ตรัง - นักวิชาการชี้ วาฬขนาด 2 ตัน ที่ว่ายน้ำมาเกยตื้นในท้องทะเลตรัง เป็นสายพันธุ์ Blue whale (Balaenoptera musculus) พบเป็นวาฬจากขั้วโลกใต้ ถือเป็นการพบครั้งแรกในน่านน้ำของประเทศไทย
ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากกรณีที่ได้มีการพบวาฬสีดำ ความยาว 10 เมตร หนัก 2 ตัน ว่ายน้ำเข้ามาติดแอ่งบริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง แต่เนื่องจากเป็นจุดที่มีน้ำทะเลลึกเพียงแค่ 1 เมตร ทำให้วาฬตัวนี้ต้องดิ้นรนอยู่นานนับ 3 ชั่วโมง จนเกิดมีบาดแผลบาดเจ็บจากการถูกโขดหินไปทั่วตัว กว่าที่น้ำจะขึ้นเต็มที่และสามารถที่จะว่ายน้ำออกไปได้ ท่ามกลางความดีใจของชาวบ้าน นักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมานั้น
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดของนักวิชาการพบว่า วาฬตัวดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ Blue whale (Balaenoptera musculus) และถือเป็นการพบครั้งแรกในน่านน้ำของประเทศไทย ทั้งนี้ เนื่องจากปกติแล้ววาฬชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่บริเวณขั้วโลกใต้ เนื่องจากเป็นจุดที่มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ แต่บางครั้งก็จะมีการอพยพเข้ามาถึงบริเวณเส้นศูนย์สูตร โดยพบเห็นตัวล่าสุดที่ไหล่ทวีป หรือห่างจากประเทศไทยไปทางฝั่งทิศตะวันตกประมาณ 200 กิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่การเกยตื้นจะเกิดมาจากการที่วาฬป่วยตามธรรมชาติ แต่ยังไม่เคยพบเห็นว่าเกิดมาจากการพลัดหลง เพราะระบบนำทางที่ผิดพลาดเหมือนกับวาฬตัวนี้
“เนื่องจากวาฬสีน้ำเงินจะมีขนาดที่ใหญ่โตมาก บางตัวยาวถึง 30 เมตร หนัก 20 ตัน และกินอาหารถึงวันละ 10 ตัน ส่วนใหญ่จะไม่อพยพไปไกลจากถิ่นฐานเดิมมากนัก หากอาหารการกินในบริเวณนั้นยังคงมีความอุดมสมบูรณ์มากพอ แต่จากการที่วาฬตัวนี้ต้องว่ายน้ำมาไกลมากแสดงให้เห็นว่าบริเวณขั้วโลกใต้กำลังอาจจะเกิดปัญหาบางอย่าง ทำให้แหล่งอาหารตามธรรมชาติมีปริมาณลดลง มันจึงต้องอพยพออกมาเพื่อความอยู่รอด และพลัดหลงมาสู่น่านน้ำของประเทศไทย นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งทางนักวิชาการจะติดตามวาฬชนิดนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป” ดร.ก้องเกียรติกล่าว