เอเอฟพี - รัฐบาลออสเตรเลียประกาศแผนตั้งเครือข่ายเขตอนุรักษ์ทางทะเลขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร วันนี้ (14) โดยจะออกขีดจำกัดด้านการทำประมง รวมถึงการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งด้วย
เครือข่ายเขตอนุรักษ์แห่งใหม่จะกินอาณาบริเวณกว้างขวางถึง 3.1 ล้านตารางกิโลเมตร หรือกว่า 1 ใน 3 ของน่านน้ำออสเตรเลีย ครอบคลุมเขตแพร่พันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนต่างๆ
ประกาศจัดตั้งเครือข่ายเขตอนุรักษ์มีขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนการประชุมว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน รีโอ+20 ที่บราซิล ซึ่งนายกรัฐมนตรี จูเลีย กิลลาร์ด และรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม โทนี เบิร์ก จะเดินทางไปเข้าร่วมด้วย
“ถึงเวลาแล้วที่ทั่วโลกจะต้องหันมาปกป้องมหาสมุทรของเราอย่างจริงจัง” เบิร์ก เผยก่อนถึงวันประชุม ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบ 20 ปีการประชุม เอิร์ธ ซัมมิต ซึ่งประกาศให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมีความสำคัญเป็นอันดับแรก
“เครือข่ายเขตอนุรักษ์แห่งใหม่จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า สภาพแวดล้อมทางทะเลที่หลากหลายของออสเตรเลีย ตลอดจนสรรพชีวิตที่อาศัยอยู่ในนั้น จะฟื้นคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์เพื่อชนรุ่นหลัง”
เครือข่ายที่ประกาศขึ้นใหม่จะครอบคลุมเขตอนุรักษ์ทางทะเล 60 แห่ง จากเดิม 27 แห่ง ซึ่งจะช่วยปกป้องแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำหายากต่างๆ เช่น วาฬสีน้ำเงิน, เต่าตนุ, ฉลามสีเทา และพะยูน
แม้จะมีข้อจำกัดว่าด้วยการสำรวจพลังงาน ทว่า พื้นที่นอกชายฝั่งตะวันตกที่เชลล์ และวูดไซด์ ปิโตรเลียม ได้รับสัมปทานไปแล้วก่อนหน้านี้จะยังสามารถขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันได้ตามปกติ ขณะที่ภาคการประมงน่าจะได้รับผลกระทบหนักกว่า และรัฐอาจต้องมีการจ่ายเงินชดเชยนับล้านดอลลาร์
ด้านมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมออสเตรเลีย ออกมาแถลงชื่นชมนโยบายของรัฐบาลว่าเป็น “ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์” แต่ก็แสดงความกังวลว่า พื้นที่บางจุดยังคงสุ่มเสี่ยง เนื่องจากความต้องการทรัพยากรเพิ่มสูงขึ้นมาก
“แม้เครือข่ายเขตอนุรักษ์ใหม่จะห้ามการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลคอรัล แต่ทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือยังคงเสี่ยงที่จะถูกคุกคาม” ดอน เฮนรี ผู้บริหารมูลนิธิ กล่าวเตือน