xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งแวดล้อม ม.อ.แนะรับมือ 8 พื้นที่เสี่ยงในสงขลา-พัทลุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แกนนำนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และทีมงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งเดินหน้าจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 ใน 8 พื้นที่ ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แก่ตัวแทนประชาชน ตัวแทนภาครัฐ และเอกชนถึงวิธีการปรับตัวดังนี้

1.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาทางทะเล เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมถึงความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ ทะเลน้อย มีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปรับตัวกับการอาศัยอยู่กับน้ำมาเนิ่นนาน ได้แก่ การสร้างบ้านยกพื้น การมีเรือเพื่อสัญจรช่วงน้ำท่วม รวมไปถึงการประกอบอาชีพที่หลากหลาย เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพ

2.อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง บรรยายถึงผลกระทบจากลมพายุ และน้ำจืดจากแผ่นดินที่ถูกผลักดันมาลงทะเลสาบสงขลาแก่ชาวประมงของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง และสัตว์ทะเลที่หนีน้ำจืดออกไปยังทะเลลึก

3.อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง รศ.ดร.สายัณห์ สดุดี และ รศ.ดร. บัญชา สมบูรณ์สุข สองนักวิชาการด้านทรัพยากรการเกษตร บรรยายถึงความเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญสิ้นเกษตรกรชาวนา และข้าวพันธุ์พื้นเมือง เช่น ข้าวพันธุ์สังข์หยด

4.ชายหาดแหลมโพธิ์ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผศ.พยอม รัตนมณี และคุณอดุลย์ เบ็ญนุ้ย สองนักวิชาการด้านการกัดเซาะชายฝั่ง เสนอแนะมาตรการการปรับตัวในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ควรมีการศึกษา และสำรวจชนิดพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่ง

5.พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง และเทือกเขาสันการาคีรี จังหวัดสงขลา ผศ.ดร.ปาริชาติ วิสุทธิสมาจาร นักวิชาการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ บรรยายถึงความสำคัญทางชีวภาพของพรุควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย ทรัพยากรดังกล่าวกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก จนส่งผลให้สิ่งมีชีวิตทั้งพืช และสัตว์ที่หายาก และอยู่ในภาวะเสี่ยงอาจจะสูญพันธุ์ไปได้ในอนาคต

6.อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า ตำบลเขาปู่ อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง รศ.ดร.ดนุพล ตันนโยภาส นักวิชาการด้านดินถล่ม แจ้งเตือนประชาชนให้มีการปรับตัวด้วยการละเว้นการบุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันในพื้นที่ลาดชัน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ไม่มีรากต้นไม้ยึดหน้าดิน และเกิดดินถล่มเมื่อมีฝนตกหนักในที่สุด

7.วัดพะโคะ อ.สทิงพระ จังหวัดสงขลา รศ.ดร.ศรีสุพร ปิยะรัตนวงศ์ นักวิชาการด้านศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรมบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา รวมไปถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์ที่มีจิตศรัทธาในการบูรณะมรดกทางวัฒนธรรมในทางที่ไม่ถูกวิธีตามข้อกำหนดของกรมศิลปากร เช่น การใช้ปูนวิทยาศาสตร์ฉาบผนัง แทนปูนตำที่ผสมกับน้ำผึ้งโบราณ การปูกระเบื้องสมัยใหม่บนอาคารไม้ที่อาจมีการผุพังจากความชื้น และปลวก ทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักไว้ได้

8.ชุมชนเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ หัวหน้าศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการเป็นพื้นลุ่มรองรับปริมาณน้ำฝนของชุมชนเมืองหาดใหญ่ ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองหาดใหญ่ ต้องรับกับสถานการณ์น้ำท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้ที่สนใจ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.onep.go.th/slbproject 2555 หรือ Facebook และ fangage ที่ใช้ชื่อว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน

 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น