xs
xsm
sm
md
lg

อาลัยประวัติศาสตร์ “สนามหน้าเมืองคอน” เหลือเพียงแค่ที่แสวงหาผลประโยชน์ของบางคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...นักข่าวชายขอบ

“นครศรีธรรมราช” ในอดีตมีชื่อเรียกดินแดนแถบนี้หลายชื่อเป็นเมืองใหญ่ ที่ตะวันตกนิยมเรียกกันมาตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หลายชื่อเช่นตามพรลิงค์, ตันมาหลิง, ตมลิงค์คาม, โลแค๊ก เป็นต้น จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีหลักฐานบันทึกหลายแหล่งนครศรีธรรมราช ถูกเรียกขานในชื่อ “ลิกอร์” สันนิษฐานว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเป็นผู้เรียกก่อน โดยเพี้ยนมาจากคำว่า “นคร” ส่วนชื่อ “นครศรีธรรมราช” มาจากพระนามของกษัตริย์ผู้ครองนครในอดีต ทรงมีพระนามว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” ในเชื้อสายแห่งราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชมีความหมายว่า “นครอันเป็นสง่าแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม” หรือ “เมืองแห่งพุทธธรรมของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่”

ลักษณะที่สำคัญของการเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่มาแต่โบราณที่ในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่เมือง คือ การมีสนามขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าเมือง เช่น เมืองเชียงใหม่ เมืองอุบลราชธานี และในเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร นั่นคือ สนามหลวง ส่วนที่นครศรีธรรมราชสนามแบบนี้ถูกเรียกขานมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทราบได้ ว่า “สนามหน้าเมือง” สนามหน้าเมืองตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนิน เป็นสนามหญ้าที่กว้างใหญ่ที่อยู่นอกเมืองเดิมทางด้านทิศเหนือ

ตามการสืบค้นข้อมูลหลายแหล่งเห็นตรงกันว่า เข้าใจว่าจะสร้างขึ้นตามคติการสร้างเมืองแบบอินเดียโบราณ เช่น เมืองปาตลีบุตร ซึ่งมีสนามหน้าเมืองหรือที่เรียกว่าสนามหน้าลาน เป็นที่ประกอบกิจกรรมสำคัญของบ้านเมือง ทั้งยังมีศาลา “ไสยาทาน” เป็นที่พักแรมคืนสำหรับผู้ที่เดินทางมาถึงในยามวิกาล เข้าเมืองไม่ได้เพราะประตูเมืองปิดแล้ว นั่นคือ ศาลาประดู่หก ฝั่งตรงข้ามของสนามหน้าเมืองนั่นเอง แต่ในอดีตถนนราชดำเนินยังไม่มีเข้าใจว่าอาณาเขตยังเป็นผืนเดียวกัน

สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราชนั้น หากสืบค้นย้อนหลังไปในอดีตเคยใช้เป็นสนามรบพุ่งของเมืองนครศรีธรรมราช ตามกฎการรบแบบโบราณเมื่อข้าศึกมาประชิดเมือง และยังเป็นสถานที่ที่ชาวนครศรีธรรมราชมีความเชื่อสืบทอดกันมานอกเหนือประวัติศาสตร์ที่บันทึก ว่า มุมสนามหน้าเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นจุดที่ใช้เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระผู้ทรงกอบบ้านกู้เมืองจากการเป็นเมืองขึ้นของพม่ารามัญ และทรงก่อตั้งกรุงธนบุรี ปัจจุบัน มีวิหารพระสูงซึ่งเชื่อว่าเป็นการก่อสร้างบนสถานที่ถวายพระเพลิงถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าตากสิน

มาในยุคหลัง ยังเป็นที่ประกอบพิธีสำคัญต่างๆ เช่น เป็นที่สร้างพลับพลารับเสด็จพระเจ้าแผ่นดินหลายรัชกาล เป็นที่ประกอบพิธีสงกรานต์ พิธีถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเคยเป็นงานออกร้านงานเดือนสิบซึ่งเป็นงานบุญประจำปีอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และยังเป็นตลาดนัดช่วงเสาร์-อาทิตย์ ที่ชาวบ้านชานเมืองนำเอาสิ่งของต่างๆ มาขายกันจนเป็นวิถีชีวิตก่อนที่จะย้ายไปขายกันแถวถนนพัฒนาการคูขวาง ส่วนงานเดือนสิบประจำปีย้ายไปยังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 ทุ่งท่าลาด ส่วนสนามหน้าเมืองนั้น ได้ถูกปรับปรุงจนกลายเป็นสนามหญ้าสีเขียวสด และกลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจเดินวิ่งออกกำลังกายรอบสนามของชาวเมืองนครศรีธรรมราชมานับสิบๆ ปีติดต่อกัน

ในทางการบริหารพื้นที่เดิมเมื่อหลายสิบปีก่อน สนามหน้าเมืองอยู่ในความดูแลของสภาจังหวัดนครศรีธรรมราช (ก่อนมีสภาพเป็น อบจ.นครศรีธรรมราช) แต่ด้วยที่สภาจังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่มีงบประมาณในการดูแลจึงมอบพื้นที่ให้แก่เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช (ในขณะนั้น) รับมาบริหารจัดการพื้นที่ปรับปรุงขนานใหญ่ จนกลายเป็นสนามที่สำคัญในการทำกิจกรรมใหญ่ๆ หลายครั้งบนสถานภาพที่เคารพต่อพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมาแต่อดีต

มาในปี 2554-2555 สนามหน้าเมืองแห่งนี้กลับกลายเป็นแหล่งทำมาหากิน และการสร้างผลประโยชน์บนทรัพย์ของแผ่นดินโดยแท้ และมีรูปแบบแบ่งงานกันทำบนผลประโยชน์ที่ลงตัวทั้งวัด ทั้งกรรมการ เข้าทำนองวัดครึ่งกรรมการครึ่ง สนนราคาในการเช้าพื้นที่สนามหน้าเมือง ที่จะต้องผ่านการอนุญาตของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช คิดเป็นรายวันๆ ละ 50,000 บาท และเมื่อมีคนเช่าในราคานี้แล้วสุดแท้แต่คนเช่าจะไปผ่าตัดดัดแปลงแบ่งซอยแล้วก่อให้เกิดรายได้อย่างไรเป็นเรื่องของคนเช่า และคนเช่าจะเป็นคนในเครือข่ายของผู้บริหารเทศบาลแห่งนี้หรือไม่เป็นที่รู้กัน จะเข้าทำนองควักกระเป๋าซ้ายย้ายไปกระเป๋าขวา และมีผลกำไรช่วงนั้นก็สุดแท้แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในทางปฏิบัติที่เห็นๆ กันอยู่ของชาวเมืองนครศรีธรรมราช

ปี 2555 มีเทศกาลสำคัญช่วงเดือนสิบที่ทำให้ชาวนครศรีธรรมราชต้องเอือม เมื่อเดินเข้าไปในงานที่มีคอนเซ็ปต์ “เดือนสิบย้อนยุค” แต่เมื่อเข้าไปแล้วพบกับการแสดงรถยนต์ มีโคโยตี้นุ่งน้อยห่มน้อยเอาแค่ปิดบังสิ่งของสงวนที่บิดามารดาให้มาด้วยผ้าผ่อนชิ้นกระจ้อย เต้นบนเวทีอย่างถึงพริกถึงขิงหนุ่มใหญ่น้อยตาค้างเป็นแถวๆ ถ้าเผลอใจอาจน้ำลายเยิ้มย้อยเอาง่ายๆ ร้านรวงต่างๆ จับของพื้นที่ในราคาล็อกละหลายหมื่นบาทเพื่อทำการค้าการขาย และดูเหมือนว่าสิ่งที่เหลือทิ้งไว้คือ ความฟอนเฟะของสนามหน้าเมืองที่เคยเขียวขจี กับจุดระบายน้ำ และหลุมส้วมเหม็นเน่า

แต่ดูเหมือนจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เดือนสิบมีการจัดงานกัน 10 วัน 10 คืนในช่วงปลายกันยายนต้นตุลาคมแต่ไม่ใช่ 10 วัน 10 คืน สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ถูกยึดหัวหาดมาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเดือนที่ 3 แล้ว ที่ปักหลักพักค้างค้าขายกันอย่างไม่สนใจใคร จะจ่ายให้เทศบาลนครนครศรีธรรมราช วันละ 50,000 บาท ตามระเบียบการหรือไม่นั้น ชาวบ้านคงไม่รู้ได้เพราะมันอยู่กันบนโต๊ะ และเก็บไปซุกในลิ้นชักใต้โต๊ะ

สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมาแต่อดีต มาในวันนี้ผู้ที่มีอำนาจวาสนาในเมืองนครศรีธรรมราช เห็นคุณค่าแผ่นดินผืนนี้แค่เพียงแหล่งผลประโยชน์ที่จะหารายได้ส่วนจะเข้าตัวเองพรรคพวกหรือเพื่อนพ้อง หรือจะเข้าคลังหลวงแค่ไหนอย่างไรอันนี้ไม่รู้ได้จริงๆ คงต้องถามเจ้าตัวว่าบริหารจัดการอย่างไรกับแผ่นดินสนามหน้าเมืองที่ก่อให้เกิดรายได้อย่างงามผืนนี้

ส่วนสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราชที่ทรงคุณค่างประวัติศาสตร์อันยาวนาน ชาวเมืองนครศรีธรรมราชคงได้เวลาในการยืนไว้อาลัยให้รากเหง้า และสิ่งที่เคยเป็นมาตั้งแต่อดีตที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้









กำลังโหลดความคิดเห็น