xs
xsm
sm
md
lg

พบฝูง “โลมาหัวบาตร” ว่ายน้ำหากินในพื้นที่แหลมผักเบี้ย ใกล้ฝูง “วาฬบรูด้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝูงโลมาหัวบาตรกว่า 10 ตัวว่ายน้ำหากินในพื้นที่แหลมผักเบี้ย บ้านแหลม เมืองเพชรบุรี
เพชรบุรี - พบฝูงโลมาหัวบาตรกว่า 10 ตัว ว่ายน้ำหากินในพื้นที่แหลมผักเบี้ย บ้านแหลม เมืองเพชรบุรี ขณะเดียวกัน พบซากโลมาลอยตายกลางทะเล คาดติดอวนชาวประมงที่ลักลอบเข้ามาวางอวนในน่านน้ำ ระยะ 3,000 เมตรจากชายฝั่ง ส่วนฝูง “วาฬบรูด้า” ที่ได้โผล่ขึ้นมาโชว์ตัวให้เห็นบริเวณจุดที่อยู่ใกล้กับฝูงโลมา ยังสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวไม่หยุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเพชรบุรี นำโดย น.ส.นงนิตย์ เต็งมณีวรรณ ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี ได้นำคณะสื่อมวลชนจังหวัดเพชรบุรี ลงเรือที่ท่าเรือแหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เพื่อไปถ่ายภาพการปรากฏตัวของวาฬบรูด้า ที่พบได้ทุกวันในช่วงนี้แถวๆ บริเวณจุดที่มีการตั้งแท่นส่งน้ำมันกลางทะเลแหลมผักเบี้ย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกประมาณ 6-7 กิโลเมตร โดยได้พบฝูงของโลมาหัวบาตรกว่า 10 ตัว ที่แหวกว่ายเล่นน้ำ และไล่กินลูกปลาขนาดเล็กกันอย่างสนุกสนาน แลดูน่ารักเป็นอย่างมาก

โดยสิ่งที่พบเห็นสามารถบ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของแหล่งอาหารที่มีอยู่มากในธรรมชาติ น้ำไม่เน่าเสีย และที่สำคัญ สามารถพบเห็นปลากระตักที่กระโดดขึ้นมาเหนือน้ำอย่างมากมายเมื่อเรือแล่นผ่านอีกด้วย ภาพการหากินของฝูงโลมาหัวบาตรที่พบในขณะนี้ เห็นจะเป็นภาพที่ดึงดูดใจได้ไม่น้อยสำหรับนักท่องเที่ยวที่นั่งเรือมาเพื่อเฝ้าชมวาฬบรูด้าในขณะนี้ เช่นเดียวกับฝูง “วาฬบรูด้า” ที่ได้โผล่ขึ้นมาโชว์ตัวให้เห็นบริเวณจุดที่อยู่ใกล้กับฝูงของโลมาเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วาฬบรูด้ายังไม่ไปไหน และยังคงหากินอยู่ในพื้นที่แหลมผักเบี้ยดังเดิม

แต่สิ่งที่น่าเศร้าใจอีกอย่างหนึ่งคือ ได้พบกับซากของโลมาหัวบาตร ที่ลอยตายอยู่กลางทะเลในสภาพขึ้นอืด และเน่า โดยชาวประมงบอกว่า โลมาที่พบน่าจะติดอวนของชาวประมงที่บุกรุกเข้ามาลากอวนปลาบริเวณเกินน่านน้ำในระยะ 3,000 เมตรจากชายฝั่งจนเสียชีวิต ซึ่งโลมาเหล่านี้มักจะเข้ามาหากินในพื้นที่ และจะมักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ และอาจว่ายไปติดอวนของชาวประมงจนเสียชีวิตดังกล่าว

สำหรับการเฝ้าชมฝูงวาฬบรูด้า ในขณะนี้ยังคงได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ที่แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 100 คนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด รวมถึงคนในพื้นที่ด้วยที่ต่างอยากจะได้ชมได้เห็นการปรากฏตัวของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อย่างใกล้ชิด ทำให้บรรยากาศในพื้นที่แหลมผักเบี้ยตอนนี้คึกคักเป็นพิเศษ
ซากโลมาหัวบาตรที่ตายลอยอยู่กลางทะเล
น.ส.นงนิตย์ เต็งมณีวรรณ ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี เปิดเผยว่า ในปีนี้สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จังหวัดเพชรบุรี เตรียมความพร้อมการเที่ยวชมวาฬบรูด้าอย่างถูกวิธี และยั่งยืน ในช่วงระยะเวลาที่วาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่ปากอ่าวบางตะบูน บางขุนไทร ปากทะเลบางแก้ว แหลมผักเบี้ย และหาดเจ้าสำราญ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวโดยเฉพาะ ต.แหลมผักเบี้ย เป็นสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้ความสนใจเดินทางมาเฝ้าชมวาฬบรูด้า และจะต้องเดินทางมาลงเรือที่จุดนี้ เนื่องจากปีที่ผ่านมา ได้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเช่าเหมาเรือลงสู่ทะเลเพื่อชมวาฬบรูด้ากันอย่างคับคั่ง
ฝูง วาฬบรูด้า ที่ได้โผล่ขึ้นมาโชว์ตัวให้เห็นบริเวณจุดที่อยู่ใกล้กับฝูงโลมา
โดย ททท.จะต้องมีการวางแนวทางการจัดการร่วมกันกับชาวประมงในพื้นที่ที่ให้บริการด้านเรือนำเที่ยว ทั้งในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวขณะนั่งเรือชมวาฬบรูด้า โดยเรือทุกลำจะต้องมีเสื้อชูชีพให้นักท่องเที่ยวสวมใส่เพื่อความปลอดภัย มาตรฐานการบริการที่จะต้องกำหนดราคาให้ชัดเจน ไม่แพงเกินกำลังของนักท่องเที่ยวที่จะลงเรือไปชมวาฬบรูด้า ซึ่งคาดว่า หากมีมาตรการกำหนด และดำเนินการอย่างถูกต้อง จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจำนวนมากเหมือนปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน อีกทั้งการชมวาฬบรูด้าจะต้องอยู่ในระยะไม่ใกล้เกินไป เนื่องจากจะไปรบกวนวาฬขณะที่เขาหากิน

สำหรับ “วาฬบรูด้า” หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Balaenoptera brydei หรือมีอีกชื่อว่า “วาฬแกลบ” เป็นวาฬขนาดใหญ่ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Bryde's Whale วาฬบรูด้า เป็นวาฬชนิดไม่มีฟัน แต่มีบาลีน (Baleen) เป็นแผ่นกรองคล้ายหวี ใช้กรองฝูงปลากินเป็นอาหาร เช่น ปลาทู ปลากะตัก เป็นต้น ความยาวเฉลี่ยประมาณ 13 เมตร ลำตัวสีเทาอมน้ำเงิน ด้านท้องสีขาวอมชมพู พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลกโดยเฉพาะในเขตร้อน และเขตกึ่งร้อน ในเขตละติจูด 40 องศาเหนือถึงใต้ วาฬบรูด้าเป็นปลาวาฬเพียงชนิดเดียวที่พบว่าอาศัยอยู่ประจำถิ่นในอ่าวไทย และมีขนาดเล็กกว่าที่พบจากแหล่งอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต่างชาติหลายท่านพยายามศึกษา และตั้งชื่อวาฬบรูด้าในอ่าวไทย ให้เป็นวาฬชนิดใหม่ของโลก

กำลังโหลดความคิดเห็น