ซีเอสอาร์ เอเชีย/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปี 2011 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ กระทบพื้นที่อย่างน้อย 58 จังหวัด ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม ผู้คนเดือดร้อนมากกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินความเสียหายไว้ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ขณะที่หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถตอบสนองความต้องการข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้ โซเชียลมีเดียจึงเป็นนวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อผู้กระหายข้อมูลอย่างยิ่ง กระทั่ง “ซีเอสอาร์ เอเชีย” องค์กรสนับสนุนความรับผิดชอบต่อสังคม ยกย่องให้โซเชียลมีเดีย เป็นวีรบุรุษตัวจริงของน้ำท่วมไทย
เมื่อน้ำคุกคามเข้าพื้นที่ ผู้ประสบภัยจะรวมตัวกันเพื่อหาทางรับมือกับผลกระทบที่กำลังมาถึงชุมชน มีสิ่งประดิษฐ์เพื่อการใช้ชีวิตอยู่กับน้ำเกิดขึ้นมากมาย องค์กรเอกชนที่มีทรัพยากร ความรู้ ความชำนาญ ก็ออกช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ให้ผ่านพ้นวิกฤต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จำเป็นที่สุดท่ามกลางเหตุภัยพิบัติและความสับสน คือ ข่าวสารที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ กลุ่มโซเชียบลมีเดียต่างๆ ได้รับการยอมรับเป็นผู้ที่เติมเต็มความรู้ และข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วม เช่น แอนิเมชันวาฬสีน้ำเงินของ “รู้สู้! flood” ที่เข้าถึงประชาชนหลายล้านคนโดยง่าย คลิปแอนิเมชันต่างๆ จากกลุ่มนี้ได้รับการเผยแพร่ผ่านทุกช่องทั้งทางเว็บไซต์ และสถานีโทรทัศน์
แอนิเมชันเหล่านี้ไม่เพียงนำเสนอข้อมูลน้ำท่วม แต่ยังแนะนำวิธีรับมือกับน้ำที่กำลังเดินทางไปถึงบ้านผู้ประสบภัย ซีเอสอาร์ เอเชีย ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในฮ่องกง ระบุ
อีกกลุ่มหนึ่งที่ซีเอสอาร์ เอเชีย ยกย่องเป็นฮีโร่ คือ “ไทยฟลัด” เว็บไซต์ของไทยฟลัด กลายเป็นแหล่งข้อมูลสถานการณ์ล่าสุดที่สามารถเชื่อถือได้ พร้อมทั้งทำหน้าที่เสมือนศูนย์ประสานขอความช่วยเหลือไปยังจุดต่างๆ นอกเหนือจากเว็บไซต์ thaiflood.com ทางกลุ่มยังสื่อสารกับผู้คนผ่านทางทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก
นอกจากนี้ กูเกิลก็ร่วมนำเสนอข้อมูลอุทกภัยที่เป็นประโยชน์ผ่านทางแผนที่ “Crisis Response map” โดยแสดงแผนที่ทางภูมิศาสตร์เกี่ยวกับน้ำท่วม จากการรวบรวมข้อมูลของทางการและเอกชน ประกอบกับภาพถ่ายผ่านดาวเทียม
ในยามภัยธรรมชาติมาเยือนเช่นนี้ โซเชียลมีเดียยังรับบทศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือ โดยสื่อออนไลน์เหล่านี้สามารถตอบสนองความเดือดร้อนของชุมชนได้ทันท่วงที จากการประกาศระดมอาสาสมัครไปยังจุดต่างๆ ซึ่งมีผู้มีจิตอาสาร่วมด้วยจำนวนมาก
ซีเอสอาร์ เอเชีย ระบุว่า อุทกภัยครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่รัฐบาลต้องเรียนรู้ โดยภาครัฐควรเป็นตัวประสานระหว่างโซเชียลมีเดีย กับสื่อหลัก เพื่อวางแผนการเสนอข่าวที่ถูกต้องชัดเจน กระนั้นก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์ยากลำบาก ผู้ประสบยังสามารถรวมพลัง แบ่งปันความคิด เอาชนะความเห็นแก่ตัวออกไปช่วยเหลือผู้คนอีกจำนวนมากร่วมกันผ่านพ้นอุทกภัยรอบนี้