xs
xsm
sm
md
lg

“กมธ.ป.ป.ช.สภา” ลุยตรวจอาคาร มทร.ตรังส่อทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร ลงตรวจสอบอาคารปฏิบัติการโรงแรมท่องเที่ยว “มทร.ตรัง” หลังถูกปล่อยทิ้งร้างมานานกว่า 3 ปี เพราะถูกกล่าวหาว่ารุกป่า และมีการทุจริต
 
วันนี้ (18 ม.ค.) พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารศูนย์ปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยวของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) วิทยาเขตตรัง ที่ใช้งบประมาณ 125 ล้านบาท แต่ได้ก่อสร้างรุกล้ำแนวเขตป่าชายเลน ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา
 
จากการตรวจสอบโดยรอบพบว่า ตัวอาคารที่ก่อสร้างไปแล้ว 89% มีสภาพทรุดโทรมไปมากแล้ว รวมทั้งไม้ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการก่อสร้างอาคารก็เริ่มเปลี่ยนสภาพผุพัง เนื่องจากสภาพอากาศแปรเปลี่ยน มีหญ้าขึ้นรกปกคลุมไปทั่วบริเวณ และยังพบความผิดปกติของรูปแบบการก่อสร้างอาคารดังกล่าว ซึ่งเดิมทีได้ขออนุญาตสร้างเป็นอาคารชั้นเดียวทรงสูงขนาด 3 ชั้น แต่กลับมีการสร้างเป็นกลุ่มอาคารหลายหลังแทน และพื้นที่ก่อสร้างก็รุกล้ำแนวเขตป่า 300 เมตร
 
จากนั้น พล.ต.ท.วิโรจน์ พร้อมคณะ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายอำเภอสิเกา เจ้าพนักงานที่ดิน ผู้บริหาร มทร.วิทยาเขตตรัง หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 31 (สิเกา) ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการป่าไม้ที่ 12 (นครศรีธรรมราช) ผกก.สภ.สิเกา คณะกรรมการตรวจการจ้างการก่อสร้าง และ หสน.จำกัด มหานครการช่าง ผู้รับเหมาก่อสร้าง เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีมีการร้องเรียนว่าการก่อสร้างอาคารดังกล่าวของของ มทร.ตรังส่อไปในทางทุจริต
 
ทั้งนี้ ผศ.กฤษฎา พราหมณ์ชูเอม อดีตรองอธิการบดี มทร.วิทยาเขตตรัง ชี้แจงว่า เดิมพื้นที่ที่ก่อสร้างเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองกะลาเส มีพื้นที่รวม 1,700 ไร่ และยังมีสภาพเสื่อมโทรม เพราะมีราษฎรบุกรุกครอบครองมาก่อน ต่อมา กรมป่าไม้ได้มีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่เมื่อปี 2535 พร้อมทั้งร่วมกับฝ่ายปกครอง แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหาการบุกรุก ด้วยการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ราษฎรทั้ง 15 รายที่เข้ามาอยู่ในป่าแห่งนี้
 
จากนั้น ในปี 2536 ทาง มทร.ได้สร้างรั้วลวดหนามปักหลักหมุด และทำป้ายประกาศเพื่อให้สาธารณชนรับทราบแนวเขต และในปี 2550 จึงได้ก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยว โดยปฏิบัติตามระเบียบทุกขั้นตอน แต่พอผู้รับเหมาดำเนินงานมาระยะหนึ่งก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากมีการร้องเรียนว่ามีการก่อสร้างนอกเขตที่ขออนุญาต และยังรุกล้ำแนวเขตป่า กระทั่งได้มีการตรวจยึดพื้นที่ และแจ้งความดำเนินคดี
 
ส่วนรูปแบบการก่อสร้างจากเดิมที่ขออนุญาตเป็นอาคารชั้นเดียวทรงสูง 3 ชั้น แต่กลับมีการเปลี่ยนมาสร้างกลุ่มอาคารแทนนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทาง มทร.ได้รีบเร่งยื่นของบจากสำนักงบประมาณ 120 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารดังกล่าว เพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญเขียนแบบแปลนให้ และเพิ่งมีการนำเสนอแบบแปลนในภายหลัง โดยที่คนเขียนแบบเข้าใจผิดว่าจะก่อสร้างเป็นกลุ่มอาคารกลุ่มหลายหลัง แต่ก็แก้ไขไม่ทันแล้ว
 
ขณะที่นายวิลาศ บูรณะวัฒนากุล ผู้จัดการ หสน.จำกัด มหานครการช่าง ชี้แจงว่า หลังจากอาคารที่ก่อสร้างถูกตรวจยึดไป สามารถเบิกเงินมาได้เพียง 64 ล้านบาท แต่ยังเหลือเนื้องานที่ทำไปแล้ว และยังเบิกเงินไม่ได้อีก 43.6 ล้านบาท อีกทั้งหลังจากถูกร้องเรียน อาคารแห่งนี้ก็ถูกทิ้งให้ร้างลงนับตั้งแต่เมื่อปี 2552
 
อย่างไรก็ตาม ในการรับฟังคำชี้แจงนานกว่า 7 ช.ม. ทางคณะ กมธ.ป.ป.ช.ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการยื่นของบก่อสร้างอาคารของ มทร.ตรัง ซึ่งไม่มีแบบแปลนยื่นแนบพร้อมกับคำร้อง อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
นอกจากนั้น การชี้แจงของฝ่ายผู้บริหารชุดที่ผ่านมาก็ยังไม่ตรงกับข้อมูลที่ได้มีการร้องเรียนเข้ามา จึงขอให้นายสมควร ขันเงิน นายอำเภอสิเกา กับ พ.ต.อ.วิชัย อินทวงศ์ ผกก.สภ.สิเกา ไปดำเนินการสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องทุกคน และรวบรวมหลักฐาน ทั้งฝ่ายผู้ร้อง และฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาอย่างละเอียดครบถ้วน ก่อนนำเสนอให้พนักงานอัยการได้สรุปสำนวนอย่างถูกต้องเพื่อมิให้เกิดข้อครหาต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น