นักวิทยาศาสตร์บันทึกเสียง “มวนน้ำ” สัตว์ตัวจิ๋วที่ทำเสียงดังเกินตัว ใช้อวัยวะเพศผู้กระทบส่วนท้องเพื่อดึงดูดคู่ผสมพันธุ์ แต่เพราะอาศัยอยู่ในน้ำจึงไม่ทำให้เราหนวกหู นักวิทยาศาสตร์หวังเรียนรู้เพื่อพัฒนาระบบเสียงอัลตราโซนิกต่อไป
เมื่อเทียบกับขนาดตัวที่เล็กจิ๋วเพียง 2 มิลลิเมตร มวนกรรเชียง (water boatman) สปีชีส์ ไมครอเนคตา สคอลท์ซี (Micronecta scholtzi) จัดเป็นสัตว์ที่ส่งเสียงดังที่สุดในโลก เพราะสามารถส่งเสียงได้ดังถึง 99.2 เดซิเบล เทียบเท่าเสียงจากวงดนตรีออสเคสตราเมื่อนั่งฟังจากแถวหน้าสุด
โดยเฉลี่ยแมลงน้ำจืดที่พบได้ทั่วยุโรปชนิดนี้จะทำเสียงดังราว 78.9 เดซิเบล ซึ่งดังระดับเดียวกับเสียงรถไฟขนส่งสินค้ากำลังวิ่งผ่านเราไป ขณะที่สัตว์เสียงดังส่วนมากเป็นสัตว์ขนาดใหญ่อย่างวาฬสีน้ำเงินที่ส่งเสียงดังได้ถึง 188 เดซิเบล และช้างตัวใหญ่ที่คำรามได้ดังถึง 117 เดซิเบล
การศึกษาครั้งนี้บีบีซีนิวส์ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าสัตว์ขนาดเล็กสามารถส่งเสียงดังได้เช่นกัน โดยทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วยนักชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรม ได้บันทึกเสียงของมวนน้ำกรรเชียง โดยใช้ไมโครโฟนสำหรับใต้น้ำที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ และได้ตีพิมพ์การศึกษาครั้งนี้ลงวารสาร “พรอสวัน” (PLoS One)
“เราแปลกใจมากๆ ตอนแรกเราคิดว่าเสียงที่บันทึกได้เป็นเสียงมวนน้ำขนาดใหญ่กว่านี้ในสปีชีส์ “ซิการา” (Sigara) เราใช้เวลาค่อนข้างมากในการทำให้แน่ใจว่า การบันทึกเสียงของเรานั้นได้ปรับเทียบอย่างถูกต้องแล้ว เพื่อจำแนกแหล่งกำเนิดเสียงที่ถูกต้องอย่างไร้ข้อกังขา” ดร.เจมส์ วินด์มิลล์ (Dr.James Windmill) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ (University of Strathclyde) สก็อตแลนด์กล่าว
ดร.วินด์มิลล์อธิบายว่า เพราะมวนน้ำชนิดนี้อาศัยอยู่ใต้น้ำจึงไม่ทำให้เราหนวกหู เนื่องจาก 99% ของเสียงจากแมลงชนิดนี้จะสูญเสียไประหว่างการเดินทางจากน้ำมายังอากาศ แต่เสียงนั้นยังดังพอที่หูมนุษย์จะได้ยิน โดยเสียงนั้นดังระดับที่เราเดินอยู่ริมฝั่งก็ยังได้ยินเสียงของมวนน้ำกรรเชียงนี้จากก้นแม่น้ำ
“หากคุณแบ่งมาตราระดับเสียงที่สัตว์เปล่งออกมาเทียบกับขนาดตัว ไมครอเนคตา สคอลท์ซี คือสัตว์ที่เสียงดังที่สุดในโลก” ดร.วินด์มิลล์กล่าว
นักวิทยาศาสตร์พบว่าเสียงดังจากมวนน้ำกรรเชียงตัวจิ๋วเกิดจากการใช้อวัยวะเพศผู้ปะทะส่วนท้องของตัวเองในกระบวนการที่เรียกว่า “สไตรดูเลชัน” (stridulation) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าเสียงที่เกิดขึ้นนี้เป็นบทเพลงเพื่อดึงดูดคู่ผสมพันธุ์
ดร.เฌอโรม ซูร์ (Jerome Sueur) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Museum of Natural History) ในปารีส ฝรั่งเศส อธิบายว่าตัวผู้จะทำเสียงให้ดังที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อเข้าถึงตัวเมีย และระหว่างการแข่งขันจะระงมไปด้วยเสียงของตัวผู้ตลอดเวลา ในขณะที่แมลงชนิดอื่นส่งเสียงได้จำกัดเพราะผู้ล่าอาจได้เสียงของพวกมัน แต่สำหรับ เอ็ม.สคอลท์ซีแล้วไม่มีศัตรูที่ฟังเสียงได้
ยังมีแมลงอีกอย่างน้อย 1 ชนิดที่ใช้อวัยวะสืบพันธุ์สร้างเสียง โดยตัวอย่างที่ ดร.ซูร์เอ่ยมาคือผีเสื้อกลางคืนสปีชีส์ ซินโทนาร์ชา ไอเรียสติส (Syntonarcha iriastis) ที่ใช้อวัยวะเพศส่งสัญญาณในคลื่นเสียงอัลตราโซนิกได้
“ดูเหมือนว่าแมลงทั้งหลายสามารถใช้อวัยวะส่วนไหนก็ได้ให้กำเนิดเสียง บางชนิดใช้ปีก บางชนิดใช้ขา บางชนิดใช้ท้อง บางชนิดใช้หัว และบางชนิดใช้ช่วงอก เป็นต้น” ดร.ซูร์กล่าว
หากแต่สิ่งที่ทำให้ เอ็ม.สคอลท์ซี มีความพิเศษคือ บริเวณอวัยวะที่พวกมันใช้ส่งเสียงนั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 50 ไมโครเมตร หรือใกล้เคียงความกว้างของเส้นผมมนุษย์เท่านั้น
“เราไม่รู้จริงๆ ว่าพวกมันสร้างเสียงดังขนาดนั้นด้วยอวัยวะเล็กๆ ได้อย่างไร สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากๆ นี้สามารถส่งเสียงได้ดังมาก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบเสียงอัลตราโซนิกในอนาคต ที่เราจะเรียนรู้ว่าพวกมันทำเช่นนั้นได้อย่างไร” ดร.วินด์มิลล์กล่าว