พัทลุง - ผู้ว่าฯ ลงสำรวจความเสียหายวัดคูหาสวรรค์ พร้อมสั่งสำรวจจุดเสี่ยงบ้านเรือนราษฎรอีกกว่า 500 หลังคาเรือนที่อยู่ติดกับภูเขา เตือนประชาชนหากรู้สึกไม่ปลอดภัยให้อพยพไปอยู่ในเต็นท์ที่ทางเทศบาลเมืองพัทลุงจัดเตรียมไว้
วันนี้ (17 ธ.ค.) นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจวัดคูหาสวรรค์ พระอารามหลวง หลังหินถล่มลงมาจากภูเขาคูหาสวรรค์ ทับกุฏิ พระครูประสาธน์ โสภณ อายุ 99 ปี และส่งผลให้นายชะลอ สุกแก้ว อายุ 42 ปี ลูกศิษย์ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ แพทย์เย็บ 11 เข็ม ส่วนพระครูประสาธน์ เจ้าของกุฏิปลอดภัย ในขณะที่ตัวกุฏิด้านหลังพังเสียหายทั้งแถบ
นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า วัดคูหาสวรรค์ พระอารามหลวง ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพัทลุง และบริเวณโดยรอบภูเขาวัดคูหาสวรรค์ มีบ้านเรือนของราษฎรซึ่งสร้างติดกับภูเขาจำนวนกว่า 500 ครัวเรือน ล่าสุด ได้สั่งการให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสำรวจจุดเสี่ยงอีกครั้ง พร้อมฝากเตือนไปยังประชาชนที่อาศัยอยู่ริมภูเขา โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุเฝ้าระวังตลอด 24 ชม. หากรู้สึกไม่ปลอดภัยให้อพยพมาอยู่ในบริเวณเต็นท์ที่ทางเทศบาลเมืองพัทลุงได้เตรียมไว้
ด้าน นายธวัชชัย เทพสุวรรณ ผู้อำนวยการทรัพยากรธรณีเขต 4 (สุราษฏร์ธานี) กล่าวว่า ภูเขาในจังหวัดพัทลุงส่วนใหญ่เป็นเขาหินปูน หมวดหินชัยบุรี (โคโลไมล์) และหินที่ถล่มลงมาจากยอดเขาวัดคูหาสวรรค์ ระดับความสูงประมาณ 40 ม. น้ำหนักประมาณ 70 ตัน กุฏิได้รับความเสียหายทั้งหลัง และจากการสำรวจบริเวณโดยรอบภูเขาพบจุดเสี่ยงอีกหลายจุด เบื้องต้น ได้แจ้งแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงได้รับทราบแล้ว เพื่อหาแนวทางในการป้องกันต่อไป
นอกจากนั้นแล้ว ภายในวัดพระอารามหลวงยังมีจุดเสี่ยงอีกจุด คือ ตรงหลังโรงเรียนพระพุทธศาสนา ที่บนยอดเจดีย์สูงมีหินผุกร่อน และมีรอยร้าว ที่ในวันธรรมดามีเด็กนักเรียนชั้น ป.4-ป.6 ใช้เป็นสถานที่เรียน และถือเป็นจุดอันตรายที่ต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดหากฝนยังตกลงมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนด้าน นายวาทิน กรดเต็ม รักษาการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า สำหรับกุฏิพระที่หินถล่มเสียหายนั้น กรรมการของวัดพร้อมเจ้าหน้าที่ลงความเห็นว่า ต้องรื้อกุฏิดังกล่าวทิ้ง เนื่องจากสภาพของตัวกุฏิไม่มีความแข็งแรง ถูกกระแทกอย่างหนักโครงสร้างแตกร้าว และมีอายุกว่า 80 ปี โดยจะทำการสร้างใหม่ให้แข็งแรงกว่าเดิม ล่าสุด ทางเทศบาลเมืองพัทลุงได้เตรียมออกแบบอาคารหลังดังกล่าวไว้แล้ว ในขณะเดียวกัน ได้ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อออกสำรวจวัด และสำนักสงฆ์ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
ทั้งนี้ ในจังหวัดพัทลุงวัด และสำนักสงฆ์ที่สร้างอยู่ติดกับภูเขามีประมาณ 30 วัด และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนของจังหวัดพัทลุง และบริเวณที่ตั้งเป็นภูเขาหินปูนทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพัทลุง ได้ประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติดินถล่มแล้ว โดยให้การสนับสนุนเงินช่วยเหลือจำนวน 30,000 บาท และได้กันบริเวณดังกล่าวให้เป็นพื้นที่เขตอันตราย พร้อมขอความร่วมมือพระ และสามเณรห้ามเข้าใกล้อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย