ตรัง - บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.ตรัง ปรับสถานที่ใหม่ให้เหมาะสมเพื่อรองรับการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวโรฮิงญา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก และเยาวชนให้ดีที่สุด แม้จะต้องมีภาระเพิ่มขึ้น
วันนี้ (18 ม.ค.) นางภารวี วัตตะสิงห์ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จ.ตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ทางบ้านพักได้ให้การช่วยเหลือดูแลชาวโรฮิงญา ทั้งชาย และหญิง จำนวน 13 คน ซึ่งถูกส่งตัวมาจากบ้านพักเด็กและครอบครัว จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.2556 ที่ผ่านมา โดยเป็นเด็ก และเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 12 คน และผู้ใหญ่ อายุ 40 ปี เพียงคนเดียว ล่าสุด เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตรังได้ร่วมกับนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ทำการตรวจสุขภาพเบื้องต้น และให้คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางในการดูแลชาวโรฮิงญาเหล่านี้
นอกจากนั้น คณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ตรัง ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการสื่อสาร โดยส่งล่ามมาประจำยังบ้านพัก ขณะที่ชาวโรฮิงญาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กๆ ต่างพยายามปรับตัวให้อยู่ในกรอบ หรือระเบียบวินัย และเรียนรู้ภาษาที่จำเป็นต้องใช้ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ส่วนเรื่องอาหารก็ยังไม่ประสบปัญหา เพราะมีงบประมาณของทางราชการอยู่แล้ว ประกอบกับได้รับการบริจาคเพิ่มเติมมาจากบุคคลภายนอกด้วย และคาดว่าน่าจะต้องดูแลชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ไม่เกิน 1 เดือน ก่อนผลักดันไปยังประเทศที่ 3
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบ้านพักเด็กและครอบครัว จ.ตรัง มีสถานที่จำกัด และที่ผ่านมา ก็เคยรองรับผู้ที่ประสบปัญหาสูงสุดจำนวนแค่ 12 คน จึงต้องจัดสถานที่ใหม่ให้เหมาะสมต่อการพักอาศัย โดยย้ายเด็ก และเยาวชนชาวไทย จำนวน 6 คน ไปอยู่ในห้องประชุม แล้วให้ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ไปอยู่ในห้องกิจกรรม พร้อมแยกชาย-หญิงอย่างชัดเจน ทำให้ขณะนี้ ทางบ้านพักมีบุคคลที่ต้องดูแลถึง 19 คน แต่ก็พยายามจัดสรรเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือให้ดีที่สุด แม้จะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นก็ตาม เพราะเป็นหน้าที่สำคัญตามหลักมนุษยธรรม