ปัตตานี - การสัมมนาอิสลามนานาชาติ ครั้งที่ 2 “อิสลามศึกษากับการเปลี่ยนแปลงของโลกไร้พรมแดน” เตรียมประกาศปฏิญญาปัตตานี ครั้งที่ 2 สานความร่วมมือด้านวิชาการ และสนับสนุนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพมากยิ่งขึ้น
วันนี้ (15 ม.ค.) ที่หอประชุมวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดเวทีเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ ทั่วโลก ทั้งมาจากมหาวิทยาลัยในแถบเอเชีย และยุโรป โดยมีการนำเสนอผลงานการวิจัยอิสลามศึกษาเพื่อให้สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน การจัดทำหลักสูตร การจัดตั้งโปรแกรมการสอน นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ซักถามถึงปัญหาของการประกอบอาชีพ เนื่องจากมีอาชีพที่รองรับผู้เรียนอิสลามศึกษาน้อย โดยปัจจุบัน มีเพียงอาชีพครูเท่านั้น ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่ทางสถาบันอิสลามศึกษาทั่วโลกได้ตระหนักอย่างยิ่ง สถาบันการศึกษาอิสลามในแถบยุโรปจึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกเรียนวิชาโทในสาขาอื่นๆ เช่น เลือกวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ
ด้าน ศ.ดรกนก วงศ์ตระหง่าน ในฐานะผู้มีส่วนผลักดันให้เกิดการสัมมนาอิสลามระดับนานาชาติขึ้นเพื่อติดตามความคืบหน้าของปฏิญญาปัตตานี ครั้งที่ 1 กล่าวว่า จะมีการประกาศปฏิญญาปัตตานี ครั้งที่ 2 ขึ้นในตอนเย็นของวันนี้
สำหรับปฏิญญา ครั้งที่ 1 เป็นผลสืบเนื่องจากการเสวนาอย่างเข้มข้นในการสัมมนานานาชาติว่าด้วย “บทบาทอิสลามศึกษาในหลังยุคโลกาภิวัตน์” ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.ปัตตานี ระหว่างวันที่ 15-17 มุหัรรอม ฮ.ศ.1432 ซึ่งตรงกับวันที่ 21-23 ธ.ค.2553 มีการเห็นพ้องกันบนบรรทัดฐานหลักที่จะพัฒนาอิสลามศึกษาดังต่อไปนี้
- อิสลามศึกษาจักต้องเผยคุณค่าแห่งสันติภาพ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ใช่เฉพาะระหว่างชาวมุสลิมเท่านั้น หากต้องครอบคลุมมนุษยชาติทั้งมวลด้วย
- การบูรณการระหว่างวิทยาการ และความรู้แขนงต่างๆ กับเป้าประสงค์แห่งบทบัญญัติอิสลามเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพ และการสร้างสรรค์ให้มากขึ้นในสังคม และเพื่อการพัฒนาอนุชนรุ่นหลังต่อไป
- อิสลามศึกษาจักต้องฟื้นฟูหลักจำเป็นพื้นฐานร่วมกันของสังคม เพื่อสนับสนุนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มุ่งให้เกิดการพัฒนา การฟื้นฟู การอำนวยสันติสุขตลอดจนผดุงความยุติธรรมในสังคม
- อิสลามศึกษาจักต้องเผยให้เห็นถึงคุณลักษณะแห่งความเป็นสากลของศาสนาอิสลาม ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการเกื้อหนุนซึ่งกันและกันระหว่างประชาคมมนุษย์ทุกเชื้อชาติ
- อิสลามศึกษาจักต้องเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการเปิดโอกาสในเรื่องเสรีภาพ และสนับสนุนการสานเสวนา เพื่อปกป้องสังคมให้พ้นจากมายาคติทางชาติพันธุ์ และความสุดโต่ง สร้างจุดร่วมระหว่างมวลมนุษย์ และอำนวยให้เกิดสันติภาพขึ้นเพื่อความเป็นเมตตาธรรมแก่สากลโลก