เชียงราย - ผบ.หน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขงนำทีมปล่อยพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ปลาบึกหนัก 50-70 กิโลกรัมลงน้ำโขง กระตุ้นกระแสอนุรักษ์ปลาบึก เพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง
พล.ร.ต.รังสรรค์ โตอรุณ ผบ.หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) ได้เป็นประธานในพิธีปล่อยพันธุ์ปลาบึกลงสู่แม่น้ำโขงตามโครงการปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์ปลาบึกคืนถิ่นกำเนิดแม่น้ำโขง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา 5 ธ.ค. 2555 ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง หน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน ชายแดนไทย-สปป.ลาว วานนี้ (11 ธ.ค.)
โดยมี น.อ.โสภณ รัชตาภิรักษ์ ผบ.นรข.เขตเชียงราย, นายประจวบ กันธิยะ นายอำเภอเชียงแสน, นายชยกฤษ นิสสัยสุข นายกเทศมนตรีเวียงเชียงแสน, นายเสน่ห์ ผลประสิทธิ์ เจ้าของฟาร์มวังปลาบึก อ.เวียงชัย จ.เชียงราย อดีตผู้เชี่ยวชาญระดับ 10 ของกรมประมง นำพันธุ์ปลาไปร่วมปล่อยด้วยเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางประชาชน ส่วนราชการ นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 เชียงแสน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
พล.ร.ต.รังสรรค์กล่าวว่า โครงการนี้ นรข.และสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง ร่วมกับภาคเอกชน เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกซึ่งถือเป็นปลาประจำถิ่นในแม่น้ำโขงที่หายากขึ้นทุกที จนถึงขั้นกำลังใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำโขง มีเพียงปลาเลี้ยงที่มีอยู่ทั่วไป
ดังนั้น จึงเห็นสมควรร่วมกันอนุรักษ์เพื่อให้คงอยู่คู่กับแม่น้ำโขงต่อไป โดยปล่อยพันธุ์ปลาครั้งนี้ก็จะช่วยเพิ่มจำนวนพ่อแม่พันธุ์ได้อีกมาก และทั้งช่วยสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกตามอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ป่า รวมถึงการอนุรักษ์ปลาและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในแม่น้ำโขงด้วย
สำหรับการปล่อยพันธุ์ปลาบึกครั้งนี้ ทางฟาร์มวังปลาบึกได้นำพ่อ-แม่พันธุ์ปลาบึก อายุ 10-20 ปี น้ำหนักประมาณ 50-70 กิโลกรัม จำนวน 46 ตัวลงปล่อย นอกจากนี้ยังมีปลาเทพาขนาดใหญ่อีกจำนวนมาก ซึ่งคาดการณ์กันว่าเมื่อปลาเหล่านี้ได้กลับคืนสู่ถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติแล้ว จะผสมพันธุ์กันเอง และสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ปลาบึกในแม่น้ำโขงได้ต่อไป
ส่วนเจ้าของฟาร์มวังปลาบึกดังกล่าว ช่วงรับราชการถือเป็นคนแรกที่ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกด้วยวิธีผสมเทียมเป็นครั้งแรกจากน้ำเชื้อและไข่ปลาบึกที่จับได้ในแม่น้ำโขงเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2526 กระทั่งปัจจุบันทางกรมประมงสามารถพัฒนาวิธีการเป็นการนำไข่และน้ำเชื้อจากปลาที่ทำการเพาะพันธุ์ได้เองโดยไม่ต้องใช้ปลาในแม่น้ำโขงแล้ว