xs
xsm
sm
md
lg

“กอ.รมน.ภาค 4 สน.” วอนประชาชนหาหลักฐานก่อนหลงเชื่อข่าวลือจากพวกสุดโต่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “กอ.รมน.ภาค 4 สน.” ออกแถลงการณ์แจงกรณีที่มีผู้ไม่หวังดีได้มีการปล่อยข่าวลือว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รวม 4 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และมีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำ จึงวอนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลือก่อนหาหลักฐานมายืนยัน

วันนี้ (27 ธ.ค.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์อันมีส่วนสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จากการที่มีผู้ไม่หวังดีได้มีการปล่อยข่าวลือว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รวม 4 เหตุการณ์ ได้แก่ เหตุการณ์ที่ 1 นายมาหามะ มะแอ ครูสอนศาสนา ร.ร.ธรรมวิทยามูลนิธิ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2555 เหตุเกิดบริเวณหมู่ 2 บ้านนัดกูโบร์ ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง ปากทางขึ้นถนนสาย 42 ปัตตานี-ยะลา ผลการกระทำ นายมาหามะ มะแอ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

เหตุการณ์ที่ 2 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธประกบยิงนายนายอับดุลลาเต๊ะโต๊ะเดร์ อิหม่ามมัสยิดบ้านอุเบ็ง ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เสียชีวิต เหตุเกิดบนถนนสายยะหา-สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เป็นสาเหตุให้นายอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

เหตุการณ์ที่ 3 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2555 เหตุเกิดบริเวณบ้านดามาบูเวาะ ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิต จำนวน 4 คน และบาดเจ็บจำนวน 4 คน

เหตุการณ์ที่ 4 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2555 เหตุเกิดบริเวณบ้านบูเก๊ะตาโมง ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนแต่งกายใส่ชุดลายพราง สวมหมวกเหล็ก ซุ่มกราดยิงรถโดยสารสองแถวซึ่งกำลังบรรทุกนำข้าราชการ และพนักงานลูกจ้างที่เสร็จสิ้นการปฏิบัติงานกลับบ้านพักอำเภอเจาะไอร้อง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เหตุเกิดบริเวณบ้านบูเก๊ะตาโมง ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้ข้าราชการ และประชาชนเสียชีวิต จำนวน 2 คน บาดเจ็บจำนวน 4 คน

จากเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และมีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำดังกล่าว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ขอชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ส่วนราชการ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคประชาสังคม (NGO) และองค์กรนักศึกษาทุกองค์กรดังนี้

ประการที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ขอยืนยันไม่มีข้าราชการทหาร ตำรวจ ทหารพราน อาสาสมัคร หรือลูกจ้าง ภายใต้การบังคับบัญชาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้กระทำ หรือเกี่ยวข้องกับการสังหาร ทำร้ายประชาชนในเหตุดังกล่าว

ประการที่ 2 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หน่วย และกำลังพลภายใต้บังคับบัญชาตระหนักเป็นอย่างดีว่า สถานการณ์การแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสถานการณ์ “สงครามประชาชน” ที่ฝ่ายรัฐบาลจำเป็นต้องกระทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างความรัก ความศรัทธา และอยู่เคียงข้างกับประชาชน จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จะอนุมัติ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้หน่วย หรือกองกำลังพลภายใต้บังคับบัญชามีการสังหาร ทำร้าย หรือปฏิบัติในสิ่งมิควรกับประชาชน

ประการที่ 3 ขอประชาชนได้ใช้ดุลพินิจต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากสาเหตุจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงโดยตรง สาเหตุอื่นๆ ที่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง และสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุร้าย หรือความมั่นคง ได้แก่ ข้อขัดแย้งจากปัญหาภัยแทรกซ้อนได้แก่ ยาเสพติด การค้าสินค้าเถื่อน อาวุธเถื่อน ความขัดแย้งทางการเมือง และปัญหาส่วนตัว รวมถึงเรื่องความประพฤติส่วนบุคคล และผลประโยชน์ สาเหตุเหล่านี้สามารถขยายตัวจากความขัดแย้งเป็นเหตุรุนแรง และเมื่อเกิดเหตุจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์แฝงของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอยู่แล้วคือ ทำลายความศรัทธาของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ด้วยการปล่อยข่าวลือว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น จชต. เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่

ประการที่ 4 ขอประชาชนได้ตระหนักว่า กลยุทธ์วิธีการการปล่อยข่าวลือเป็นวิธีการที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีแนวความคิด “สุดโต่ง” จำเป็นต้องดำรง และรักษาการปฏิบัติเพื่อเป็นเครื่องมือในการบังคับควบคุมประชาชนด้วยการก่อให้เกิดความหวดกลัว ทำให้ฝ่ายตรงข้ามขาดความน่าศรัทธา หรือความน่าเชื่อถือ เช่น การปล่อยข่าวลือว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำ หรือเกิดความไม่มั่นใจต่อผู้ที่จะเดินทางมาประกอบธุรกิจ หรือลงทุน สร้างรายได้ สร้างการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ดังนั้น โอกาสใด หรือห้วงเวลาใดที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงสามารถปล่อยข่าวลือแล้ว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และในทางตรงกันข้าม สร้างความน่าเชื่อถือต่อฝ่ายตน ดั่งเช่น “การแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่” ก่อเหตุแล้วโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจะกระทำดังเช่น 4 เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น

ประการที่ 5 เพื่อความสงบสุขของประชาชนเป็นส่วนรวม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยังคงยืนยันแนวทางการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันที่ “ปฏิเสธแนวทางการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ แต่ส่งเสริมสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาแบบสันติ ด้วยการออกมาพูดคุย” ซึ่งการออกมาแสดงตน และพูดคุยทางราชการได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้ในหลายประการ

จึงขอให้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในส่วนหนึ่งส่วนใด หรือสงสัยว่ามีรายชื่อที่ทางราชการต้องการตัวได้ตัดสินใจในการออกมาแสดงตน ส่วนบุคคลที่ยังคงถือปฏิบัตินิยมใช้ความรุนแรง และมีแนวความคิด “แบบสุดโต่ง” ขอความร่วมมือจากประชาชนในการประสาน หรือแจ้งเบาะแส เพื่อที่ทางราชการจะได้แสวงหาทางช่วยเหลือ เข้าไปพูดคุยกับบุคคลเหล่านี้ หรือดำเนินการตามกฎหมายอย่างโปร่งใสและยุติธรรมต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น