xs
xsm
sm
md
lg

สารกัมมันตรังสีกับสังคมไทย/บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส

ตั้งแต่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวที่บริษัท ชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซีส เอส เอ จำกัด (Schlumberger Overseas S.A Limited) ได้นำวัตถุกัมมันตรังสีไว้ในกลางใจเมืองสงขลา ทำให้สังคมได้ตื่นตัวในการตรวจสอบสิ่งที่เป็นอยู่ ในขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามของหน่วยงานราชการที่จะกลบข่าวสารดังกล่าว บอกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีการใช้อยู่ปกติทั่วๆ ไป ดาหน้ากันออกมาปกป้องบริษัทตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานที่อนุญาตอย่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ รวมไปถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทั้งๆ ที่บริษัทดังกล่าวกระทำผิดกฎหมายมากว่า 30 ปี ที่ไม่มีการปิดป้ายเตือนให้ประชาชนได้รับรู้ว่า สถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งเก็บสารกัมมันตรังสี รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายไปปฏิบัติการในทะเล ที่ต้องใช้รถบรรทุกขนย้ายไปย้ายมา ไม่มีหน่วยงานใดออกมารับผิดชอบต่อความผิดที่ทางบริษัทได้กระทำลงไป

ความพยายามที่จะกลบเกลื่อนให้เรื่องที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตผู้คน ให้ดูเป็นเรื่องปกติธรรมดา ช่างเป็นความโหดร้ายเลือดเย็นของผู้ที่เกี่ยวข้องยิ่งนัก เพราะเขาเหล่านั้นย่อมตระหนักดีว่า ในบริเวณใกล้เคียงรอบๆ สถานที่เก็บสารกัมมันตรังสีดังกล่าวนั้น ประกอบด้วย ชุมชนที่หนาแน่น (ชุมชนวัดตีนเมรุ) อยู่ไม่ห่างจากโรงเรียนมัธยม โรงเรียนอนุบาล ที่มีกุลบุตรกุลธิดาของคนสงขลาต้องใช้ชีวิตในบริเวณดังกล่าวไม่ต่ำกว่าหมื่นๆ คน และเป็นที่น่าตกใจ เมื่อสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติแถลงว่า ในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีสถานที่เก็บสารกัมมันตรังสีถึง 29 แห่ง และมีอยู่ 800 กว่าแห่งในประเทศ คำถามจึงมีว่า แต่ละแห่งอยู่ตรงไหน มีระบบจัดเก็บ/เคลื่อนย้ายอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ความพยายามที่จะกลบเกลื่อนข้อมูลของสารกัมมันตรังสี ว่าไม่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนจึงเป็นเรื่องเลวร้าย ขาดความรับผิดชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไม่น่าให้อภัย

ในรอบที่หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการขยายตัวในการขุดเจาะสำรวจ และผลิตก๊าซและน้ำมันในประเทศมากขึ้น ทำให้มีการนำสารกัมมันตรังสีที่มีอานุภาพสูงที่ใช้ประกอบในการระเบิดในขบวนการขุดเจาะมากยิ่งขึ้น การใช้ช่องว่างของพระราชบัญญัติพลังปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 ซึ่งล้าสมัย และยังคงสถานภาพบังคับอยู่โดยไม่มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้ประเทศไทยตกเป็นเป้าหมายของการนำเอาสารกัมมันตรังสี กากสารพิษเข้ามาเก็บไว้ในประเทศไทยจำนวนมาก สร้างความร่ำรวยให้แก่บริษัทธุรกิจเอกชนที่ทำมาหากินกับการนำเข้ากากสารพิษมาเก็บไว้ในบ้านเมืองเราจำนวนมาก โดยอาศัยความอ่อนแอของกฎหมาย และความเห็นแก่ตัวของนักธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลาน และบ้านเมือง

รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัช ชิตตระการ แห่งภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ขออาสาเข้าไปตรวจสอบสถานที่เก็บสารกัมมันตรังสีของบริษัท ชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซีส เอส เอ จำกัด (Schlumberger Overseas S.A Limited) ที่บ้านเลขที่ 30 ถนนไทรงาม กลางเมืองสงขลา แต่ท่านก็ถูกปฏิเสธไม่ให้นำเครื่องมือตรวจวัดสารกัมมันตรังสีเข้าไปในบริเวณดังกล่าว ย่อมเป็นข้อพิรุธที่สำคัญที่ทำให้ผู้คนสงสัยว่าใน 11 หลุมที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวของบริษัทนั้น มีการทำระบบจัดเก็บที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และไม่มีสารกัมมันตรังสีกระจายออกมารอบนอกในขั้นที่จะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนหรือไม่มากน้อยแค่ไหน

โดยปกติคนเราทั่วไปย่อมเคยชินกับสารรังสีโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เช่น รังสียูวีจากดวงอาทิตย์ที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ แต่ก็สามารถป้องกันได้ หรือรังสีที่ไม่ก่ออิออน (Non-ionizing radiation) หรือที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น คลื่นวิทยุ เรดาร์ IR UV ไมโครเวฟ แต่รังสีที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต และสุขภาพอนามัยของชีวิตผู้คนที่จะต้องได้รับการจัดเก็บ และเคลื่อนย้ายอย่างระมัดระวัง คือ รังสีชนิดก่ออิออน (Ionizing radiation) โดยตรง เช่น แอลฟา บีตา แกมมา เอ็กซ์ ก่อโดยอ้อม เช่น นิวตรอน ซึ่งในกระบวนการการขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซได้นำสารกัมมันตรังสีร้ายแรง เช่น แกมมา และรังสีเอ็กซ์มาใช้จำนวนมาก คนไทยรู้หรือไม่ว่าพวกคุณเก็บไว้ที่ไหน อย่างที่สงขลากว่าจะรู้ว่าสถานที่จัดเก็บว่าอยู่ติดกับรั้วบ้านก็ปิดเงียบกันมากว่า 30 ปี

ข้อเรียกร้องสำหรับเรื่องนี้อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบต่อชีวิต และสุขภาพอนามัยของประชาชน ให้ปลอดภัยจากสารกัมมันตรังสีที่ร้ายแรงเหล่านี้ได้อย่างไร ขอให้เร่งตรวจสอบว่าบริษัทต่างๆ ที่ได้รับการนำเข้า และจัดเก็บกากสารพิษ และสารกัมมันตภาพรังสีร้ายแรงต่างๆ นั้น ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่มากน้อยแค่ไหน อย่าให้เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นที่สงขลา ที่บริษัทไม่เคยปิดป้ายบอกผู้คนมาเลยตลอด 30 ปี แต่บรรดาผู้รับผิดชอบฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่างดาหน้ากันออกมาปัดความรับผิดชอบ หรือปกป้องบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสารอันตรายดังกล่าวกันเป็นพรวน เสมือนการเคาะกะลาแล้วมีฝูงสุนัขวิ่งตามหลังมาแย่งอาหารกันก็ไม่ผิด.

กำลังโหลดความคิดเห็น