xs
xsm
sm
md
lg

ฉงนงงงวย?! กรมเจ้าท่ารุกจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านห้ามออกจากฝั่งเกิน 3 ไมล์ทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวประมงพื้นบ้านจาก 3 อำเภอสงขลา กว่า 200 คน ถูกนัดมาประชุมร่วมกัน เพื่อจดทะเบียนเรือ
เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่อาคารอเนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา กรมเจ้าท่า กรมประมง จังหวัดสงขลา นัดชาวประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ คือ อำเภอระโนด, อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร เกือบ 200 คน มาทำความเข้าใจเรื่องการให้ชาวประมงเข้ายื่นจดทะเบียนเรือต่อกรมเจ้าท่า และจดอาญาบัตรต่อกรมประมง จนเกิดประเด็นไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และความสงสัยไม่เห็นด้วยของชาวประมง

โดยเฉพาะเนื้อหาสำคัญของการจดทะเบียน ที่จำกัดขอบเขตการให้ชาวประมงพื้นบ้าน ออกทำประมงจากชายฝั่งออกไปไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล หรือ 5.4 กิโลเมตร ซึ่งตามความเป็นจริง ทะเลหน้าบ้านจากชายฝั่งออกไป 3 ไมล์ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่ชาวประมงในหลายๆ พื้นที่ทำกันอยู่

การทำประมงที่ผ่านมา ชาวประมงออกทำประมงได้อย่างเสรี ไปตามความแข็งแรง กำลังการขับเคลื่อนของเครื่องยนต์ ซึ่งชาวประมงพูดกันในกลุ่มเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังไงก็ไม่จดทะเบียนแน่นอน แต่ก็มีพี่น้องบางส่วนได้จดทะเบียนเรือไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยที่ไม่ค่อยได้อ่านเนื้อหาสาระของข้อบังคับนี้ เมื่อต้นเดือนมกราคม 2556

นายศตพล โชติพันธุ นักวิชาการกรมเจ้าท่า ถูกส่งมารับหน้า รับฟัง ตอบคำถามเพียงคนเดียว ของกลุ่มชาวประมง ที่โถมคำถามเข้าใส่อย่าง ต่อเนื่อง

 
นายเจริญ ทองมา ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ บอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้ชาวประมงออกทำประมงภายในเขตชายฝั่งออกไป 3 ไมล์ ต้องการให้ตัดข้อนี้ออกไป เพราะปกติพี่น้องออกทำประมงเกิน 3 ไมล์อยู่แล้ว และสงสัยว่าทำไมมาจดทะเบียนเรือเอาตอนนี้ ที่อ้างถึงกฎข้อบังคับการตรวจเรือ ฉบับที่ 15 พ.ศ.2528 และที่สำคัญ การจดทะเบียนเรือชาวประมงที่ได้ดำเนินการไปแล้ว บางพื้นที่จ่ายจดทะเบียน 1,000 บางพื้นที่ 800 บ้างก็ 500 บ้าง ที่ทำให้ทุกคนสงสัยคือ การไม่ออกใบเสร็จให้แก่ชาวประมงหมายความว่าอย่างไร เงินพวกนี้เข้ารัฐ หรือไปอยู่ในมือใคร?

นายยศตพล โชติพันธุ นักวิชาการกรมเจ้าท่า ตอบว่าในการให้ยกเลิกเรื่อง 3 ไมล์นั้นต้องปรึกษากับฝ่ายกฎหมาย และเรื่องของใบเสร็จค่าจดทะเบียนเรือ ก็จะติดต่อประสานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้
นายศตพล โชติพันธุ นักวิชาการกรมเจ้าท่า ที่มาทำหน้าที่รับจดทะเบียนเรือ เพียงคนเดียว
 
โดยข้อสรุปร่วมกันของชาวประมง คือ การทำเรื่องประสานให้อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมประมง หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่มาคุยกันตรงๆ เพราะเป็นบุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ปรับแก้ข้อบังคับนี้ได้ตามความเหมาะสม ความต้องการของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ และพี่น้องชาวประมงในพื้นที่อื่นๆ ก็ควรได้รับรู้เรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน

เรื่องนี้ยังมีความเข้มข้น ไม่จบลงง่ายๆ ตราบใดที่รัฐยังยึดติดกับระบบการใช้อำนาจจากส่วนกลางลงสู่ประชาชนโดยขาดซึ่งการให้ความสำคัญกับการเข้ามามีส่วนร่วมการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างทั่วถึงของประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น