xs
xsm
sm
md
lg

“เชพรอนฯ” หักหน้า “สผ.” ชิงยกเลิก ทั้งที่ “คชก.” เห็นชอบอีไอเอ (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านที่บ้านหน้าทับกำลังอธิบายฐานทรัพยากรทั้งบนบกและทะเลใน อ.ท่าศาลา
 
โดย...ทรงวุฒิ  พัฒแก้ว  สมาคมรักษ์ทะเลไทย
 
ชาวท่าศาลาเดินหน้าชูอ่าวทองคำต่อเนื่อง จนเชฟรอนฯ ยอมยกธงขาว หลังอีไอเอได้รับความเห็นชอบจาก คชก. อ้าง กว่า 5 ปีข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก เดินหน้าต่อไปไม่คุ้มทุน แต่ตรงข้ามกับ สผ.ยังยืนกระต่ายขาเดียวว่า พิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านดีแล้ว
 
จุดที่มีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือของบริษัทเชฟรอนฯ พืนที่ ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีการเช่าที่ดินเกือบ 400 ไร่รองรับสิ่งปลูกสร้างบนฝั่ง
 
ในการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐ หรือเอกชน จำเป็นต้องจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ หรือที่เรียกติดปากว่า EIA กรณีท่าเรือสนับสนุนฐานปฏิบัติการขุดเจาะและสำรวจในอ่าวไทยของบริษัทเชฟรอนฯ นั้นก็เข้าข่ายนี้ อีกทั้งยังเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ที่ต้องผ่านองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามมาตรา ๖๗ วรรค ๒
 
ด้วยขั้นตอนตามมาตรา ๖๗ วรรค ๒ นี้ เชฟรอนฯ เองต้องฝ่าด่านอีกมาก อย่างน้อยต้องผ่านให้องค์กรอิสระพิจารณาเห็นชอบอีก ๖๐ วัน จากนั้นต้องไปกรมเจ้าท่าฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานอนุญาตต่างๆ ซึ่งยังไม่รู้ว่าใช้เวลากี่วัน ต้องเจออะไรอีกบ้าง ท่ามกลางกระแสร้อนๆ ของการลุกฮือต่อต้านของภาคประชาชน ซึ่งแต่ละหน่วยงานภาคประชาชนดักรอเจออยู่แทบทั้งสิ้น ต่างฝ่ายจึงต่างหายใจรดต้นคอซึ่งกันและกัน ฝ่ายหนึ่งรักษาผลประโยชน์สูงสุดของบริษัท อีกฝ่ายต้องการปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด สื่อแทบทุกสำนักขยันนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์จึงถูกติดตามจากคนทั้งประเทศมาตลอด
 
พื้นที่การก่อสร้างท่าเที่ยบเรือเชฟรอนฯ เป็นบริเวณเดียวกับพื้นที่ประมงชายฝั่ง
 
หลังจากที่คณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการท่าเรือเชฟรอนฯ เมื่อวันที่ ๑๑ ก.ย.๕๕ ตามขั้นตอนเชฟรอนฯ ต้องส่งรายงานแก้ไขฉบับสมบูรณ์กลับไปยังเลขาธิการ สผ.เพื่ออนุมัติ และส่งเข้าขั้นตอนอื่นต่อไป ผ่านมาเกือบ ๓ เดือนเชฟรอนฯ ไม่ยอมส่งรายงานฉบับที่ คชก.ให้ความเห็นชอบ เพื่อให้เลขาธิการ สผ. อนุมัติ ทุกกระแสสังคมจึงจับจ้องไปที่เลขาธิการ สผ.และ เชฟรอนฯ เพราะเฝ้ารอข้อมูลรายงานฉบับจริงทั้งเล่มในรายงานอีไอเอ จนวันนี้ยังไม่มีใครได้เห็นฉบับจริงที่ผ่านการเห็นชอบแม้แต่คนเดียว เนื่องจากทาง สผ.อ้างมาตลอดว่า ต้องรอให้มีการอนุมัติก่อน
 
๓ เดือนที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของส่วนต่างๆ ในส่วนของชุมชนที่ท่าศาลามีการขึ้นสัญลักษณ์ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วหมู่บ้าน เปิดเวทีทำความเข้าใจกับพี่น้องในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงกว่า ๑๐๐ เวที มีการตรวจสอบขององค์กรอิสระ มีการลงพื้นที่จริงของนักข่าว อีกทั้งการรวมตัวของทีมนักวิชาการ ทีมศิลปิน นักพัฒนาเอกชน ท้องถิ่นในพื้นที่ ส่วนราชการ และภาคประชาชน ทุกอย่างดูลงตัว เห็นไปในทางเดียวกันคือ ไม่เอาท่าเรือเชฟรอนฯ อย่างมีพลัง ในส่วนของเชฟรอนฯ และบริษัทที่ปรึกษาก็เฝ้ามองปรากฏการณ์อย่างไม่กะพริบตา จนพบว่า ทุกภาคส่วนจะเห็นไปในทางเดียวกันคือ ท่าเรือเชฟรอนฯ ไม่ควรสร้างที่ท่าศาลา ไม่ควรสร้างที่อ่าวทองคำ
 
การทำประมงบริเวณอ่าวทองคำท่าศาลา
 
นอกจากกระบวนการของชุมชนที่มีจังหวะรุก สร้างพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่องแล้วยังได้เข้าพบ และจัดส่งข้อมูลไปยัง สผ.หลายครั้ง และครั้งสุดท้ายได้ขอเข้าพบเลขาธิการ สผ. ในการพบชุมชนได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการ กระบวนการที่บกพร่องของอีไอเอ และบริบทการเปลี่ยนแปลงไปของระบบนิเวศที่อ่าวทองคำ แต่เลขาธิการ สผ.ยังยืนกระต่ายขาเดียวว่า...
 
“พิจารณาข้อมูลรอบด้านดีแล้ว หากเกิดอะไรขึ้น ยอมรับผิดชอบเอง”
 
ประโยคนี้จึงเป็นวลีเด็ดแห่งปีที่เป็นความด่างพร้อยของ สผ. และเป็นประเด็นที่คาใจในการพิจารณาอีไอเอของ คชก.ไปอีกนาน เนื่องจากทางบริษัทเชฟรอนฯ ออกมายืนยันข้อมูลชุดเดียวกันที่ทางชุมชนเสนอไปยัง สผ.นั้นคือ ภายในเวลา ๕ ปี การเปลี่ยนแปลงไปของระบบนิเวศแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก
 
ผลผลิตส่วนหนึ่งที่ได้จากอ่าวทองคำท่าศาลา
 
จากเดิมที่เคยศึกษาไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ ปากน้ำกลายยังมีน้ำลึก ๑๕ เมตร เป็นพื้นดินทราย และดินเหนียว แต่ปัจจุบัน ปากน้ำกลายน้ำลึกไม่ถึง ๑๐ เมตร พื้นดินเป็นดินโคลนปนทราย หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า ดอน
 
การที่เชฟรอนฯ ยอมถอนโครงการที่ผ่านความเห็นชอบของ คชก.ออกมา การออกมายอมรับข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบ ๕ ปี จึงเป็นการตบหน้าเลขาธิการ สผ. และการทำงานของ คชก. ที่ถูกตั้งคำถามมาก่อนหน้านี้ เพราะ สผ.เป็นหน่วยงานราชการที่อนุมัติ และต้องฟังข้อมูลรอบด้าน เพราะเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ทาง สผ. ก็ไม่ได้พยายามอะไรมากนัก
 
โดยเฉพาะการพิจารณาให้ความเห็นในครั้งที่ ๗ แทบไม่มีประเด็นใดพิจารณาเลย ทั้งที่เลขาธิการ สผ.ก็เพิ่งย้ายมาใหม่ ผอ.สำนักฯ ก็ย้ายมาใหม่ ภารกิจแรกจึงเหมือนว่า มาเพื่ออนุมัติโครงการท่าเรือเชฟรอนฯ ด้วยซ้ำไป
 


 
การถอนตัว และประกาศยุติโครงการท่าเรือของเชฟรอนฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ ที่ต้องพยายามอย่างถึงที่สุด และต้องทำทุกวิถีทางที่ต้องให้โครงการผ่านให้ได้ ทางข้อมูลและชุดวิเคราะห์ที่ทางผู้บริหารของเชฟรอนฯ พิจารณาตัดสินใจ จึงเป็นชุดข้อมูลที่มีความหมาย และนัยสำคัญอย่างที่สุด ซึ่งมีอยู่หลายด้านจะนำมาเสนอในภายหลัง
 
การยกธงขาว และถอยไปตั้งหลักที่สงขลา และชลบุรีเหมือนเดิม ยอมสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก เพราะหลายสิ่งหลายอย่างได้ย้ายมาอยู่ที่นครศรีธรรมราชบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบ้านพัก สนามบินเฮลิปคอปเตอร์ ทั้งนี้ ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากที่สุดคือ หากเชฟรอนฯ ต้องการรวมศูนย์ที่ท่าศาลาเป็นหนึ่งเดียว หลังจากนี้ก็ใช่ว่าจะง่ายดายนัก หรือหากจะขยายโครงการ หรือให้โครงการต่อเนื่องอื่นๆ มารับลูกต่อ ท่ามกลางกระแสของมวลชนที่ต่อต้าน จุดนี้ปิดประตูตายได้เลย การเลือกถอยครั้งนี้ภาพของนายทุนจึงยังคงเหลือภาพลักษณ์ และความงดงามอยู่ไม่น้อย
 

 
แต่ผู้รับจ้าง ผู้ถือหางเชฟรอนฯ นักวิชาการที่จัดทำอีไอเอ รวมทั้งสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยังคงมีประเด็นต่อเนื่องอยู่บ้างพอสมควร โดยเฉพาะ สผ.ที่ต้องรีบทำเร่งด่วนคือ ออกหนังสือประกาศยกเลิกอีไอเอของเชฟรอนฯ อย่างเป็นทางการ หากปล่อยเวลาออกไป จนมีการทวงถามของประชาชน สผ.เองจะก็จะกลายเป็นเป้าต่อไปทันที
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น