xs
xsm
sm
md
lg

“กอ.รมน.ภาค 4 สน.” วอนอย่าหลงกลผู้ก่อเหตุรุนแรง พร้อมแจงข้อมูลตลอดเวลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “กอ.รมน.ภาค 4 สน.” ออกแถลงการณ์แจงกรณีผู้ก่อเหตุรุนแรงทำทุกทางเพื่อชิงมวลชน โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักศาสนา มนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชน ยันขอให้ประชาชนอย่าหลงกล หากข้องใจสอบถามข้อมูลได้ตลอดเวลา
 
วันนี้ (22 ธ.ค.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์การก่อความไม่สงบขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2547 โดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งทางราชการได้บัญญัตินามเรียกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางด้านการเมือง และด้านกฎหมายว่า “ผู้ก่อเหตุรุนแรง” ได้ใช้หลายวิธีการในการสร้างความเสียหายต่อภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงภาคประชาชน
 
ทั้งการปฏิบัติทางด้านยุทธวิธี เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สิน และการปฏิบัติด้านมวลชนเพื่อทำลายเครือข่ายภาคประชาชนของรัฐ แล้วดึงไปเป็นเครือข่ายของฝ่ายตน โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักการทางศาสนา มนุษยธรรม หรือสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการปฏิบัติการด้านมวลชน กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้นำวิธีการปล่อยข่าวลือมาใช้ ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลเสียแก่ประชาชนในหลายประการกล่าวคือ
 
 ประการที่ 1 เกิดความกลัว ดั่งเช่นการห้ามประกอบกิจการค้าขายในวันศุกร์ หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามจะถูกทำร้ายร่างกาย หรือทำลายทรัพย์สิน
 
ประการที่ 2 เกิดความรู้สึกเกลียดชิงชังต่อบุคคลฝ่ายรัฐผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท เพื่อความสงบสุขของประชาชน เช่น กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงแต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่ทำการสังหารเจ้าหน้าที่ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ดังเหตุการณ์สังหารนายมาหามะ  มะแอ ครูสอนศาสนา ร.ร.ธรรมวิทยามูลนิธิ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555 เหตุเกิดบริเวณหมู่ 2 บ้านนัดกูโบร์ ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง ปากทางขึ้นถนนสาย 42 ปัตตานี-ยะลา หรือเหตุการณ์สังหารนายอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ อิหม่ามมัสยิดบ้านอุเบ็ง ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 เหตุเกิดบนถนนสายยะหา-สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
 
หรือกรณีมีผู้ร้ายลอบยิงใส่ราษฎร บริเวณร้านข้าวยำ/น้ำชา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 เหตุเกิดบริเวณบ้านดามาบูเวาะ ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส หรือกรณีมีคนร้ายลอบซุ่มกราดยิงรถโดยสารเช่าเหมารับ-ส่งข้าราชการ และพนักงานราชการ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2555 เหตุเกิดบริเวณบ้านบูเก๊ะตาโมง ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส
 
ทุกเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการปล่อยข่าวลือว่า เจ้าหน้าที่ในที่นี้คือ ทหารหลัก ทหารพราน หรืออาสาสมัคร เป็นผู้กระทำนอกเหนือจากการสร้างเหตุการณ์ให้ดูคล้ายจริงคือแต่งกายลอกเลียนแบบเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมาแล้ว เป็นบางส่วน หรือทั้งหมด
 
ประการที่ 3 เกิดความไม่มั่นใจต่อผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ที่จะเดินทางมาประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการทางด้านเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม จากข่าวลือเหตุการณ์ความรุนแรง ร่วมกับกระแสการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนที่อาจจะมีบางส่วนมิได้ใช้ข้อพิจารณาอย่างเพียงพอต่อการนำเสนอภาพ-เสียง-ข้อความ และร่วมกับการใช้สื่อประเภทอื่นในการโหมกระพือเหตุการณ์เช่นใบปลิวเถื่อน หรือการข่มขู่
 
จากรายละเอียดผลของการใช้วิธีปล่อยข่าวลือโดยกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงดังข้างต้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ขอใช้โอกาสทำการชี้แจงต่อประชาชน ส่วนราชการ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคประชาสังคม (NGO) และองค์กรนักศึกษาได้ทราบดังนี้
 
ประการที่ 1 ขอประชาชนทุกภาคส่วนได้กรุณาเข้าใจว่า การปล่อยข่าวลือเป็นวิธีการที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงถือเป็นวิธีหลักในการควบคุม บังคับให้ประชาชนอยู่กับฝ่ายตน หรือวางตัวเป็นกลางไม่ยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายใด ด้วยการทำให้เกิดความกลัว รังเกียจ เข้าใจผิดต่อเจ้าหน้าที่ และไม่แน่ใจ หรือมั่นใจที่จะอยู่ข้างฝ่ายใด ในลักษณะอยู่เฉยๆ จะดีกว่า
 
ประการที่ 2 การปล่อยข่าวลือกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง จะใช้บุคคลผู้ปล่อยข่าวลือเพียงไม่กี่คน กระทำเป็นจุด ด้วยการพูดคุยยกเหตุการณ์แล้วสอดแทรกข่าวลือแทรกเข้าในวงสนทนาในลักษณะเป็น “ข้อสงสัย” หรือ “คำถาม” หรือ “เป็นผู้ได้รับข่าวสาร” ดั่งเช่นกรณีการปล่อยข่าวลือห้ามประกอบกิจการวันศุกร์ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกทำร้าย ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏมีประชาชนคนใดถูกกระทำในลักษณะตอบโต้จากการฝ่าฝืนข่าวลือของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงแต่ประการใด
 
ประการที่ 3 ในกรณีเมื่อเกิดเหตุการณ์แล้ว แล้วมีการปล่อยข่าวลือว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ ขอประชาชนทุกภาคส่วนได้ทำความเข้าใจดังนี้คือ
 
1.หลักการสำคัญที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยึดถือในการแก้ไขปัญหาก็คือ “การพูดคุยอย่างสันติ หลักมนุษยธรรม และหลักมนุษยชน” ดังนั้น จะไม่มีการกระทำใดๆ ที่เป็นการส่งเสริมสนับสนุนพฤติกรรมอันเป็นการล่วงละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การได้รับการปฏิบัติดังเช่นเพื่อนร่วมโลก และการได้รับการเคารพในสิทธิการคงอยู่ ดังนั้น การกระทำอันร้ายแรง เช่น การใช้กำลังข่มขู่ ทรมาน หรือการคุกคามต่อชีวิตจึงเป็นความผิดที่จะต้องได้รับการดำเนินการตามกฎหมายไม่มีข้อยกเว้น
 
2.กำลังพลภายใต้การบังคับบัญชาของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ตระหนักเป็นอย่างดีถึงสภาวะของการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสภาวะของ “สงครามประชาชน” ที่เจ้าหน้าที่ทุกนายจะต้องรับทราบ และเห็นคุณค่าของ “ประชาชน” หรือ “มวลชน” ที่จะต้องดำรง และรักษาให้มีความรู้สึกที่ดี เชื่อมั่น ศรัทธา ต่อรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ทหารพราน และอาสาสมัครจะล่วงละเมิด กระทำร้ายต่อประชาชนในทุกกรณีได้
 
3.โดยข้อเท็จจริงเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีการผสมปะปนจากหลายสาเหตุ ทั้งจากปัญหาผู้ก่อเหตุรุนแรง ปัญหาภัยแทรกซ้อน เช่น ยาเสพติดประเภทต่างๆ ความขัดแย้งทางการเมืองท้องถิ่น และปัญหาส่วนตัว เช่น ชู้สาว หรือผลประโยชน์ ซึ่งในทันที หรือภายหลังเหตุการณ์เกิดขึ้น กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจะถือเป็นโอกาสที่จะทำลายความน่าเชื่อถือต่อเจ้าหน้าที่ด้วยการปล่อยข่าวลือว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำ ซึ่งมีหลายคดีที่ผลการสอบสวนในภายหลังมิใช่สาเหตุจากการก่อความไม่สงบ แต่เป็นสาเหตุอื่นๆ ดังกล่าวมาแล้ว
 
ประการที่ 4 เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริงต่อการรับทราบข่าวสาร อันนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จึงขอความร่วมมือจากประชาชน ส่วนราชการ ภาครัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคประชาสังคม (NGO) และองค์กรนักศึกษาดังนี้
 
1.ขอได้ตระหนัก และมีความเข้าใจถึงวิธีการของขบวนการก่อเหตุรุนแรงที่จะดึงมวลชนให้อยู่กับฝ่ายตน ด้วยการสร้างความกลัว ทำลายความเชื่อถือต่อเจ้าหน้าที่ และสร้างความไม่มั่นใจให้วางตัวเป็นกลางก็คือ การใช้การปล่อยข่าวลือจากเหตุการณ์ที่จะเกิด กำลังเกิด หรือได้เกิดขึ้นแล้ว
 
2.มีความหนักแน่นไม่เชื่อถือเรื่องใดๆ ง่าย เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในสภาวะของสงครามแย่งชิงมวลชน ผสมผสานกับปัญหาอื่นๆ เช่น ภัยแทรกซ้อน ได้แก่ ยาเสพติด การค้าสินค้าเถื่อน อาวุธเถื่อน ปัญหาการเมือง ความขัดแย้งส่วนบุคคล ที่จะมีการปล่อยข่าวลือเพื่อเอื้อต่อผลประโยชน์ฝ่ายตน และลดความเชื่อถือฝ่ายตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา
 
3.ไม่ขยายความข่าวลือไปยังผู้รับฟังในส่วนอื่นๆ เนื่องจากจะเป็นสาเหตุให้เหตุการณ์ที่ดีอาจกลับเป็นเลยร้าย หรือที่ไม่ดีอยู่แล้วกลับเลวร้ายยิ่งขึ้น
 
4.ทำการพิสูจน์ข้อเท็จจริงการผู้รับผิดชอบ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยส่วนงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่พร้อมทำความเข้าใจ หรือชี้แจงคือ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์หมายเลข 0-7326-2689 สำนักปฏิบัติการข่าวสาร โทรศัพท์หมายเลข 0-7326-2594 และ (เบอร์กลาง กอ.รมน.ภาค 4 สน.) 0-7326-2584

กำลังโหลดความคิดเห็น