xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.ระดมสมองฟื้นนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล เคลียร์ปัญหาค้างค่าที่ดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - เลขาธิการ ศอ.บต. ระดมแนวความคิดฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล เดินหน้าให้ความเป็นธรรมชาวบ้านกรณีไม่ได้รับเงินค่าที่ดินที่ใช้จัดสร้างนิคมฯ ด้านผู้ประกอบการเห็นด้วย ระบุจะช่วยสร้างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมทั้งภาคการส่งออก

วานนี้ (20 ก.พ.) ที่ห้องประชุมนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วย นายวิทยา พานิชพงษ์ รองเลขาฯ ศอ.บต. ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาฯ ศอ.บต. หารือระดมแนวคิดร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงกรณีการให้ความเป็นธรรมแก่ชาวบ้านในพื้นที่ ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี

เนื่องจากมีชาวบ้านในพื้นที่จำนวนหนึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับปัญหาที่ดินที่ใช้จัดสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ เพราะมีบางส่วนยังไม่ได้รับเงินค่าซื้อขายที่ดินหลังจากมีแผนการตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวที่ อ.ปะนาเระ และ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เฟสแรก จำนวน 170 ไร่ โดยแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2550 และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเข้าไปตั้งฐานการผลิตแม้แต่รายเดียว

 
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ศอ.บต.มีแนวความคิดปรับเปลี่ยนชื่อนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล โดยเฉพาะคำว่า “ฮาลาล” ซึ่งถือว่าเป็นคำพูดทางศาสนาที่หมายถึงการเริ่มต้นด้วยความบริสุทธิ์ และเป็นธรรม ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้ความเป็นธรรมในเรื่องปัญหาดังกล่าวให้แก่ประชาชนอย่างเร่งด่วนต่อไป

สิ่งสำคัญในความสำเร็จของอุตสาหกรรมฮาลาล จุดแข็งคือ เน้นความต้องการ และความภาคภูมิใจของประชาชนในพื้นที่ แต่ต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากที่สุด และมีความคิดเห็นตรงกันว่า เรื่องของฮาลาลต้องขึ้นกับองค์กรทางศาสนาด้วย ในการพิจารณาว่าสินค้า หรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะได้รับมาตรฐานฮาลาลหรือไม่นั้นต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานหลัก ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรศาสนาอิสลามเท่านั้น คือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด อาหารฮาลาลจึงเป็นเรื่องของความร่วมมือ และผลประโยชน์ร่วมกันของ 3 ฝ่ายคือ มุสลิมผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และประเทศชาติ

กล่าวคือ มุสลิมได้บริโภคอาหารฮาลาลที่เชื่อได้ว่าถูกต้องตามบัญญัติศาสนาอิสลาม มีคุณค่าอาหาร ถูกสุขอนามัย ปลอดภัยจากสิ่งต้องห้ามทางศาสนาอิสลาม (ฮารอม) และสิ่งปนเปื้อนต่างๆ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยตระหนักถึงการผลิตอาหารฮาลาลที่ถูกต้องตามบัญญัติศาสนาอิสลาม และปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการรับรองฮาลาลอย่างเคร่งครัด ตลอดจนบริหารคุณภาพอาหารตามมาตรฐานฮาลาล

และสุดท้าย ประเทศชาติได้รับผลประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลให้การส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างครบวงจร ทั้งในด้านการพัฒนาวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตของผู้ประกอบการการตลาด และการปรับปรุงกลไกการรับรอง “มาตรฐานอาหารฮาลาล” ขององค์กรศาสนาอิสลาม เพื่อส่งออกอาหารฮาลาลสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ ยังต้องมีหลักการทางวิทยาศาสตร์รับรอง ซึ่งเห็นควรต้องมีศูนย์วิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับฮาลาลด้วย

ด้านนายอดุลย์ กามา นายกสมาคมต้มยำกุ้ง (ผู้ประกอบการไทยในประเทศมาเลเซีย) กล่าวด้วยว่า หากนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งนี้ประสบความสำเร็จจะสามารถช่วยแก้ปัญหาในหลายๆ ด้าน และสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนทั้งในพื้นที่ และใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก เพราะปัจจุบัน แรงงานในประเทศมาเลเซียกว่าร้อยละ 75 เป็นชาวบ้านที่มาจากพื้นที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี หากนิคมฯ แห่งนี้สร้างสำเร็จชาวบ้านก็จะได้ทำงานในพื้นที่ สินค้าก็จะได้รับการส่งเสริม เป็นการเพิ่มมูลค่า และออกสู่ตลาดต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น

ในการสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นทางออก และความหวังของทั้งผู้ประกอบการ และชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งหากนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งนี้สำเร็จขึ้นในอนาคต จะกลายเป็นสถานที่ที่จะสร้างศักยภาพ โอกาส และความภาคภูมิใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น