xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-มาเลเซียจัดประชุมร่วม กชภ. สร้างความมั่นคงและสันติภาพตามแนวชายแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ไทย-มาเลเซีย จัดประชุมร่วมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (กชภ.) ครั้งที่ 99 เพื่อสร้างความมั่นคงและสันติภาพในพื้นที่แนวชายแดนของ 2 ประเทศ เผยปัญหาโรฮิงญาไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับประเทศไทย จะรีบแก้ปัญหา และส่งไปประเทศที่ 3 ในเร็วๆ นี้

วันนี้ (29 ม.ค.) ที่โรงแรมหรรษา เจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ท.ดาโต๊ะ สรี ซุลกิบลี บิน ฮัจจี กาสิม ผู้บัญชาการกองกำลังกองทัพบกสนาม มาเลเซีย เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (กชภ.) ไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 99 ซึ่งไทยรับเป็นเจ้าภาพ โดยมีนายทหารระดับสูงของทั้งสองประเทศเข้าร่วมกว่า 80 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกันในการแก้ปัญหา และพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดสันติภาพ ความมั่นคง และ เสถียรภาพ โดยบรรยากาศของการประชุมร่วม 3 ชั่วโมงเป็นไปอย่างราบรื่น

ทั้งนี้ ที่ประชุมพึงพอใจกับการรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค หรือ กชภ. ทั้ง 6 คณะ ซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานด้านการข่าวและการปฏิบัติการจิตวิทยา คณะทำงานทางบก คณะทำงานทางทะเล คณะทำงานทางอากาศ คณะทำงานด้านการจัดการชายแดน และคณะทำงานจัดการต่อภัยพิบัติ พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังมีความพึงพอใจกับการดำเนินการต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายจากการประชุมคณะกรรมการระดับสูงครั้งที่ 28 ที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นให้เพิ่มความร่วมมือตามพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย

นอกจากนี้ยังมีความเห็นให้ทั้งสองประเทศมีการส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ระหว่างกันมากขึ้น เช่น ปัญหาการลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมาย ยาเสพติด และบุคคลสองสัญชาติ เป็นต้น รวมทั้งให้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อประโยชน์ในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพขึ้นในพื้นที่ชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ

ขณะที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการนำมาถกในที่ประชุม โดยระบุว่า ปัญหาคนไร้รัฐหรือชาวโรฮิงญานั้นไม่ใช่ปัญหาใหม่ และไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เนื่องจากการการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวโรฮิงญา ซึ่งอยู่ในรัฐยะไข่ทางตอนเหนือของประเทศพม่ามีเป็นประจำทุกปี และมีมาเป็นเวลานานแล้ว

โดยในส่วนของประเทศไทยเป็นเพียงแค่จุดพักพิง หรือทางผ่านของชาวโรฮิงญาไปยังประเทศที่ 3 เท่านั้น แต่อาจจะมีคนไทยบางส่วนเข้าร่วมขบวนการโดยการให้ที่พักพิง หรืออาจะร่วมกันเป็นนายหน้าในการส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งบุคคลเหล่านี้หากถูกเจ้าหน้าที่สืบทราบและจับกุมตัวได้ก็จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน

ส่วนชาวโรฮิงญาทั้งหมดที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับกุมได้ในช่วงกลางเดือน เบื้องต้นก็ยังถูกควบคุมตัวอยู่ตามศูนย์พักพิงและหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมสากลเท่านั้น และอีกในไม่นานนี้ก็จะมีการประชุมกันอีกครั้งเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือ และจะผลักดันชาวโรฮิงญาทั้งหมดออกนอกประเทศไปยังประเทศที่ 3 โดยเร็วที่สุด

 
 





กำลังโหลดความคิดเห็น