หนุ่มชาวสวนระนองพร้อมพี่ชาย ร่วมลงทุนเลี้ยงผีเสื้อนานาพันธุ์ส่งขายตลาดทั้งใน และต่างประเทศ สร้างรายได้งาม แต่ไม่หวังเรื่องผลกำไร เน้นช่วยแพร่พันธุ์จำนวนผีเสื้อ เผยการเลี้ยงต้องมีใจรักไม่ใช่หวังแต่เรื่องเงินต้องเน้นการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม
นายเกรียงไกร เรืองฤทธิ์ อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 18/1 ม.5 ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง เกษตรกรชาวสวนที่เลี้ยงผีเสื้อเป็นอาชีพ เปิดเผยว่า ตนพร้อมพี่ชายซึ่งมีอาชีพทำสวน ได้ร่วมกันเลี้ยงผีเสื้อหลากหลายสายพันธุ์ 10 กว่าสายพันธุ์เป็นอาชีพเสริม เพื่อส่งขายตามตลาดต่างๆ ให้แก่ผู้ที่มีใจรักในเรื่องของผีเสื้อ จากเดิมมีตลาดขายส่งอยู่ที่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ สวนรถไฟ กทม. ปัจจุบันนี้ ขยายตลาดไปในอีก 2 จังหวัดคือ จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดศรีสะเกษ รวมทั้งต่างประเทศ มีทั้งอังกฤษ และญี่ปุ่น
“ถือว่าประสบความสำเสร็จไปอีกระดับในการขยายตลาดไปสู่ผู้ที่ชื่นชม และรักผีเสื้อ และแม้ว่าจะมีการขยายตลาดในจำหน่ายผีเสื้อมากขึ้น แต่เราไม่ได้หวังเพียงจำนวนเงิน หรือผลกำไรมากๆ เราต้องการเน้นเรื่องการเพาะขยายพันธุ์ผีเสื้อ เพื่อให้กลับคืนสู่ธรรมชาติคืนสู่ป่ามากกว่า”
ดังนั้น การเลี้ยงผีเสื้อจึงต้องมีใจรักในเรื่องของธรรมชาติเป็นอย่างมาก ไม่ใช่หวังเพียงตัวเงิน หรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว การเลี้ยงผีเสื้อในแต่ละรุ่นก่อนเลี้ยงต้องมีการศึกษาวงจรชีวิต มีการทดลองหลากหลายขั้นตอน เพื่อให้เข้าใจถึงธรรมชาติของผีเสื้อ และต้องดูแลป่าตรงนั้นให้สมบูรณ์ หากป่าถูกทำลาย ผีเสื้อก็จะสูญพันธุ์ไปด้วย
แต่พบว่า การดำเนินการยังมีข้อจำกัด เนื่องจากการเลี้ยงผีเสื้อไม่เหมือนกับอาชีพอื่น ต้องใช้ความรัก ความอดทน รวมถึงขั้นตอน และกรรมวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่ก็ถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่ดี โดยปัจจุบัน ตนมีผีเสื้อกว่า 10 ชนิด ที่มีการนำมาขยายพันธุ์ และมีหนอนผีเสื้อที่กำลังอนุบาลกว่าหมื่นตัว
โดยก่อนหน้านี้ พี่ชายทำงานในฟาร์มเลี้ยงผีเสื้อ ซึ่งตำแหน่งงานแรกที่ได้รับมอบหมายคือหาต้นไม้ ใบไม้ที่หนอนผีเสื้อกินได้ โดยมีชาวต่างประเทศซึ่งเป็นชาวอังกฤษเจ้าของฟาร์มนำไปขึ้นเขาใน จ.ภูเก็ต และแนะนำพันธุ์ไม้ ใบไม้ต่างๆ ให้ตนรู้จักว่ามีพืชชนิดใดบ้างที่ผีเสื้อชอบกิน ซึ่งตนก็ได้เรียนรู้เรื่อยมา โดยทำงานอยู่ในฟาร์มดังกล่าวประมาณ 10 ปี ทำให้ทราบถึงขั้นตอน และรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงผีเสื้อ โดยช่วงแรกที่เริ่มเลี้ยง มาหาที่ในอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง และมีพ่อแม่พันธุ์ผีเสื้อ 2-3 ชนิดที่ช่วยกันขึ้นไปจับบริเวณภูเขา และป่าในพื้นที่ อ.สุขสำราญ ต่อมา ได้พบพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ชนิดใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีกว่า 10 สายพันธุ์
สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงผีเสื้อ เริ่มจากการหาพ่อแม่พันธุ์ จากนั้นเมื่อได้พ่อแม่พันธุ์ตามที่ต้องการก็จะนำไปใส่ในโรงเรือน ซึ่งจะสร้างเป็นกรงล้อมปิดด้วยตาข่ายตาถี่ ด้านในมีการสร้างให้เป็นธรรมชาติ เป็นป่าโปร่ง และมีต้นไม้ ใบไม้ที่ชนิดที่ผีเสื้อชอบกิน มีธารน้ำไหลผ่าน และนำดอกชบาสีแดงมาช่วยสร้างบรรยากาศ เพื่อให้พ่อแม่พันธุ์มีการผสมพันธุ์กัน หลังจากผสมพันธุ์ แม่พันธุ์ก็จะตั้งครรภ์ และออกไข่ ซึ่งในช่วงการออกไข่ จะต้องแยกแม่พันธุ์ออกมาบรรจุในคอกขนาดเล็กที่มีใบไม้เป็นอาหาร
โดยอาจจะสร้างคอก หรือกรงขนาดเล็กคลุมตามต้นไม้ต่างๆ เพื่อให้แม่พันธุ์ออกไข่ หลังจากนั้น ไข่ก็จะใช้ระยะเวลาฟักตัวเป็นตัวหนอนเล็กๆ และกลายเป็นดักแด้ในที่สุด ซึ่งเมื่อกลายเป็นดักแด้ก็จะเป็นขั้นตอนที่สามารถเก็บดักแด้ส่งไปขายยังตลาดต่างประเทศ ยุโรปก็จะมีประเทศอังกฤษ เอเชียก็จะมีประเทศญี่ปุ่น ส่วนตัวอายุ 2-3 ปี ก็จะส่งขายเป็นตัวผีเสื้อในตลาดในประเทศไทย
ปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ต้องมีใจรัก และต้องทราบตลาดว่าเมื่อผลิตได้แล้วจะส่งไปจำหน่ายที่ไหน อีกประการคือ ผีเสื้อเป็นสัตว์ที่เปราะบางมากผู้เลี้ยงต้องใจเย็น รัก และเข้าใจในวงจรชีวิตของสัตว์ชนิดนี้ จึงจะสามารถสร้างฟาร์มผีเสื้อได้ โดยในเขตพื้นที่ภาคใต้ทราบว่า ปัจจุบันนี้มี 2 แห่ง คือที่ จ.ระนอง และที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นของชาวต่างประเทศ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ยังไม่ทราบว่ามีที่ใดอีกบ้าง แต่จากประสบการณ์ตนเคยคิดที่จะไปเปิดฟาร์มที่เชียงราย แต่พบว่าอากาศไม่เอื้ออำนวย มีฤดูแล้ง และหนาวมากเกินไป ผีเสื้อจะไม่ชอบ ผสมพันธุ์ยาก