xs
xsm
sm
md
lg

ความภูมิใจของ ม.อ. กับ 7 รางวัลในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 2556

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.อ. คว้า 7 รางวัล จากสภาวิจัยแห่งชาติ ในวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2556 ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ได้แก่ รศ.ดร.พูนสุข ประเสริฐสรรพ์ พร้อมรางวัลผลงานวิจัย 4 ผลงาน รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น อธิการบดี ม.อ. เผย มหาวิทยาลัยกำลังพิจารณาออกระเบียบเพื่อกำกับดูแลและส่งเสริมนักวิจัยทุกระดับอย่างเต็มที่

ม.อ. คว้า 7 รางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติ ในวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2556 ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ได้แก่ รศ.ดร.พูนสุข ประเสริฐสรรพ์ และรางวัลผลงานวิจัย 4 ผลงาน ของ รศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์ และคณะ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี (2 ผลงาน) และดร.ดวงมณี จงรักษ์ และ ผศ.เพ็ญประภา ปริญญาพล รวมทั้งรางวัลวิทยานิพนธ์ ของ ดร.เพ็ชรัตน์ สุริยะไชย และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ของ รศ.ดร.เพริศพิชญ์ คณาธารณา และคณะ โดยรับรางวัลจาก ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุม อิมแพค ฟอรัม เมืองทองธานี
รศ.ดร.พูนสุข ประเสริฐสรรพ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2555
 
โดย รศ.ดร.พูนสุข ประเสริฐสรรพ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์ และชีววิทยา ประจำปี 2555 ส่วนผลงานวิจัย 4 ผลงาน ได้แก่ รศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ จากผลงานวิจัยเรื่อง “อิทธิพลของชนิด และปริมาณน้ำมันสารตัวเติมพอลิโพรไพลีนยางธรรมชาติและระบบการวัลคาไนเซชันต่อสมบัติของเทอร์โมพลาสติกอิลาสโตเมอร์จากการเบลนด์ยางธรรมชาติกับพอลิโพรไพลีน”
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
 
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ จากผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิจัยประเมินผลกระทบของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต่อการจัดการและการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี พ.ศ. 2552” และผลงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า/ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้และกองกำลังตำรวจ (ศปก.ตร.สน./ศชต.และ กกล.ตำรวจ) ปี พ.ศ.2553(รอบ 12 เดือน)”

ซึ่ง ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี กล่าวว่า งานวิจัยเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกฉิน สะท้อนว่าควรจะบังคับใช้พระราชกำหนดในพื้นที่ภาคใต้ต่อไปหรือว่าควรจะหยุด ผลที่ได้รับมีความคิดที่ก้ำกึ่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย เราจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย หากจะยกเลิกควรทำเป็นขั้นเป็นตอน ถ้ายกเลิกควรมีกฎหมายทดแทน เช่น กฎหมายความมั่นคงภายใน ถ้าหากไม่ยกเลิกควรมีมาตรการเสริมในแง่ของการลดผลกระทบ ในเรื่องการละเมิดสิทธิของชาวบ้าน ควรต้องระมัดระวัง เป็นมาตรการฝ่ายรัฐมาเสริม หลังจากนั้นควรมีการประเมิน และยกเลิกในบางเขต เราวิจัยจากกลุ่มตัวอย่าง 3,000 กว่าคน และมีการทำโฟกัสกรุ๊ปกับกลุ่มอาชีพต่างๆ

ด้าน รศ.ดร.ดวงมณี จงรักษ์ และ ผศ.เพ็ญประภา ปริญญาพล คณะศึกษาศาสตร์ จากผลงานวิจัยเรื่อง “ประสิทธิผลการให้การปรึกษากลุ่มผสมผสานในการลดการพัฒนาอาการที่มีผลเสียต่อสุขภาพจิตของตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดยะลาระหว่างเหตุการณ์ความไม่สงบ”

“เราทำวิจัยสุขภาพจิตของตำรวจ ศึกษาจากตำรวจยะลา 3,000 คน สุ่มตัวอย่าง 400 กว่าคน ตำรวจ 200 กว่าคน ที่ได้รับบาดเจ็บจะมาเข้ากระบวนการด้านสุขภาพจิต เราใช้ทฤษฎี และศาสนาทั้งพุทธ และอิสลาม กระบวนนี้สามารถลดความเครียดได้ ให้เขาได้ระบายออกมา เขาต้องการความเห็นอกเห็นใจจากผู้บังคับบัญชา ต้องการคนฟัง ระยะต่อไปจะศึกษาในกลุ่มทหาร” รศ.ดร.ดวงมณี จงรักษ์ กล่าว

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ 1 เรื่อง ได้แก่ ดร.เพ็ชรัตน์ สุริยะไชย เรื่อง “การสื่อสารยามวิกฤตในระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย” และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 1 ผลงาน ได้แก่ รศ.ดร.เพริศพิชญ์ คณาธารณา และคณะ จากผลงานเรื่อง “วัสดุคอมโพสิทของท่อนาโนคาร์บอนครัยโอเจล : ตัวดูดซับราคาประหยัดชนิดใหม่สำหรับการวิเคราะห์สารพิษ”

ด้าน รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ยินดีกับนักวิจัยที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติของประเทศ โดยเฉพาะนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และขอขอบคุณนักวิจัยทุกท่านที่อุทิศกำลังกาย กำลังใจในการพัฒนางานวิจัย การที่นักวิจัยของเราได้รับรางวัลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 นั้น เราได้สนับสนุนนักวิจัยโดยต่อเนื่อง มีระบบดูแลนักวิจัยเป็นอย่างดี ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานจนกระทั่งเป็นนักวิจัยอาวุโส ขณะเดียวกัน เราก็ให้โอกาสแก่นักวิจัยของเราทุกคนที่จะได้ทำงานวิจัยที่เขาชื่นชอบ พร้อมทั้งสร้างระบบสนับสนุนนักวิจัยที่จะทำงานกลุ่ม เป็นเครือข่ายร่วมกัน เป็นพลังที่จะช่วยขับเคลื่อนให้นักวิจัยมีผลงานวิจัยที่ดี สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ รวมทั้งการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องพยายามขับเคลื่อน

รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ม.อ.มีนักวิจัยที่เก่งๆ อยู่เยอะ มีผลงานวิจัยที่ต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่นักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งจบการศึกษามา หรือเพิ่งมาทำงาน เรามีทุนให้อาจารย์ไปพัฒนาข้อเสนอโครงการ เมื่อมีข้อเสนอโครงการก็ส่งเข้ามาขอทุนนักวิจัยรุ่นใหม่ แม้อยู่ในภูมิภาคก็ไม่เสียเปรียบกับนักวิจัยในส่วนกลาง ปัจจุบัน ข้อมูลออนไลน์หมดแล้ว อาจเสียเปรียบบ้างเรื่องของการเดินทาง ซึ่งไม่เป็นปัญหา เราดูแลฟูมฟักนักวิจัยให้สามารถทำงานตามศักยภาพที่มีอยู่
ศ.ดร. ภาวิณี ชินะโชติ
 
ศ.ดร. ภาวิณี ชินะโชติ คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร เปิดเผยถึงการที่คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. สร้างนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ถึง 2 คน คือ ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2551 และ รศ.ดร.พูนสุข ประเสริฐสรรพ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2555 ว่า เนื่องจากคณะอุตสาหกรรมเกษตรให้โอกาส และให้ทรัพยากร ให้นักวิจัยทราบเส้นทางความก้าวหน้า กระบวนการที่ให้ได้มาซึ่งความเป็นเลิศในเรื่องงานวิจัย ช่วยดูแลเรื่องการทำงานเป็นทีม อาจารย์ใหม่เข้ามามีอาจารย์พี่เลี้ยงคอยแนะนำ ที่สำคัญคือ สร้างวัฒนธรรมวิจัย เรามีศูนย์บริการวิชาการเพื่อนำคณาจารย์เข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าใจโจทย์วิจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจ ที่สำคัญที่สุดความเป็นนักวิจัยคือ การตั้งคำถาม งานบัณฑิตศึกษาเป็นงานที่สำคัญมากของคณะ กระบวนการที่ทำให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถด้านการวิจัยเป็นส่วนสำคัญ มีกระบวนการเข้มข้นด้านการวิจัย เรามีศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก (ADCET) ทำหน้าที่เชื่อมโยงนักวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ.เป็นอันดับ 1 ด้านการวิจัยของประเทศในขณะนี้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น