xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยจะได้อะไรเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (จบ) / ประเสริฐ เฟื่องฟู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : แกะสะเก็ด
โดย...ประเสริฐ เฟื่องฟู
 

ประชาชนคนไทยจะได้อะไร เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในฉบับที่แล้ว ผมไม่ได้คิดอะไรที่ไม่ดีกับการริเริ่มจัดตั้งสมาคมอาเซียนของคุณถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีต่างประเทศในยุคนั้น และไม่ได้คิดอิจฉาสื่อที่ได้เดินทางไปเปิดหูเปิดตา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อของกลุ่มประเทศอาเซียนในสมัยนั้น หรือแม้กระทั่งคิดคัดค้าน หรือยุแหย่ให้ใครกระด้างกระเดื่องกับรัฐบาลร่างทรงของสัมภเวสีไร้แผ่นดิน
 
โดยพยามคิดในทางบวกในทางที่ดีว่า ถ้าเข้าสู่สังคมอาเซียน เราจะได้อยู่ดีกินดี กินอิ่มนอนหลับ มีเศรษฐกิจที่มั่นคง สินค้าที่ผลิตได้ทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พืชผลไม้ไทยมากมายจะได้ส่งออก แรงงานไทย เกษตรกรไทยจะได้มีเงินมีทองใช้ ยามเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้มีหมอมียาดีๆ รักษาพยาบาล ไม่พยายามคิดลบ  
 
แต่คิดยังไงๆ ก็ยังติดลบอยู่ดี เพราะเกิดมาไม่ได้เป็นนักวิชาการ ไม่ได้มีดีกรีดอกเตอร์มาจากเมืองนอกที่คิดบวก ทั้งๆ ที่เห็นอยู่ทนโท่ว่า ประเทศเพื่อนบ้านเรากำหนดมาตรการเอารัดเอาเปรียบกันตั้งแต่ต้น แต่รัฐบาลเรากลับเห็นดีเห็นงามที่จะรีบเร่งผวาเข้าอ้อมกอดสังคมอาเซียนอย่างกระสัน
 
ขณะนี้นักการเมืองธุรกิจ ที่คิดเอาแต่ได้ เอาแต่ผลประโยชน์ของตนเพียงกลุ่มเดียว ต่างหัวเราะร่าที่สามารถดึง และบังคับคนไทยทั้งประเทศเข้ามาเป็นลูกคู่ลูกหาบ ช่วยให้พวกมันได้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้เร็วขึ้น โดยสร้างความหายนะให้บ้านเมือง
 
อย่างกรณีการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อหัวทั่วประเทศ เป็นของขวัญอัปยศวันปีใหม่ 2556 อันเป็นก้าวแรกของการเข้าสู่สังคมอาเซียน ผู้ใช้แรงงานต่างดีอกดีใจ ร้องไชโยโห่ฮิ้ว ใครๆ ก็อยากได้ จะได้ลืมตาอ้าปากกับเขาได้บ้าง แต่พอเอาเข้าจริงจะไปทำงานโรงงานปิด นายจ้างเลิกกิจการ เพราะคำนวณแล้วสู้ค่าแรงไม่ไหว จะเอสเอ็มอี หรืออีหอยอีกุ้งอีปลา อีอะไรก็เต็มกลืนเต็มกิน
 
โดนไม้นี้ นักลงทุนรายใหญ่รายย่อยต่างก็ต้องบอกลาซาโยนาระ หาลู่ทางไปประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงถูกกว่าลงทุนต่อมิดีกว่าหรือ ทุกประเทศต่างกวักมืออ้าแขนรับ ประชากรเขาจะได้มีงานทำ
 
ต่อจากนี้ ในประเทศอะไรเกิดขึ้น สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค พืชผัก อาหารการกิน แม้กระทั่งข้าวแกงแบกะดินก็ยังพาเหรดกันขึ้นราคารับค่าแรงวันละ 300 บาทไปแล้ว พาณิชย์จังหวัด กรมการค้าภายใน หรือคณะกรรมการอะไรต่อมิอะไรที่ตั้งขึ้นมา เพื่อควบคุมราคาสินค้า ช่วยเหลือผู้อุปโภคบริโภคทำอะไรได้บ้าง ต่างก็นั่งแบะๆ อมหอย อมสากรัฐบาลทั้งเพ
 
ต้นเหตุของเรื่องนี้ น่าจะเป็นเพราะผู้นำปากไวปากพล่อยหวังจะเอาใจรากหญ้า และใช้หาเสียง เมื่อโพล่งออกไปแล้ว ทำเฉยสื่อก็กระทุ้ง รากหญ้าก็เร่งเร้า ก็เลยต้องขายผ้าเอาหน้ารอดจำต้องมุดดันทุรัง ให้ทีมเศรษฐกิจร่วมกันใช้สมองหาช่องทาง “ต้องทำให้ได้” ไม่งั้นพังทั้งคณะยังไม่ทันได้ลืมตาอ้าปาก
 
ส่วนเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตเกาะสวรรค์ และพื้นที่ฝั่งอันดามันนั้นไม่เกี่ยว เพราะบ้านนี้เมืองนี้ล้วนเศรษฐีทำมาหารับประทานด้วยการขาย และเอาเปรียบธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทั้งเพ เอาผืนดินไปเล่นแร่แปรธาตุเปลี่ยนเป็นเงินมาลงทุนสร้าง แล้วก็ขายทุกรูปแบบที่จะทำได้ อย่างสร้างโรงแรม รีสอร์ท ก็ขายบริการ สร้างบ้านจัดสรร สร้างคอนโดฯ ก็รองรับนักขุดทอง แรงงานที่หลั่งไหลเข้ามาขายบริการ มีแต่ทางรวย
 
การทำมาหากินกับการท่องเที่ยว ขายทุกสิ่งทุกอย่างที่จะขายได้ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในพื้นที่ ป่าเขาลำเนาไพร ทรัพย์สินมรดกทางวัฒนธรรม ปูชนียสถาน โบราณวัตถุ วัดวาอารามงัดเอามาขายหมด แม้กระทั่งสัตว์ป่า ลิงค่างบ่างชะนี นางอายก็ยังเอามาหากินกับนักท่องเที่ยว
 
ส่วนขายกาม โสเภณีทั้งหญิงชาย หรือยาเสพติด ไม่ต้องพูดถึงหลั่งไหลเข้ามา ล้วนเซ็งลี้ดีทั้งนั้น ถ้าสามารถเปิดฟรีให้นักท่องเที่ยวเข้าออกได้อย่างเสรี ยิ่งมีประโยชน์ ใครอยากมาก็มา ใครอยากไปก็ไป ผู้ประกอบการโกยเงินรวยกันแน่นอน บ้านเมืองจะฉิบหายช่างแม่งมัน ขอพวกข้ารวยพอ แล้วย้ายถิ่นขยายฐานไปลงทุนที่อื่นต่อ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ธรรมชาติยังสวย ที่ดินยังไม่แพง ท่องเที่ยวยังขายได้สบายๆ
 
เมืองท่องเที่ยวเขาไม่เดือดร้อน ไม่กระทบกระเทือนหรอก ทั้งค่าเซอร์วิสชาร์ตค่าทิปก็เกิน 300 บาทอยู่แล้ว แต่ถ้าพ้นหน้าไฮฯ หรือหน้าท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเข้ามาหร็อมแห็รม ทีนี้แหละจะกระทบหรือไม่กระทบก็ต้องเกลี่ยแรงงานออก เหลือไว้เฉพาะที่จำเป็น มันเป็นอย่างนี้ทุกปี น่าขัน
 
นอกเหนือจากนั้น กลุ่มที่จะแฮปปี้ก็มีธุรกิจการนำเข้า หรือสั่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายขายพวกเห่อของนอก ก็น่าจะสะดวกยิ่งขึ้น ด้วยเป็นการค้าเสรี ผ่อนปรนภาษี ทีนี้ก็สะดวกโยธิน ทั้งของแท้ของก็อป ขายกันมันยกร่อง ถ้าตาไม่ถึงดูกันไม่รู้หรอก ไหนแท้ไหนเทียม คนไทยไปสิงคโปร์ ไปมาเลเซียยังหอบเอาของที่ผลิตในเมืองไทยกลับมาอวดกันเลย
 
ของก๊อบฯ ละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีเต็มเมือง ทั้งในห้างนอกห้างข้างถนนก็จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว จับได้จับไป แก้กันที่ปลายเหตุ ตอนจับ ก็จับแม่ค้าคนขาย หรือไม่ก็รถบรรทุกขนส่ง หรือในโกดัง จบกันแค่นั้นเอง โรงงานผลิตอยู่ที่ไหนไม่มีใครรู้ ผีก็ไม่บอก พรายก็ไม่กระซิบ เจ้าของโรงงานหุ้นส่วนใหญ่อาจนั่งอยู่ในทำเนียบ หรือจ้ออยู่ในสภาฯก็ได้ ใครจะรู้
 
ไม่ว่าจะเป็นรองเท้ากระเป๋า เสื้อผ้าถ้าเป็นแบรนด์นอกยี่ห้อดังๆ แพงแสนแพงคนไทยก็เจียดเงินซื้อ หรือแม้กระทั่งอาหารการกิน ถ้าเรียนแบบของนอก ใช้ชื่อต่างประเทศ หรือเป็นแฟรนไชน์ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรือฝรั่ง ก็แห่กันไปกินละ แพงแค่ไหนก็จะกิน ต้องยืนรอคิวเป็นชั่วโมง ก็ทนรอ ทั้งๆ ที่วัตถุดิบ พืชผักแม้กระทั่งแตงกวา ก็ผักไทยแตงกวาไทย เนื้อก็เนื้อโคขุนไทยจากฟาร์มมหาเศรษฐีทางภาคอีสาน ส่วนไก่ก็ไก่เนื้อ จากฟาร์มใหญ่คับฟ้าเหมือนกัน เลี้ยงด้วยสารเร่งแค่เดือนเศษๆ ก็เอามาเชือดแช่แข็ง ส่งไปชุบแป้งทอดให้เข้าคิวซื้อกินกันทุกจังหวัดแล้ว
 
สินค้าแบรนด์ดังก็คงจะตบเท้าย้ายฐานมาตั้งโรงงานผลิตในโซนเอเชียอาคเนย์ ที่ต้นทุนการลงทุนยังต่ำ โดยเฉพาะค่าแรง ยกเว้นไทยแลนด์ประเทศเดียว
 
วัตถุประสงค์หลักของการก่อตั้งสมาคมอาเซียน ก็แจงไปแล้วว่า เน้นเพื่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ประชุมกันแต่ละครั้ง ก็มีการร่างปฏิญญาสากล สนธิสัญญาลงนามกันอย่างพร้อมเพรียง ยืนเข้าแถวเรียงหนึ่งจับไม้จับมือกัน ยิ้มกันหน้าระรื่น
 
แต่ในความเป็นจริง ไทยกับเขมรหรือกัมพูชา ก็ยังพิพาทบาดหมางกันเรื่องปราสาทพระวิหาร โดยเฉพาะในส่วนของประชาชน พม่าเองก็ยังรบกับรัฐคะฉิ่น และชนกลุ่มน้อย ทางด้านเวียดนามเองก็ยังมีปัญหาน่านน้ำในทะเลจีนใต้ อินโดนีเซีย กับมาเลเซียเบื้องลึกก็ยังกินแหนงแคลงใจกัน
 
มาทางด้านยาเสพติด ถิ่นกำเนิดอยู่ทางด้านสามเหลี่ยมทองคำทางภาคเหนือไทย ลาว พม่า ทำเลทองและที่มั่นของรัฐบาลร่างทรงของสัมภเวสีพลัดถิ่น ทั้งสามประเทศต่างกอดคอกันปฏิเสธไม่มีใครเกี่ยวข้อง ไม่มีการผลิตในพื้นที่
 
แต่ในความเป็นจริง คาราวานขนยาเสพติดเข้ามาในเขตไทยมีหลายกลุ่มหลายเหล่า มีข่าวปะทะกัน มีการจับกุมกันไม่เว้นแต่ละวัน เป็นหมื่นเป็นแสนเม็ด มูลค่าไม่ต้องพูดถึงโคตรมหาศาล แต่ไม่มีผู้ต้องหาให้ขยายผล หรือมีก็ถูกวิสามัญนอนผึ่งแดดผึ่งลมแข็งทื่อรอการชันสุตรเสียแล้ว
 
แปลกเหมือนกัน ไม่มีการผลิตในชายแดนประเทศไทย หรือลาว หรือพม่า แล้วยาเสพติดมาจากไหน มาให้จับได้ทุกวันในเขตประเทศไทย สินบนทั้งของผู้ชี้นำ หรือสาย รวมทั้งผู้จับกุมแต่ละครั้งก็มหาศาล เมื่อคดีสิ้นสุด เฉลี่ยแล้วล้วนเปรมปรีดิ์กันทั่วหน้า บอกตรงๆ ไม่อยากคิดไปทางลบ แต่ก็อดระแวงไม่ได้
 
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 20 ที่กรุงพนมเปญ เมื่อต้นเดือนเมษายน 2555 ประเทศไทยก็เป็นเจ้ากี้เจ้าการ ผลักดันให้มีปฏิญญาอาเซียนว่าในปี 2558 จะเป็นเขตปลอดยาเสพติด ให้มีการปราบปรามกันอย่างจริงจัง ถือเป็นวาระสำคัญของอาเซียน ท่านรมว.หัวเหน่ง ต่างประเทศของไทย ก็กดสายด่วนรายงานรองนายกฯ เป็ดเหลิม จัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนยาเสพติดที่เมืองไทย เป็นการขานรับเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา
 
ก็ยังข้องใจว่า ถ้าไม่มียาเสพติดจะเอาเงินที่ไหนไปฟอกให้ออกมาเป็นเงินลับ งบลับจ่ายหัวคะแนนตอนเลือกตั้ง และสร้างสถานการณ์ละ เงินเปอร์เซ็นต์ เงินทุจริต หรือเงินใส่ซองอุดหนุนไม่พอถอนทุนเลือกตั้งหรอก ยังไงๆ ก็ยังต้องพึ่งองค์กรนอกกฎหมายอยู่ดีแทบทุกรัฐบาล ตัวนายกรัฐมนตรีอาจไม่รู้ไม่เห็น แต่คนรอบข้างต่างปากว่าตาขยิบ
 
จะอย่างไรก็ตาม มีผู้เกี่ยวข้องตั้งข้อสังเกตอีกว่า เมื่อเข้าสู่สังคมอาเซียน ประชาชนต่างเข้าออกอย่างเสรีแล้ว การลักลอบนำยาเสพติดเข้าจะง่าย และเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ ก็ลองติดตามกันดู ใครจะเหนือเมฆ
 
เอาละ คราวนี้มาดูเล่ห์เหลี่ยมของประเทศสมาชิกที่จะร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ในด้านการค้า ที่สินค้าต้องเคลื่อนไหวอย่างเสรี และไม่มีภาษี  ใครใคร่ค้า ค้า ใครใคร่ลงทุน ลงเลย ต้องช่วยกันสนับสนุน และให้ข้อมูล
 
แต่ข้อมูลจาก “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” เปิดเผยว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนขณะนี้มี 6 ประเทศ ต่างพยายามออกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี มาใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในของตัวเอง และในกรณีนี้ที่ประชุมอาเซียนได้กำหนดให้สมาชิกต้องนำมาตรการดังกล่าว ขึ้นเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้สมาชิกรับทราบโดยทั่วกัน
 
มาตรการกีดกันทางการค้า ที่สมาชิกอาเซียนทั้ง 6 ประเทศนำมาใช้ ในส่วนของ “กัมพูชา”หรือเขมร ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรก่อนนำเข้าในแต่ละครั้ง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรม CAMCONTROL ทั้งกำหนดให้ต้องมีใบรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยโดยการขึ้นทะเบียนทดสอบมาตรฐาน มีใบรับรองปลอดศัตรูพืช และกักกันสุ่มตรวจ ณ ด่านนำเข้า สำหรับเนื้อสัตว์ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัย และต้องมีสลากระบุรายละเอียดอาหารเป็นภาษากัมพูชาเช่นเดียวกัน
 
ส่วนประเทศที่สอง คือ “อินโดนีเซีย” เกี่ยวกับข้าวหอมมะลิ ต้องมีวัตถุประสงค์พิเศษในการนำเข้า เช่น นำเข้าเพื่อสุขภาพ การบริโภคพิเศษเฉพาะกลุ่ม และผู้นำเข้าต้องจดทะเบียน พร้อมขอการรับรองจากกระทรวงเกษตร และขออนุญาตจากกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียในแต่ละชิปเมนต์
 
การขอรับคำร้องนำเข้าใช้เวลาในการยื่นขอนานมาก ตั้งแต่ 6 เดือน - 1 ปี และตั้งแต่ ปี 2554 กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียกำหนดเงื่อนไขให้ผู้นำเข้า สามารถจำหน่ายข้าวหอมมะลิได้เฉพาะในภัตตาคาร และโรงแรมเท่านั้น และมักได้รับจัดสรรนำเข้าน้อยกว่าปริมาณนำเข้าจริง 30-50% ตั้งแต่ปี 2552 ข้าวหอมมะลิไทยไม่เคยได้รับอนุญาตให้นำเข้าเลย
 
ในส่วนของสัตว์น้ำ ทั้งสดและแปรรูป ต้องได้รับการรับรองนำเข้าจากกระทรวงประมง และในทางปฏิบัติหากสัตว์น้ำนั้น มีอยู่ในน่านน้ำ อินโดนีเซีย ก็จะไม่อนุญาตให้นำเข้า ที่ผ่านมาเคยกักกัน และยึดสินค้าจากไทย ไว้ที่ท่าเรือทันจัง เมื่อเดือน มีนาคม 2554
 
ส่วนผัก ผลไม้ ก็วางมาตรการกำหนดไว้ 100 รายการ ต้องควบคุมความปลอดภัยของอาหารสด ถ้าพืชผักต้องปลอดสารเคมี การปนเปื้อนทางชีววิทยา และหรือการปนเปื้อนจากสารเคมีต้องห้าม และต้องนำเข้าจากประเทศที่มีระบบการรับรองความปลอดภัยด้านอาหาร หรือการรับรองความปลอดภัยของอาหาร ณ แหล่งผลิต
 
ผลกระทบที่เกิดกับไทย โดยเฉพาะผักและผลไม้ ที่มีระบบการรับรองความปลอดภัยของสินค้าเกษตร (MRA) จะต้องมีการจดทะเบียนฟาร์มเพาะปลูก (GAP) และโรงคัดแยกบรรจุ (GHP) ซึ่งปัจจุบันกรมวิชาการเกษตร ได้ยื่นคำขอ MRAจำนวน 5 รายการ ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มะม่วง ลิ้นจี่ และหอมแดงซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของอินโดนีเซีย อาจใช้เวลา 1-3 ปี ปัจจุบัน ผักและผลไม้ของไทย ต้องถูกตรวจสารเคมีตกค้าง 100% เนื่องจากไทยยังไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัยของสินค้าเกษตรจากอินโดนีเซีย
 
ปัญหาระบบลอจิสติกส์ ต้องใช้เวลาขนส่งเพิ่มขึ้นอีก 5-7 วัน ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 30% และบางสินค้าถูกจัดสรรให้น้อยกว่าที่ขอ 30-50% ซึ่งสินค้าน้ำตาลที่ควรเปิดเสรี ก็ยังมีข้อจำกัดปริมาณการนำเข้าแต่ละปี โดยขึ้นอยู่กับความต้องการภายในประเทศ และผู้นำเข้าต้องได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น บางมาตรการเพิ่งออกมาบังคับใช้เมื่อกลางปี 2555 ที่ผ่านมานี้เอง
 
ประเทศที่สาม “มาเลเซีย” กำหนดมาตรการกีดกัน โดยข้าว น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ ปศุสัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ เส้นหมี่ ต่างต้องขออนุญาตนำเข้าจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้าวห้ามนำเข้าในช่วงที่ผลผลิตในประเทศออกสู่ตลาดมากๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวภายใน และน้ำตาลนำเข้าได้เฉพาะใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบ
 
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กแผ่นรีดร้อน ต้องผ่านมาตรากรความปลอดภัยที่มาเลเซียกำหนด ส่วนสินค้ายา เวชภัณฑ์ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน รวมทั้งผลไม้ มะม่วง ชมพู่ และอื่นๆ ต้องได้มาตรฐานตามมาตรการของมาเลเซียเท่านั้น
 
ในส่วนประเทศที่สี่ “ฟิลิปปินส์” กำหนดให้ ไก่สดและเนื้อวัวสดแช่แข็ง รวมทั้งเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ ต้องผ่านการตรวจรับรองโรงงานจากหน่วยงานของเขา และการนำเข้าต้องมีใบอนุญาต ซึ่งสินค้าไก่ไทยแม้จะได้รับการยกเว้น ให้นำเข้าได้เมื่อ 14 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา แต่ฟิลิปปินส์ก็ยังไม่ออกหนังสืออนุญาตให้แต่อย่างใด
 
ด้านผัก ผลไม้ กำหนดห้ามนำผลไม้เขตร้อนเข้าประเทศ โดยให้เหตุผลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคแมลง ซึ่งกระทรวงเกษตรไทยกำลังนำวิธีอบไอน้ำเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ ตอนนี้อยู่ในขั้นการเจรจาให้ยอมรับกันได้ ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยา เคมีภัณฑ์ ต้องผ่านการตรวจโดยหน่วยงานของเขา ก่อนนำเข้า
 
ประเทศที่ห้า “เวียดนาม” ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ต้องขออนุญาตนำเข้าโดยยื่นคำร้องขออนุญาตพร้อมเอกสารทั้งหมดทางไปรษณีย์เท่านั้น และจะแจ้งผลการพิจารณาทางไปรษณีย์เช่นเดียวกัน ซึ่งมาตรการลักษณะนี้จะเกิดความล่าช้า แม้จะระบุว่าใช้เวลาไม่เกิน 10 วัน แต่ในทางปฏิบัตินานกว่านั้น และหากมีข้อสงสัยในเอกสารกระบวนการทั้งหมดจะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
 
ประเทศที่หก คือ “พม่า” หรือ เมียนมาร์ ห้ามนำเข้าสินค้าอุปโภค บริโภค 8 รายการจากไทย ได้แก่ สุรา เบียร์ บุหรี่ หมากฝรั่ง ขนมเค้ก ขนมเวเฟอร์ และสินค้าควบคุมการนำเข้าตามกฎหมายที่ใช้บังคับแล้ว อย่างไรก็ตามมี พ.ร.บ.การนำเข้าและส่งออกใหม่ที่มีผลเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555 ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าดังกล่าว คาดว่าจะมีผลในปี 2556 นี้
 
ข้อมูลคร่าวๆ ดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมอาเซียนของ 6 ประเทศสมาชิก ส่วนประเทศไทยจะมีมาตรการตอบโต้อย่างไร หรือแก้เกมอย่างไร ผมยังไม่มีข้อมูลในมือ แต่ที่แน่ๆ ก็คือภาครัฐกำลังเร่งกำลังจี้ให้ทุกภาคส่วนรณรงค์เตรียมตัว เสริมสวยเข้าสู่สังคมอาเซียนเป็นการใหญ่ น่าจะมีงบประมาณให้ด้วย
 
ดูเพียงผิวเผิน ถ้าเป็นอย่างนี้ เรามิต้องเสียดุลการค้าให้กลุ่มประเทศอาเซียนอีกมากมายหรือ?
 
ใครรู้ช่วยบอกที่เถอะว่า ทำไมรัฐบาลปู ร่างทรงของสัมภเวสีไร้แผ่นดิน หลังจากได้เข้าไปสัมผัสการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีอาเซียนแล้ว กระสันอยากเข้าประชาคม หรือสังคมอาเซียนจนตัวสั่น ถึงขั้นบีบให้ประชาชนทั้งประเทศต้องร่วมเป็นลูกหาบลูกคอน ทั้งๆ ที่ชาวบ้านเองก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะได้ประโยชน์อะไร พื้นที่จะปลูกผักทำสวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ก็แทบจะไม่มีเหลือ กลับไม่สนใจ.
 
 
เรื่องโดย - มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท, สะรอนี ดือเระ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
ภาพโดย - อารีด้า สาเม๊าะ


กำลังโหลดความคิดเห็น