xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพยากรพะยูนทะเลตรัง-สตูลลด 80% วอนประชาชนร่วมอนุรักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สตูล - ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งที่ 6 วอนชาวประมง จ.สตูล และ จ.ตรัง และประชาชนร่วมกันอนุรักษ์พะยูน หลังพบประชากรพะยูนลดลงถึง 80%

วันนี้ (12 ก.พ.56) ที่ห้องประชุมโรงแรมสินเกียรติธานี ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล นายประจวบ โมฆรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ที่ดูแลพื้นที่รับผิดชอบ จ.ตรัง และ จ.สตูล จัดเวทีเสวนาเครือข่ายภาคีอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระดับกลุ่มจังหวัดอันดามัน ตั้งแต่วันที่ 11-13 ก.พ. นี้ โดยมีเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งจาก จ.ตรัง จ.กระบี่ จ.ภูเก็ต และ จ.สตูล รวม 100 คน

สำหรับการจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ นอกจากหารือระดมสมองจัดการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลแล้ว ยังขอความร่วมมือให้ชาวบ้านทางทะเลมีจิตสำนึกอนุรักษ์พะยูน หลังพบว่าพะยูนในพื้นที่ จ.ตรัง เสียชีวิตมากที่สุด รองลงมาคือ จ.สตูล ซึ่งเกิดจากเครื่องมือประมงของชาวประมง และตายจากท้องเสีย เพราะกินเศษขยะและพลาสติกเข้าไป วันนี้จึงขอความร่วมมือกันสร้างจิตสำนึกรักษ์ปลาพะยูนให้มากขึ้น

นายประจวบ โมฆรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ที่ดูแลพื้นที่ จ.ตรัง และ จ.สตูล กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ จ.สตูล พบพะยูนตายน้อยกว่า จ.ตรัง ซึ่งปีที่ผ่านมา พบพะยูนตาย 1 ตัว ที่เกิดจากเครื่องมือประมงบ้าน ส่วน จ.ตรัง พะยูนมีการตายสูงในฝั่งอันดามัน จากเครื่องมือประมงชาวบ้าน เช่น ติดอวนจนตาย จึงได้จัดเสวนารวมกันแสดงพลังปกป้องอนุรักษ์พะยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

พร้อมกันนี้ พบว่าอัตราการสูญเสียพะยูน โดยสำรวจเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ที่ จ.ตรัง พบพะยูน 130 ตัว หากตายลงไปก็ถือว่าลดไป 10% แล้ว และยังพบว่า ปี 2556 ตายไปอีก 1 ตัว ส่วนที่ จ.สตูล ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อ จ.ตรัง จะพบพะยูนบริเวณแถวทะเลทุ่งหว้า เพราะมีหญ้าทะเลสมบูรณ์ พะยูนจะไปติดอวนชาวบ้าน โดยพะยูนในสตูลก็มีเยอะเกือบ 100 กว่าตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราควรช่วยกันอนุรักษ์เพื่อให้ลูกหลานได้ดูต่อไป

พะยูนเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดเดียวที่เป็นสัตว์น้ำ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลเขตอบอุ่น พะยูนมีรูปร่างคล้ายแมวน้ำขนาดใหญ่ที่อ้วนกลมเทอะทะ ครีบมีลักษะคล้ายใบพาย ซึ่งวิวัฒนาการมาจากขาหน้า ใช้สำหรับพยุงตัว และขุดหาอาหาร ไม่มีครีบหลัง ไม่มีใบหู ตามีขนาดเล็ก ริมฝีปากมีเส้นขนอยู่โดยรอบ ตัวผู้บางตัวเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะมีฟันคู่หนึ่งงอกออกจากปากคล้ายงาช้าง ใช้สำหรับต่อสู้เพื่อแย่งคู่กับใช้ขุดหาอาหาร ในตัวเมียมีนมอยู่ 2 เต้า ขนาดเท่านิ้วก้อย ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร อยู่ถัดลงมาจากขาคู่หน้า

สำหรับเลี้ยงลูกอ่อนมีลำตัว และหางคล้ายโลมา สีสันของลำตัวด้านหลังเป็นสีเทาดำ หายใจทางปอด จึงต้องหายใจบริเวณผิวน้ำ 1-2 นาที อายุ 9-10 ปี สามารถสืบพันธุ์ได้ เวลาท้อง 9-14 เดือน ปกติมีลูกได้ 1 ตัว ไม่เกิน 2 ตัว แรกเกิดยาว 1 เมตร หนัก 15-20 กิโลเมตร ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 1 ปี กินนม และหญ้าทะเลประมาณ 2-3 สัปดาห์ หย่านมประมาณ 8 เดือน อายุประมาณ 70 ปี โดยแม่พะยูนจะดูแลลูกไปจนโต ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 2 เมตร ถึง 3 เมตร น้ำหนักเต็มที่ได้ถึง 300 กิโลกรัม พะยูนสามารถกลั้นหายใจใต้น้ำได้นานราว 20 นาที เมื่อจะนอนหลับพักผ่อนพะยูนจะทิ้งตัวลงในแนวดิ่ง และนอนอยู่นิ่งๆ กับพื้นทะเลราว 20 นาที ก่อนจะขึ้นมาหายใจอีกครั้งหนึ่ง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น