรจุในแท็บเล็ตที่จะแจกแก่นักเรียนประถม และมัธยมในปีการศึกษาหน้า ซึ่งทาง รมว.ไอซีที ก็เห็นด้วย รวมทั้งหารือกับ รมว.ศึกษาธิการ ในการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนโดยการบรรจุเนื้อหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาไปในหลักสูตรตั้งแต่ประถม มัธยม และอาชีวศึกษา ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ก็รับหลักการ

 
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มงานฟื้นฟูเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป้าหมายหลักในการปราบปรามนั้นจะเน้นในส่วนของผู้ผลิต และผู้ค้ารายใหญ่ ส่วนรายย่อยนั้นภาครัฐจะต้องเข้าไปดูแลหาอาชีพที่ถูกกฎหมายให้ทำ โดยกลุ่มงานสุดท้ายคือ กลุ่มงานป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และคณะทำงานเชื่อมโยงข้อมูลการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมั่นใจว่า การประกาศให้ปีนี้เป็นปีแห่งการต่อต้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นไปตามนโยบายภายใต้การขับเคลื่อนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าหลังจากการทำงานกันอย่างเต็มที่จะมีข่าวดีจากประเทศสหรัฐอเมริกาเรื่องสถานะความเชื่อถือในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาที่มีต่อประเทศไทยดีขึ้น

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อไปว่า การทำลายวันนี้เป็นการทำลายวัตถุที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งแนวปฏิบัติจะทำลายเป็นระยะ และสินค้าทุกชิ้นที่นำมาทำลายถือเป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว และการทำลายมีตัวแทนภาคเอกชนในฐานะผู้เสียหายมาร่วมเป็นสักขีพยานด้วย เพื่อให้เขารู้ว่าเราเอาจริง และตนถือว่าการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นประชาชนทุกคนเป็นผู้เสียหาย เพราะไม่มีการเสียภาษีตามกฎหมาย จึงถือเป็นภารกิจสำคัญในการดูแลผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งจะทำให้เวทีธุรกิจของประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งคนในประเทศ และชาวต่างชาติ

 
นายณัฐวุฒิ ยังได้กล่าวต่อไป ว่า ภารกิจเรื่องของการปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการในการตัดสินใจเข้ามาลงทุน เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย จึงได้ประกาศให้ปีนี้เป็นปีแห่งการต่อต้านสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขึ้น โดยการตั้งศูนย์ศูนย์ปฏิบัติการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ เชื่อว่าการดำเนินงานของศูนย์จะดำเนินการตรงไปตรงมา ถ้ามีการเรียกเก็บส่วย หรือทำงานด้วยการหาประโยชน์โดยมิชอบปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้ จะต้องมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด ซึ่งในการดำเนินการปราบปรามนั้นจะดำเนินการชัดเจนไปที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ EU ปลดแอกจากการขึ้นบัญชีประเทศไทย โดยเฉพาะ จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น