ปัตตานี - สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสนทนามินิสันติวิธี เพื่อให้ประชาชนทุกคนร่วมรับรู้ และเล่าตามประสบการณ์จริงกับแนวทางสันติวิธี และวอนให้ทุกฝ่ายเริ่มทบทวน และหันมาใช้รูปแบบสันติวิธีกันบ้าง
วันนี้ (6 ธ.ค.) ที่ห้องประชุม B คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้มีการจัดสนทนาผ่านประสบการณ์สันติวิธีในรูปแบบมินิ โดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับคณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถร่วมรับรู้ และเล่าตามประสบการณ์จริงกับแนวทางสันติวิธี
โดยมีหลากลายมิติของการนำเสนอเรื่องราวแนวสันติวิธี โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางคนได้มีการนำเสนอในรูปของภาพถ่าย ซึ่งเอามาติดโชว์ภายในบริเวณงาน บางคนถ่ายถอดผ่านเสียงดนตรี ซึ่งมีการถ่ายทอดเป็นบทกวีทั้งภาษาไทย ภาษามลายูถิ่น การเขียนเป็นหนังสือภาพอนาคต จังหวัดชายแดนใต้ สร้างความเร้าใจให้แก่ผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมาก
น.ส.งามศุกร์ รัตนเสถียร ผู้ดำเนินงานจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้ได้จัดในรูปแบบนิมิ หรือขนาดย่อ แต่เนื้อหาก็ยังเข้มข้นเหมือนเดิม เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของบุคลากร โดยมีเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มนักศึกษา กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม แม้กระทั่งหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งได้มีตัวแทนของหน่วยงานความมั่นคงเข้าร่วมรับฟังในรูปแบบการเล่าผ่านประสบการณ์จริงที่เกี่ยวกับแนวสันติวิธี นอกจากนั้น ได้อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมกันสนทนาสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสันติวิธีมากขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา ผอ. ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้เราต้องเริ่มจากวันนี้ ถึงแม้จะไม่เห็นผลได้ทันที แต่ทุกคนก็เชื่อว่าแนวทางการใช้กำลังสู้กันและกันนั้นไม่มีวันจะสู่สันติภาพได้ จึงอยากให้ทุกฝ่ายเริ่มทบทวนและหันมาใช้รูปแบบสันติวิธีกันบ้าง เช่น การเจรจาพูดคุยกัน เป็นต้น
ส่วนในพื้นที่ยังคงใช้กฎหมาย พ.ร.ก.หรือพระราชบัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึกอยู่ เพราะคิดว่าเจ้าหน้าที่ควรจะมีการทบทวน จริงอยู่ที่เหตุความจำเป็นบางอย่างที่เจ้าหน้าที่ต้องการใช้ แต่ควรคำนึงถึงข้อดี และข้อเสียอันไหนมากกว่ากัน และยิ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขในภายภาคหน้าที่ยากต่อการเยียวยา