xs
xsm
sm
md
lg

คำถามต่อเหตุผลในการขึ้นค่า Ft รอบใหม่ (ม.ค.-เม.ย.56) / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
 
รัฐบาลโดยการเสนอของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังจะประกาศขึ้นค่าเอฟที (Ft) ในช่วง 4 เดือนข้างหน้า (มกราคม-เมษายน 2556) จำนวน 4.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 2-8 มกราคมนี้ เมื่อความเข้าใจ และสะดวกผมขอนำเสนอเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ผมได้อ่านข้อเสนอนี้หลายรอบ ขอเรียนตามตรงว่าอ่านยากมากครับ ไม่ใช่เพราะเนื้อหามันยากอย่างเดียว แต่เป็นเพราะว่าโครงสร้างในการนำเสนอ การจัดหมวดหมู่ รวมทั้งภาษาที่ใช้ ไม่เชื่อก็ลองเข้าไปอ่านดูครับ ผมเองแม้เป็นอาจารย์คณิตศาสตร์ และสนใจเรื่องนี้มานานยังอ่านไม่ค่อยเข้าใจเลยครับ ขอได้โปรดประณีตหน่อยครับ

สอง ค่า Ft คือค่าใช้จ่ายที่แปรผันในการผลิตไฟฟ้าซึ่งอาจเกิดการแปรผันจาก 4 อย่าง ต่อไปนี้คือ (1) ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง (2) ค่าซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชน รวมทั้งจากต่างประเทศ (3) ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล เช่น การอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่รายได้น้อย (ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน) กองทุนรอบโรงไฟฟ้า เป็นต้น และ (4) อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินซึ่งมีผลทำให้ค่าเชื้อเพลิงเปลี่ยนแปลง

สาม กกพ. ประเมินว่า ค่า Ft ในช่วง 4 เดือนดังกล่าวจะเพิ่มจาก 4 เดือนก่อน (ก.ย.-ธ.ค.55 ซึ่งเก็บในอัตรา 48 สตางค์ต่อหน่วย) อีก 13.57 สตางค์ต่อหน่วย แต่ กกพ.เกรงว่าประชาชนจะเดือดร้อนจึงขอเก็บแค่ 4.04 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่า Ft ที่ต้องเก็บในช่วง 4 เดือนนี้เท่ากับ 52.04 สตางค์ต่อหน่วย (ส่วนที่เหลืออีก 9.53 สตางค์ต่อหน่วย ให้ กฟผ.จ่ายแทนประชาชนเป็นการชั่วคราว แล้วค่อยเรียกคืนในภายหลัง คิดเป็นเงินในช่วง 4 เดือนประมาณ 5,131 ล้านบาท)

สี่ ในแต่ละปีคนไทยใช้ไฟฟ้าประมาณ 150,000 ล้านหน่วย ดังนั้น ถ้าขึ้นค่า Ft อีก 1 สตางค์ต่อหน่วย ก็คิดเป็นเงินเพิ่มอีกปีละ 1,500 ล้านบาท ไม่ใช่น้อยเลยใช่ไหมครับ ผมได้แสดงวิธีการคิด และเปรียบเทียบค่าไฟฟ้าทั้งสองกรณีมาให้ดูด้วย
 

 
ห้า เหตุผลที่ กกพ.ใช้อ้างก็คือ ก๊าซธรรมชาติขึ้นราคาจาก 308.53 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 310.66 บาทต่อล้านบีทียู (หรือเพิ่มขึ้น 2.13 บาท) ในขณะที่ราคาถ่านหิน 2 ชนิดก็ลดลง ค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากต่างประเทศก็ลดลง น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซลจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่น่าเสียดายที่ กกพ. ไม่ได้ให้ข้อมูล 2 อย่างคือ (1) สัดส่วน หรือร้อยละของเชื้อเพลิงแต่ละชนิดเป็นอย่างไร และ (2) ไฟฟ้าหนึ่งหน่วยใช้ก๊าซกี่บีทียู หรือกี่ลูกบาศก์ฟุต

หก ผมค้นข้อมูลของ กฟผ. พบว่า ในการผลิตไฟฟ้า 1 หน่วยนั้น ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติจำนวน 8.5-8.7 ลูกบาศก์ฟุต หรือประมาณ 8,600 บีทียู ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยทั้งหมดมาจากก๊าซธรรมชาติ 67% ถ่านหิน 19% น้ำ 4% รวม 3 อย่างนี้ก็ 88% แล้ว ดังนั้น ต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจึงอยู่ที่ก๊าซธรรมชาติอย่างเดียว ที่เหลือราคาลดลงเกือบทุกอย่าง

เจ็ด กกพ.บอกว่าราคาก๊าซในรอบ 4 เดือนที่แล้วเท่ากับ 308.53 บาทต่อล้านบีทียู แต่จากข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ราคาก๊าซที่ขุดเจาะในประเทศไทยมีการซื้อขาย และคิดค่าภาคหลวงที่ปากหลุมในช่วงเดียวกันราคา 227.4 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น สมมติว่านำก๊าซนี้ไปผลิตไฟฟ้าก็จะเสียค่าเชื้อเพลิง 1.95 บาทต่อหน่วย ประเทศไทยมีการนำเข้าก๊าซจากพม่ามาผลิตไฟฟ้าประมาณ 19% ด้วยราคาที่สูงกว่าก๊าซที่เราผลิตได้เอง แต่ราคาเป็นเท่าใดก็ไม่ได้มีการชี้แจงให้ชัดเจน ราคาถ่านหินที่ กกพ.ชี้แจงก็มีราคาสูงเกินจริงเมื่อเทียบกับข้อมูลที่อยู่ในรายงานของ กฟผ.

กกพ.ชี้แจงว่า ราคาก๊าซจะเพิ่มขึ้นเป็น 310.66 บาทต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 2.13 บาท สมมติว่าปัจจัยอื่นคงที่หมด (ทั้งๆ ที่ลดลง) เราจะได้ว่า ราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้นนี้มีผลทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพียง 1.23 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น (ก๊าซ 1 ล้านบีทียู ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 116 หน่วย) ไม่ใช่ 4.02 บาท กกพ. เสนอตัวเลขนี้มาก็เพื่อเอาไปใช้หนี้ในอดีต มีอะไรบ้างโปรดแจงให้ละเอียดครับ

แปด จากประกาศของ ปตท.เรื่องค่าผ่านท่อ (ฉบับที่ 4/2552) พบว่า อัตราค่าบริการผ่านท่อในส่วนต้นทุนคงที่อยู่ระหว่าง 8.59-12.07 บาทต่อล้านบีทียู และส่วนที่เป็นต้นทุนแปรผัน 1.11 บาทต่อล้านบีทียู อ้อ ค่าบริการที่อำเภอขนอม 14.22 บาทต่อล้านบีทียู คิดคร่าวๆ ราคาก๊าซในประเทศไทยประมาณ 239 บาทต่อล้านบีทียู (ยังไม่คิดค่าแยก) อย่างไรก็ตาม ราคานี้ยังห่างไกลจากที่ กกพ. ชี้แจงคือ 308.53 บาท คือสูงกว่าค่า 239 ถึงเกือบ 30%

เก้า กกพ. ชี้แจง (2 ม.ค.) ว่า อัตราแลกเปลี่ยนในช่วง 4 เดือนนี้เท่ากับ 30.82 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ในอีก 2 วันต่อมา หลังจาก กกพ. ชี้แจงอัตราแลกเปลี่ยนก็กลายเป็น 30.62 และ 30.51 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ซึ่งหมายความว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นซึ่งจะมีผลให้ราคาเชื้อเพลิงลดลง ตรงกันข้ามกับที่ชี้แจง

ความจริงเรื่องนี้ กกพ.ไม่น่าจะพลาด เพราะใครก็รู้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังจะตกหน้าผาทางการคลัง ค่าเงินเขาตกตลอดมานานแล้ว ข้างล่างนี้คือข้อมูลครับ
 

 
สิบ ในขณะที่ กกพ. อ้างว่า ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น แต่ราคาก๊าซในสหรัฐอเมริกากลับลดลงอย่างเกือบจะต่อเนื่อง ปัจจุบัน ราคาก๊าซในสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ของที่ราคาที่ กกพ. อธิบาย ดังภาพข้างล่าง
 

 
สิบเอ็ด ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา มีการปรับค่า Ft มาแล้ว 17 ครั้ง ในครั้งที่ 12 (ธ.ค.54) ได้นำค่า Ft ไปรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน แล้วถือว่าค่า Ft ต่อไปเป็นศูนย์ หลังจากนั้น Ft ก็เกิดขึ้นอีกจนถึง 48 สตางค์ต่อหน่วยในเดือนธันวาคม 55 การคำนวณค่า Ft กับการเก็บจริงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการผ่อนปรนของ กกพ. (เช่นในครั้งนี้)

ผมเกิดสงสัยว่า วิธีการคำนวณของ กกพ. มีความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ผมก็ลองคิดเพื่อตรวจสอบ แต่เนื่องจากข้อมูลผมไม่ครบ ผมจึงคิดเฉพาะการขึ้นลงของราคาก๊าซที่ผลิตได้จากประเทศไทยเราเอง ผมต้องการทราบว่า การคำนวณค่า Ft สอดคล้องกับการขึ้นราคาก๊าซหรือไม่

พบว่า ในขณะที่ราคาก๊าซลดลง 3 ครั้ง แต่ปรากฏว่า ค่า Ft ที่คำนวณได้กลับสวนทางเพิ่มขึ้น 1 ครั้ง (ครั้งที่ 4) และบางครั้งราคาก๊าซเพิ่มขึ้นแต่ค่า Ft ที่คำนวณได้กลับลดลง (ครั้งที่ 6) ผมอยากจะสรุปว่า การคำนวณค่า Ft ของ กกพ.ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ผมอยากจะตรวจสอบให้ละเอียด แต่อ่านวิธีการแล้วไม่ค่อยเข้าใจ (อย่างที่เรียนตั้งแต่ต้น)

ผมได้นำผลการตรวจเช็กมาให้ดูด้วยครับ แต่ไม่ต้องสนใจมากก็ได้ครับ ถ้า กกพ. อธิบายทั้งวิธีการคำนวณ และข้อมูลอื่นๆ มาครบถ้วนแล้วค่อยมาตรวจสอบให้ละเอียด
 

 
สิบสอง สรุป ถ้าจำเป็นต้องขึ้นราคาค่าไฟฟ้าเพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ก็คงไม่มีใครว่าอะไร แต่ขอให้มีความโปร่งใสทั้งข้อมูล และวิธีการคำนวณตามที่กล่าวมาแล้วนะครับ ขอบคุณ
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น