xs
xsm
sm
md
lg

เยี่ยมยล “พระราชวังเดิม” ในถิ่นราชธานีเก่า “กรุงธนบุรี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ป้อมวิไชยประสิทธิ์
“ธนบุรี” ที่ไม่ใช่ฝั่งธนฯ แต่หมายถึง “กรุงธนบุรี” อดีตราชธานีของประเทศไทย ราชธานีแห่งที่ 3 ถัดจากกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะมีช่วงเวลาเพียง 15 ปี แต่กรุงธนบุรีก็มีความสำคัญเป็นอย่างมากในฐานะที่เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เกิดกรุงเทพมหานคร ราชธานีในยุคปัจจุบัน

เนื่องจากเป็นช่วงประวัติศาสตร์สั้นๆ ทำให้บางคนอาจจะหลงลืมไปบ้างว่ากรุงธนบุรีเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ฉันเลยขอทวนความจำกันเสียหน่อย หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ.2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รวบรวมไพร่พลกลับมาตีเมืองธนบุรีและอยุธยาคืนจากข้าศึก และสร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้นมา คือ “กรุงธนบุรี” เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาเสียหายจนเกินกว่าที่จะเยียวยา
ขึ้นไปสังเกตการณ์ระยะไกลบนป้อม
และภายหลังจากสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระราชวังกรุงธนบุรี” ขึ้นเป็นพระราชวังหลวง โดยทรงใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการ พร้อมกับปรับปรุง “ป้อมวิไชยเยนทร์” ซึ่งเดิมเป็นป้อมปราการของเมืองบางกอก และพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า “ป้อมวิไชยประสิทธิ์”

สาเหตุที่เลือกบริเวณป้อมวิไชยประสิทธิ์ เป็นที่ตั้งของพระราชวัง เนื่องจากเป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ สามารถสังเกตการณ์ได้ไกล อยู่ใกล้ปากอ่าว และอยู่ติดกับแม่น้ำสายใหญ่ ทำให้การคมนาคมสะดวก อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่มีข้าวปลาอาหารพรั่งพร้อม
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ปัจจุบัน พระราชวังกรุงธนบุรี (ในภายหลังจากย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ก็ได้ขนานนามว่า “พระราชวังเดิม”) ซึ่งเป็นพระราชวังหลวงแห่งเดียวของกรุงธนบุรี เป็นสถานที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร และเนื่องจากเป็นสถานที่ราชการ ถ้าหากจะเข้าเยี่ยมชมต้องทำจดหมายขออนุญาตล่วงหน้าเสียก่อน

รับรู้ถึงความสำคัญของสถานที่แห่งนี้แล้ว ฉันก็อยากจะเข้าไปชมของจริงว่าจะเป็นอย่างไร ก็เลยต้องมาเยือนถึงถิ่นด้วยการนั่งเรือข้ามฝากจากท่าเตียนมายังวัดอรุณฯ แล้วเดินลัดเลาะออกมาทางถนนอรุณอมรินทร์ ก่อนจะเข้าไปสู่พื้นที่ของพระราชวังเดิม
ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก-หลังใหญ่
แต่หากว่ามองเข้ามาจากแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นป้อมสีขาวพร้อมกับเสาธงสูง มีธงราชนาวีและธงผู้บัญชาการทหารเรือโบกสบัดเห็นมาแต่ไกล นั่นแหละคือ “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” ที่มีสถาปัตยกรรมเป็นป้อมก่ออิฐฉาบปูน และมีกำแพงรูปแปดเหลี่ยมสองชั้น ที่กำแพงชั้นในจะมีหอคอยกลมสองหลัง ฉันได้ลองขึ้นไปยืนที่บนป้อม มองออกมาก็จะแลเห็นทิวทัศน์ได้ไกลสุดตา เหมือนกับที่ข้อมูลบอกไว้ว่า บริเวณนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สามารถสังเกตการณ์ได้ไกล ใกล้ๆ กับป้อม จะมี “พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ประดิษฐานอยู่ โดยหันพระพักตร์ออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา

เดินตรงเข้ามาที่ประตูทางเข้าสู่พระราชวังเดิมที่ด้านหลังป้อม มองเข้าไปแล้วก็เห็นความสะอาดเรียบร้อย สดชื่น และร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ๆ ส่วนทางขวามือจะเห็นอาคารสีขาว 2 หลังตั้งอยู่เคียงกัน ซึ่งก็คือ “ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก” และ “ตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่” หากว่ามองออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารทางซ้ายมือคือตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก ส่วนอาคารทางขวามือคือตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่
ภาพจิตรกรรมการรบที่จันทบุรี แสดงภายในตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก (ภาพ:มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม)
ฉันเริ่มต้นด้วยการเดินเข้าไปยัง “ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก” ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีน แต่ประยุกต์ประตูหน้าต่างให้เข้ากับสภาพอากาศ เข้าไปด้านในจะเห็นการจัดแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินในด้านการรบ ไม่ว่าจะเป็นการรบสำคัญๆ ที่จะเห็นได้จากภาพจิตรกรรมทั้ง 4 ภาพ อาทิ ภาพการรบทางเรือ หรือการรบที่จันทบุรี

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงอาวุธต่างๆ ที่ใช้ในการทำสงครามในสมัยก่อน ให้ได้จินตนาการถึงความเก่งกาจสามารถของนักรบไทย ที่ต่อสู้กอบกู้บ้านเมือง และทำให้เรามีบ้านเมืองอยู่ได้ในทุกวันนี้ ซึ่งถ้าเดินดูอาวุธต่างๆ เสร็จแล้ว ฉันขอแนะนำให้เดินลึกเข้าไปที่ด้านในสุดของอาคาร จะมีการแสดงประวัติของพระราชวังเดิม และมีการแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างเดิมของตำหนักเก๋งจีนหลังนี้ด้วย
นิทรรศการที่จัดแสดงในตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ (ภาพ:มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม)
จากนั้นก็มาสู่ “ตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่” ที่ตั้งอยู่ติดกัน เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน และจะเห็นความแตกต่างจาตำหนักเก๋งจีนหลังเล็กได้ตรงบริเวณส่วนหลังคา เนื่องจากมีการเขียนสีตกแต่งเป็นลวดลายแบบจีน แต่บริเวณกรอบหน้าต่างเป็นลายประดับแบบไทย

ภายในมีการจัดแสดงภาพนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการต่างประเทศ โดยภาพจิตรกรรมจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างวัง การบูรณวัดและศาสนสถาน การดูแลปากท้องของประชาชน และการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ

แต่ที่ฉันสงสัยก็คือ ในตู้ที่อยู่ตรงกลางห้องนั้น มีการแสดงแร่ต่างๆ รวมถึงเศษไม้หลายชนิด ซึ่งไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร เลยลองถามเจ้าหน้าที่ที่นำชม ได้คำตอบว่า สิ่งของเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออกของไทยในสมัยกรุงธนบุรี มีทั้งไม้ เครื่องเทศ ของป่า และแร่ต่างๆ ซึ่งถือว่าเกี่ยวข้องทั้งในด้านเศรษฐกิจคือการค้าขาย และในด้านความสัมพันธ์กับต่างชาติด้วย
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ความน่าสนใจของสถานที่แห่งนี้ นอกจากจะมีประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าต่างๆ มากมาย ก็ยังมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ซึ่งฉันก็เดินดูอย่างเพลิดเพลิน อย่างที่อยู่ติดกับตำหนักเก๋งคู่ ก็จะเห็นเป็นศาลและเก๋งหลังเล็กๆ เดินเข้าไปดูใกล้ๆ จึงได้รู้ว่าคือ “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ภายในประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในท่าประทับยืนและทรงพระแสงดาบ

และข้างๆ กันคือ “ศาลศีรษะปลาวาฬ” ที่จัดแสดงกระดูกศีรษะปลาวาฬซึ่งถูกพบอยู่บริเวณศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ในช่วงที่มีการบูรณะ อันที่จริงแล้วเป็นศาลหลังใหม่ที่สร้างขึ้นบนฐานของศาลหลังเดิม แต่ยังคงลักษณะเป็นเก๋งจีนไว้เช่นเดิม

สถานที่สำคัญที่สุดของพระราชวังเดิมก็คือ “ท้องพระโรงกรุงธนบุรี” ซึ่งจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกที่เห็นก็คือ “ท้องพระโรง” หรือ “วินิจฉัย” ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ลักษณะคล้ายศาลากว้างๆ โล่งๆ หลังคาประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ยกพื้นด้วยการก่ออิฐถือปูน เดิมนั้นคาดว่าเป็นพื้นไม้ ภายหลังมีการปรับปรุงมาใช้พื้นหินอ่อนแทน เนื่องจากมีความคงทนมากกว่า ท้องพระโรงแห่งนี้ใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง ให้ขุนนางต่างๆ เข้าเฝ้า และประกอบพระราชพิธีสำคัญในสมัยกรุงธนบุรี และปัจจุบัน กองทัพเรือก็ยังใช้เป็นสถานที่จัดงานและประกอบพิธีสำคัญต่างๆ
ศาลศีรษะปลาวาฬ
ส่วนที่สองเป็นส่วนราชมณเฑียร เรียกว่า “พระที่นั่งขวาง” เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ พื้นปูกระดาน เครื่องบนเหมือนท้องพระโรง ปัจจุบันใช้เป็นห้องรับรองบุคคลสำคัญ และใช้เป็นห้องประชุมในบางโอกาส

จะสังเกตเห็นว่าที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นไม่ได้โอ่อ่า หรือวิจิตรตระการตาเหมือนพระราชวังแห่งอื่น แต่มีการก่อสร้างอย่างธรรมดา และเน้นการใช้งาน ก็เนื่องจากในช่วงกรุงธนบุรีมีศึกสงครามอย่างต่อเนื่อง พระราชวังจึงใช้เป็นทั้งที่บรรทม และเป็นที่ทรงงานไปด้วย

พระราชวังเดิมนั้นมีความสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ และความงามด้านสถาปัตยกรรม นับว่าเป็นสถานที่อีกหนึ่งแห่งที่น่าจะพาเด็กๆ มาเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็ควรมาเช่นกัน อย่างที่ฉันบอกแล้วว่าต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้าก่อน ซึ่งหากว่าใครไม่สะดวก แต่อยากจะเข้ามาชมพระราชวังเดิม ก็สามารถมาได้ในวันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี ที่นี่จะเปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. โดยไม่ต้องทำจดหมายล่วงหน้า เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และนอกจากจะมาชมพระราชวังเดิมแล้ว ก็ยังได้มารำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอีกด้วย

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“พระราชวังเดิม” ตั้งอยู่ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพฯ ถ.อรุณอมรินทร์ เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00-11.30 น. และ 13.00-16.00 น. อนุญาตให้เข้าชมเป็นหมู่คณะ โดยทำจดหมายขออนุญาตล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และเสียค่าบำรุงโบราณสถาน สำหรับบุคคลทั่วไป 60 บาท นักเรียน/นักศึกษาในเครื่องแบบ 20 บาท ควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย และภายในอาคารทุกอาคารไม่อนุญาตให้บันทึกภาพและภาพเคลื่อนไหว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม โทร. 0-2475-4117, 0-2466-9355, 0-2472-7291
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น