คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
ชื่อบทความนี้ผมเอามาจากคำพูดของ ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ซึ่งแถลงต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล (5 ก.พ.56) ข้อความข้างล่างนี้จะเป็นส่วนขยายของคำพูดของท่านรองนายกฯ ซึ่งผมตัดมาจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ท่านว่าดังนี้ครับ
“กบอ.จะระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลา 7 วันในการเขียนทีโออาร์ ต้องกำหนดชัดเจนสถานที่ก่อสร้าง เราเห็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นหลัก ตนไม่ปล่อยให้เรื้อรัง หรือเป็นโครงการเบลอๆ อีกต่อไป อย่าให้โครงการน้ำต้องเถียงกันไม่รู้จักจบ เพราะจะไม่ให้คนไทยเจอกับน้ำท่วมอีกต่อไป เขื่อนแก่งเสือเต้นหากจำเป็นต้องทำ ตนก็ไม่กลัวการต่อต้าน แต่ต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของประเทศนี้ให้ได้ ซึ่งหากโครงการทั้งหมดเสร็จ แม้แต่มดตัวเดียวก็ไม่โดนน้ำท่วม”
ท่านรองนายกฯ ได้แถลงว่า ครม.ได้อนุมัติเห็นชอบผลการคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบการก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย
ผมได้ศึกษาโครงการการเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) ดังกล่าวซึ่งมีความยาวแค่ 54 หน้ากระดาษอยู่หลายรอบ เรียนตามตรงว่าพื้นที่หน้ากระดาษเกือบทั้งหมดเป็นรายการว่า จะใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาทไปทำอะไรบ้างเท่านั้น แต่ไม่มีคำอธิบายกรอบแนวคิดดังกล่าวเลย นอกจากคำหรูๆ ว่า “บูรณาการและยั่งยืน”
หากพิจารณาคำพูดของท่านรองนายกฯ ที่ว่า “หากโครงการทั้งหมดเสร็จ แม้แต่มดตัวเดียวก็ไม่โดนน้ำท่วม” ด้านหนึ่งก็เป็นความมุ่งมั่น จริงจังที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศ ฟังดูน่ายกย่อง แต่หากมองอีกด้านหนึ่งก็เป็นการ “โอหัง” หรือเป็นความคิดแบบ “ป้องฟ้าด้วยฝ่ามือ” ซึ่งเป็นการสะท้อนที่ไม่เข้าใจขีดจำกัดของมนุษย์ในการเอาชนะธรรมชาติที่มีพลังอำนาจมหาศาล
ผมไม่ได้ตั้งใจจะเถียงท่าน แต่ผมมีบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่เมื่อปี 2543 ตอนนั้นท่วมอยู่ 2 วัน ระดับน้ำในเขตเทศบาลหลายจุดสูงกว่า 2 เมตร สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ต่อมา ได้มีโครงการบรรเทาอุทกภัย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถ้าจำไม่ผิดก็ใช้งบประมาณไปประมาณ 5-6 พันล้านบาท มีการขุดคลองสายใหม่เพื่อป้องกันน้ำไม่ให้เข้าตัวเมืองหาดใหญ่ (ซึ่งเป็นที่ลุ่มแอ่งกระทะ) และให้ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา และอ่าวไทยไปเลย
หลังจากเสร็จโครงการแล้ว หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่างก็มีความมั่นอกมั่นใจมาก ต่างออกมาสร้างความมั่นใจปลอมๆ ให้แก่ประชาชนว่า น้ำจะไม่ท่วมเทศบาลนครหาดใหญ่อย่างแน่นอน แต่แล้วเพียงไม่กี่วันจากคำประกาศ น้ำก็ท่วมอีกในปี 2553 ด้วยระดับน้ำที่ใกล้เคียงกับเมื่อปี 2543
ในหลวงเองท่านก็เคยตรัสว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นแค่แนวคิดเบื้องต้นเท่านั้น ครั้นจะนำไปปฏิบัติจริงจะต้องมีรายละเอียดให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ซึ่งผู้รับผิดชอบต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ
การศึกษาหาความรู้ในรายละเอียดดังกล่าว รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับรับรู้โครงการ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล และความคิดเห็น ตลอดจนร่วมตัดสินใจ
แต่โครงการที่ท่านปลอดประสพเป็นประธานกำลังดำเนินการอยู่เป็นไปอย่างเร่งรีบ วางแผนการทำงานกันเป็นราย 7 วัน ทั้งๆ ที่เป็นโครงการขนาดเมกะโปรเจกต์ และสภาพพื้นที่ก็มีความซับซ้อนมากกว่าลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่ครอบคลุมอำเภอหาดใหญ่มากมายหลายเท่า
ผมเห็นด้วยว่าจะต้องมีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน แต่ไม่ใช่ด่วนแบบศรีธนญชัย โดยปราศจากการครุ่นคิดให้รอบคอบ เปิดเวทีให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ (ตามรัฐธรรมนูญ)
และเอาเข้าจริงๆ ประเทศเราไม่ได้มีปัญหาแค่น้ำท่วมเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาภัยแล้งซึ่งเป็นด้านตรงกันข้ามของเหรียญเดียวกัน ทันทีที่เราเร่งน้ำให้ไหลออกทะเลโดยเร็ว นั่นแปลว่าเราได้เปิดประตูให้ “ความแห้งแล้ง” เข้ามาแล้ว
ข่าวไทยพีบีเอส (9 ก.พ.56) รายงานว่า ในขณะที่ภาครัฐแก้ปัญหา “ภัยแล้ง” โดยการไม่เปิดน้ำให้ภาคการเกษตร แต่ภาคชาวบ้านในภาคอีสานที่ร่วมกันทำบึงน้ำขนาดเล็กสามารถทำนาในหน้าแล้งได้อย่างสบายๆ มา 5 ปีติดต่อกันแล้ว (ตามแนวทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) เรื่องดีๆ แบบนี้ภาคราชการเคยก้มหัวศึกษาจากชาวบ้านบ้างไหม?
อีกเรื่องหนึ่งที่ว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่จากข้อมูลของทางราชการเอง (เอกสารจากคำบรรยายของคุณสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการเลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ มีนาคม 2555) พบว่า ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ประเทศไทยเรามีปัญหาทั้งน้ำท่วม และภัยแล้งคู่กันมาทุกปี และหากย้อนไป 20 ปี มีเพียง 3-4 ปีเท่านั้นที่ไม่ค่อยมีปัญหา นอกจากนั้น มีปัญหาทุกปี
อนึ่ง แม้เอกสารนี้ใช้บรรยายในเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ไปแล้ว 4 เดือน ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่มาก แต่ท่านก็ยังไม่มีข้อมูลใหม่ที่ทันสมัย นี่หรือเร่งด่วน
องค์กรที่เกี่ยวกับฐานข้อมูลด้านภัยพิบัติสากล (http://www.emdat.be) ได้ประเมินว่าความเสียทางเศรษฐกิจในเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทยปี 2554 ประมาณ 4.03 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (12.7% GDP ของประเทศไทย) ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่มากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกภัยพิบัติทางน้ำในประวัติศาสตร์ของโลก
ที่มันเสียหายมากมายขนาดนี้ก็เพราะว่า พื้นที่น้ำท่วมดังกล่าวเป็นนิคมอุตสาหกรรมของธุรกิจโลกไปแล้ว
ผมย้อนไปดูงานเขียนที่ไม่ได้ส่งตีพิมพ์ของผมชิ้นหนึ่งพบความตอนหนึ่งว่า
“ในช่วงที่น้ำกำลังท่วมนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถ้าผมฟังไม่ผิด “ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตฮาร์ดดิสก์ (อุปกรณ์หน่วยความจำสำหรับคอมพิวเตอร์) ถึง 60% ของโลก” พิธีกรดังอีกคนหนึ่งเล่าในรายการข่าวว่า “คนญี่ปุ่นจำนวนมากปากเหม็นเพราะไม่ได้ใช้น้ำยาบ้วนปากมานาน 4 วันแล้ว เพราะขาดแคลนน้ำยาที่ผลิตโรงงานที่จมน้ำอยู่ที่เมืองไทย”
ผมวิตกในเรื่องกระบวนการแก้ปัญหาในโครงการที่ใช้เงินจำนวน 3.5 แสนล้านนี้ค่อนข้างมากครับ จากเอกสารของรักษาการเลขาธิการฯ ดังกล่าว (เอกสารเรื่องยุทธศาสตร์ที่ผมตัดมาให้ดู)
ถ้าผมสามารถแนะนำท่านได้ ผมอยากจะเปลี่ยนหัวข้อที่ 3 ที่ว่า “ประชาชนต้องได้รับการดูแล” ผมรู้สึกว่าแม้จะเป็นหลักการที่ถูกต้องที่รัฐต้องดูแลประชาชน แต่ผมรู้สึกว่าเป็นหลักการที่ล้าสมัย
สมัยนี้ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ควรจะเปลี่ยนเป็นว่า
“ประชาชนต้องมีส่วนร่วม” คือ ให้ประชาชนร่วมดูแลตนเอง รัฐทำหน้าประสานงานเท่านั้น
ปัจจุบันนี้ ประชาชนทราบดีว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติในระดับโลกกำลังเกิดขึ้นบ่อย และรุนแรงกว่าเมื่อ 60 ปีก่อนมาก ทั้งนี้ เป็นเพราะ “สภาวะโลกร้อน” อันมีต้นเหตุมาจากการใช้พลังงานฟอสซิล ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว บางที่แล้งจัด บางที่น้ำท่วมรุนแรง บางที่หนาวจัด
ข้อมูลข้างล่างนี้เป็นจำนวนครั้งในการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในแต่ละปี ซึ่งพบว่าเพิ่งเกิดบ่อยขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อประมาณ 60 ปีมานี้เอง (ที่มา http://www.emdat.be)
แต่ปัจจุบันนี้ เนื่องจาก “ปัญหาโลกร้อน” ทำให้อากาศแปรปรวน เดี๋ยวก็มีพายุ เดี๋ยวก็เกิดแผ่นดินไหว ทั้งรุนแรง และบ่อยขึ้นมากกว่าเดิม เมื่อพายุมากขึ้น รุนแรงขึ้น ปริมาณน้ำฝนก็มากขึ้น แถมยังกระจุกตัวอยู่ในช่วงสั้นๆ ความเสียหายจึงมากกว่าการกระจายตัวอย่างในอดีต
นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่า ทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลสูงขึ้น โอกาสที่จะเกิดพายุระดับรุนแรงสูงสุดจะเพิ่มขึ้นปีละ 31% โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนก็มาจากการใช้พลังงานฟอสซิล และปุ๋ยเคมีของมนุษย์นั่นเอง
เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ในประเทศยังไม่มีการสรุปอย่างเป็นทางการว่า (นอกจากการยอมรับในสภาฯ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า มีการกักน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ไว้มากกว่าปีก่อนๆ) เกิดจากอะไร ทำไมจึงรุนแรงกว่าปีก่อนๆ ทั้งๆ ที่ปริมาณน้ำฝนก็ไม่ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยมากนัก เรายังไม่มีการประเมินเสียด้วยซ้ำว่า บิ๊กแบ็ก ที่เราลงทุนถึง 2 พันล้านบาทนั้นมันได้ผลแค่ไหน หรือล้มเหลว
เมื่อพายุพัดผ่านประเทศไทย ก็จะทำให้ฝนตกหนัก ในช่วงเวลาสั้นๆ เราต้องยอมรับความจริงว่า ถ้าเหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้น อ่างเก็บน้ำที่เรามี รวมทั้งที่จะมีการสร้างขึ้นใหม่ ก็ไม่สามารถรับน้ำจำนวนมหาศาลเอาไว้ได้
ปริมาณน้ำฝนที่ตกในลุ่มน้ำก็จะมีจำนวนมหาศาล ปริมาตรของน้ำที่ถูกเก็บเอาไว้ในอ่างจึงมีแค่นิดเดียวเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนกับปริมาณน้ำทั้งหมด ถ้าจะเทียบกันแล้ว ปริมาตรน้ำที่เก็บได้ในอ่างมีเพียงแค่ช้อนโต๊ะ ในขณะที่ปริมาณน้ำที่มาโดยไม่ได้คาดหมายนั้นมันเท่ากับชามก๋วยเตี๋ยว
ในแต่ละปีไม่มีใครทราบได้ว่า พายุจะเข้ามากี่ลูก ทราบแต่ว่าในแต่ละปีจะรุนแรงและบ่อยกว่าเดิม ดังนั้น คำประกาศของท่านรองนายกฯ ที่ว่า “หากโครงการทั้งหมดเสร็จ แม้แต่มดตัวเดียวก็ไม่โดนน้ำท่วม” จะมีโอกาสเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน ท่านผู้อ่านคงต้องวินิจฉัยกันเองนะครับ
ข้อเสนอของผมไม่ใช่คัดค้านโครงการ แต่ได้เสนอ 3 อย่างคือ (1) ไม่ต้องรีบมาก เพราะน้ำท่วมภัยแล้งมีทุกปี ไม่ใช่เฉพาะแต่ปี 2554 ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วยเหตุผลต่างๆ กัน (2) ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การแลกเปลี่ยนความเห็น อย่าคิดว่าเป็นการเถียงไม่รู้จักจบ เก็บรับบทเรียนทุกภาคส่วนทั้งภาควิชาการที่หลากหลาย ภาคภูมิปัญญาชาวบ้าน และความล้มเหลวของรัฐ และ (3) เคารพกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และรุนแรง
จากโครงการของท่าน ผมไม่เห็นการบูรณาการอย่างที่อ้างเลย ไม่ต้องพูดถึงความยั่งยืน